กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตระบบระบายอากาศตามแบบที่ลูกค้าในต่างประเทศกำหนด ซึ่งในบางครั้งบริษัทฯ ต้องผลิตสินค้าขึ้นมา 1 ตัว แล้วส่งไปทดสอบที่ต่างประเทศ โดยไม่ได้นำกลับเข้ามาในประเทศไทยอีก เนื่องจากเป็นการทดสอบแบบทำลายผลิตภัณฑ์ ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยบริษัทฯ ไม่อาจทราบว่า ทางผู้ทดสอบจะขายเป็นเศษซากได้เงินมาเท่าใด นั้น ตามมาตรา 70 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดเงื่อนไขการส่งสินค้าออกไปต่างประเทศให้แก่ตัวแทน ถือเป็นการขาย ดังนี้
“มาตรา 70 ตรี บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใด ส่งสินค้าออกไปต่างประเทศให้แก่ หรือตามคำสั่งของสำนักงานใหญ่ สาขา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน ตัวการ ตัวแทน นายจ้าง หรือลูกจ้าง ให้ถือว่าการที่ได้ส่งสินค้าไปนั้นเป็นการขายในประเทศไทยด้วย และให้ถือราคาสินค้าตามราคาตลาดในวันที่ส่งไปเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ส่งไปนั้น
ความในวรรคก่อนมิให้ใช้บังคับในกรณีที่สินค้านั้น
(1) เป็นของที่ส่งไปเป็นตัวอย่างหรือเพื่อการวิจัยโดยเฉพาะ
(2) เป็นของผ่านแดน
(3) เป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร แล้วส่งกลับออกไปให้ผู้ส่งเข้ามาภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่สินค้านั้นเข้ามาในราชอาณาจักร
(4) เป็นของที่ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรแล้วส่งกลับคืนเข้ามาให้ผู้ส่งในราชอาณาจักรภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร”
ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่ต้องรับรู้รายได้จากการส่งสินค้าตัวอย่าง เพื่อการวิจัยโดยเฉพาะ ไม่ว่าสินค้าตัวอย่าง ต้นแบบ จะมีมูลค่าเท่าใด ทั้งนี้ ตามมาตรา 70 ตรี วรรคสอง (1) แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ต้องรับรู้ว่าการส่งสินค้าตัวอย่าง ต้นแบบ เป็นรายได้ในรายงานภาษีขายและยื่นแบบ ภ.พ.30 โดยได้สิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอัตรา 0% ตามมาตรา 80/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ใช้มูลค่าของสินค้าตามราคา FOB ที่ใช้ในการเดินพิธีการทางศุลกากรในการส่งออกมารับรู้รายได้ โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นไปตามมาตรา 78 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ วันที่มีการออกใบขนสินค้าขาออก ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร.