นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ผู้นำสิงคโปร์ ประกาศเมื่อไม่นานมานี้ ว่าโครงการก่อกสร้างอาคารผู้โดยสารหมายเลข 5 ของท่าอากาศยานนานาชาติชางงี จะเริ่มในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 โดยมีเป้าหมายขยายการรองรับจุดหมายปลายทาง จากประมาณ 150 แห่งในปัจจุบัน เป็นมากกว่า 200 แห่ง ภายในช่วงกลางทศวรรษที่ 2030
หว่องกล่าวว่า สิงคโปร์ต้องยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง ท่ามกลางการขับเคี่ยวในภาคการขนส่งทางอากาศซึ่งเป็นไปอย่างสูสีมากขึ้น นานาประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และที่อยู่ในภูมิภาคแห่งอื่น ต่างกำลังเดินหน้าลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อขยายและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของท่าอากาศยาน ซึ่งจะช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือ และความน่าสนใจในด้านการจราจรทางอากาศ
ผู้นำสิงคโปร์กล่าวด้วยว่า มีบางประเทศเดินหน้าโครงการก่อสร้างสนามบินขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 100 ล้านคนต่อปี เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว สิงคโปร์จะอยู่เฉยไม่ได้เด็ดขาด มิเช่นนั้น ท่าอากาศยานนานาชาติชางงีจะตกอันดับ ไม่ทันการกับการที่สายการบินพาณิชย์หลายแห่งกลับมาขยายฝูงบิน และเพิ่มเส้นทางการบิน หรือรื้อฟื้นเส้นทางการบินที่เคยระงับไป เมื่อครั้งการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19
ขณะเดียวกัน หว่องมองว่า ท่าอากาศยานนานาชาติชางงีของสิงคโปร์มีแผนการเชื่อมต่อกับสนามบินแห่งอื่นที่ดีมากอยู่แล้ว หากสามารถเพิ่มจำนวนจุดหมายปลายทางได้ การมีนักเดินทางผ่านเข้ามาที่สิงคโปร์มากขึ้นย่อมช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และจะเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ของสิงคโปร์ ในฐานะศูนย์กลางการบินพาณิชย์ระดับภูมิภาค และระดับโลก
รัฐบาลสิงคโปร์กำหนดเป้าหมาย ให้อาคารผู้โดยสารหมายเลข 5 รองรับผู้โดยสารได้ราว 50 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับท่าอากาศยานนานาชาติชางงี ที่ปัจจุบันรับรองผู้โดยสารได้ปีละประมาณ 90 ล้านคน แน่นอนว่า หากสถิติผู้โดยสารเป็นไปตามเป้าหมาย จะเป็นการยกระดับประสิทธิภาพ ให้กับการเชื่อมต่อด้านการบิน การเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้โดยสาร นอกจากนั้น อาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ย่อมตามมาด้วยการสร้างงานใหม่ ที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับสิงคโปร์
ยิ่งไปกว่านั้น หว่องกล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกแห่งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของนานาประเทศอยู่ตลอด เพื่อการปรับปรุงและขยายขอบเขตให้กับข้อตกลงการขนส่งทางอากาศของสิงคโปร์ โดยนับตั้งแต่ต้นปีนี้ มีการดำเนินงานแล้วกับยูเครน ฟิลิปปินส์ และซาอุดีอาระเบีย
ทั้งนี้ ผู้นำสิงคโปร์เสนอแนวคิดเพื่อพัฒนาประเทศ ให้เป็นศูนย์กลางการบินระดับโลก รวมถึงการยกระดับด้านนวัตกรรม เพื่อลดเวลาการบินและการใช้เชื้อเพลิง และการทดสอบการใช้ยาหนะแบบไร้คนขับ บริหารจัดการสัมภาระภายในสนามบินชางงี นอกจากนี้ หว่องเสนอให้มีการจัดตั้ง “ห้องปฏิบัติการการบินนานาชาติ” เพื่อบูรณาการการบริหารจัดการงานภายในท่าอากาศยาน
ขณะที่รัฐบาลไทยมีแผนยกระดับอุตสาหกรรมการบินของประเทศ ให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางระดับโลกให้ได้เช่นกัน โดยกำหนดเป้าหมายภายใน 1 ทศวรรษ ผ่านแผนการดำเนินงานที่มีการประกาศแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งภายในปี 2568 ท่าอากาศยานทุกแห่งในไทยต้องรองรับผู้โดยสารได้รวมกัน 180 ล้านคน และเที่ยวบิน 1.2 ล้านเที่ยว และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการที่สนามบินทุกแห่งในไทยต้องรองรับผู้โดยสารได้รวมกัน 270 ล้านคน และเที่ยวบิน 2.1 ล้านเที่ยว ภายในปี 2580 และการก่อสร้างทางวิ่งหมายเลข 4 ของท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
แม้ไทยมีความได้เปรียบมากกว่าสิงคโปร์ในเรื่องของภูมิศาสตร์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศมาตลอด เนื่องจากได้รับความสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์มาตลอดเช่นกัน ว่าโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องสนามบินของไทย ยังคงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและยกระดับอีกมาก เพื่อให้ทันกับการขยายตัวของตลาดในภูมิภาค และการแข่งขันระหว่างสายการบินภายในประเทศเองด้วย
อนึ่ง ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศที่ได้รับสมญานามว่า “ดีทรอยต์แห่งตะวันออก” จากการเป็นฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ให้กับบริษัทผลิตรถยนต์หลายประเทศ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องซึ่งได้มาตรฐานสูง โดยเฉพาะที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ( อีอีซี ) ค่าแรงขั้นต่ำซึ่งแข่งขันกับนานาประเทศได้ และบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยจึงยังคงเชื่อมั่นว่า หากมีการพัฒนาอย่างจริงจัง ไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ การยกระดับอุตสาหกรรมการบินของประเทศ เมื่อทำได้จริง ไทยจะกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในเรื่องนี้ และจะมีบทบาทให้คู่แข่งต้องจับตาในอนาคต
หลังได้รับผลกระทบอย่างมากตลอดช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 การเดินทางด้วยเที่ยวบินพาณิชย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับมาอยู่บนเส้นทางของการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากธนาคารพัฒนาเอเชีย ( เอดีบี ) ระบุว่า สายการบินหลายแห่งในภูมิภาคฟื้นตัวแล้วมากกว่า 90% จนถึงช่วงสิ้นปี 2566
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบ “ยังคงเป็นความท้าทายอย่างมาก” เนื่องจากหลายปัจจัย รวมถึง การยังขาดแคลนบุคลากรและเครื่องบินที่เพียงพอ ความคาดหวังของผู้โดยสาร และรูปแบบของการเดินทางที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น ทำให้สายการบินและหน่วยงานทุกแห่งที่เกี่ยวข้อง ต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ และแผนงานธุรกิจใหม่
นอกจากนั้น หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้มาตรการปิดพรมแดนช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่ยาวนานกว่าภูมิภาคแห่งอื่น รายงานของเอดีบีเสนอแนะ ให้มีการเพิ่มการเชื่อมต่อภายในภูมิภาค โดยเฉพาะระหว่างเมืองรองของแต่ละประเทศ ความร่วมมือด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีอากาศยานที่เกี่ยวข้อง และการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, AFP