โค้งสุดท้าย ก่อนหมดอายุความ ผ่านไปเกือบ 20 ปี…
มาถึงวันนี้ญาติผู้สูญเสีย และบุคคลที่ต่อสู้ ติดตามคดี มีความคิดเห็นอย่างไรต่อปลายทางที่ใกล้มาถึง “ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสสอบถามหนึ่งผู้ร่วมเส้นทางกับครอบครัวผู้สูญเสีย “อูเซ็ง ดอเลาะ” ทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดนราธิวาส มองการที่อัยการสูงสุดรับคำสั่งฟ้องเรียกได้ว่า “กระบวนการยุติธรรมไม่ได้ว่างเปล่า” แม้เป็นคนละส่วนกับญาติที่ลุกมาฟ้องคดีเองไปก่อนหน้านี้ รวมถึงกลุ่มผู้ต้องหาที่สำนวนของญาติมองหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา ไม่ได้มองไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ เพราะไม่มีข้อมูลว่าใครเป็นพลขับ หรือระดับปฏิบัติมีใครอยู่ในเหตุการณ์ขนย้ายผู้ชุมนุม
พร้อมระบุ ยังคงมีความหวังว่าจำเลยจะปรากฎตัวต่อศาลตามนัด เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และพิสูจน์ตัวเองเนื่องจากการสั่งว่าคดี“มีมูล”ยังไม่ใช่“คำตัดสิน”ว่าเป็นผู้กระทำความผิด เพียงแต่ศาลเชื่อว่าทั้ง 7 คน อาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด
ส่วนสำนวนที่ชะงักไปนานกว่า 19 ปี รับว่าต้องมองในหลายมุมว่า ณ วันเกิดเหตุพนักงานสอบสวนทำสำนวนครบตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ คือสำนวนไต่สวนการเสียชีวิต สำนวนการจะแจ้งข้อหาเจ้าหน้าที่ สำนวนในการกล่าวหากลุ่มแนวร่วมที่ร่วมชุมนุม ซึ่งในความเป็นจริงต้องทำ3 สำนวนในคราวเดียว แต่พนักงานสอบสวนทำแค่สำนวนการไต่สวนการเสียชีวิต
ทั้งนี้ หากคดีหมดอายุความโดยไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ คงต้องหารือกันว่าสามารถหาความรับผิดชอบจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในความล่าช้าได้บ้างหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มองว่ากระบวนการยุติธรรมในส่วนศาลจะไม่มีผลกระทบ เพราะผู้เสียหายมีความพอใจกับคำสั่งรับฟ้อง และมองว่าไม่กระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่
“แต่จำเลยทั้งหมดจะถูกสังคมกดดันไปตลอดแม้ในทางกฎหมายจะไม่สามารถเอาผิดได้ แต่คดีนี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ไปแล้ว”
นอกจากนี้“ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสสอบถามไปยัง แบมะ (นามสมมุติ)หนึ่งในญาติผู้สูญเสียพี่ชายไปจากเหตุการณ์นี้ สะท้อนว่าแม้อัยการจะสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ส่วนตัวก็ยังไม่มั่นใจในกระบวนการ และรู้สึกหมดหวัง ด้วยเห็นเส้นทางดำเนินการมาตลอด กระทั่งศาลจังหวัดนราธิวาสประทับรับฟ้อง ออกหมายจับ แต่ก็ยังไม่มีจำเลยคนใดติดต่อเข้ามา
หากนัดครั้งต่อไปวันที่ 15 ต.ค.นี้ ยังคงไม่เดินทางมา ตนและญาติส่วนใหญ่พูดคุยกันว่า ทุกคนไม่หมดหวังและจะเดินหน้าฟ้องร้องต่อ เพราะยังเหลืออีก 10 วัน ก่อนหมดอายุความ 20 ปี ในวันที่ 25 ต.ค.67 โดยตนและญาติคนอื่นๆจะเข้าไปพูดคุยกับหน่วยงาน และทนายความว่ายังมีแนวทางต่อสู้อย่างไรได้อีกบ้าง
เบื้องต้นทราบว่ามีหนึ่งช่องทางสามารถช่วยได้แม้คดีจะหมดอายุความ เพราะอาจหวังพึ่งกระบวนการยุติธรรมในประเทศไม่ได้แล้ว โดยจะรวบรวมหลักฐานทั้งหมดยื่นต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) หรือยื่นศาลโลก
“แม้อายุความคดีภายในประเทศจะหมด แต่ทุกคนก็จะยังคงเดินหน้าต่อเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับพี่น้อง ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ”
หากสุดท้ายไม่มีจำเลยคนใดเดินทางมาศาล แบมะ ระบุ ส่วนตัวคิดว่านี่คือการประวิงเวลา เหมือนกับการเตะฟุตบอล เพื่อให้หมดเวลาแข่งขัน เพราะหมดอายุความแล้วก็หมดเวลาในการดำเนินคดี แต่ขอบอกกับจำเลยทั้งหมดว่า แม้อายุความจะหมด ความรู้สึกของญาติผู้สูญเสีย มันคือการซ้ำเติมความรู้สึก เพราะหลังศาลประทับรับฟ้อง ทุกคนที่รอความยุติธรรมคิดว่าจำเลยที่ถูกออกหมายจับ ตำรวจจะจับตัวมาดำเนินคดี แต่ตอนนี้ยังไร้วี่แวว ถือเป็นการกระทำซ้ำเติมความรู้สึกสูญเสีย
“ขอพูดตรงๆว่า หากยังไม่มีใครมารับผิดชอบในคดีนี้ ก็เหมือนเหยียบย่ำความรู้สึกของญาติ และผู้คนในพื้นที่ ทุกวันนี้ชาว 3 จังหวัดชายแดนใต้ รอคอยความยุติธรรมมาโดยตลอด ไม่ได้มีแค่คดีตากใบอย่างเดียว ยังมีอีกหลายคดีที่พี่น้องประชาชนรอคอยความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรม หากคดีที่ใหญ่ขนาดนี้อย่างคดีตากใบ ยังไม่มีใครออกมารับผิดชอบประชาชนคงจะรู้สึกหมดหวัง และหมดศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม”
พร้อมทิ้งท้ายหากคดีจบลงที่หมดอายุความ จะส่งผลต่อสถานการณ์ในพื้นที่หรือคดีความรุนแรงอื่นหรือไม่ “แบมะ” มองประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัด น่าจะรู้สึกเหมือนกับตน หากญาติเราไม่ได้รับความยุติธรรมจากการไม่อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนของเจ้าหน้าที่ ก็ยากที่จะแก้ปัญหา
“หากคดีนี้ยังคงไม่เกิดความยุติธรรม เรื่องที่จะมีสันติภาพและสันติสุขในชายแดนใต้คงจะเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สำเร็จได้”
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน