เมื่อไม่นานมานี้ น.ส.ซารา ดูเตร์เต รองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ผู้นำคนปัจจุบัน “ไม่มีความเข้าใจการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดี”
ดูเตร์เต ซึ่งลาออกจากตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา วิจารณ์การที่มาร์กอส จูเนียร์ ยังไม่มีแผนการชัดเจน เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ และการสร้างความปลอดภัยทางอาหารให้แก่ชาวฟิลิปปินส์ โดยกล่าวว่า “จำไม่ได้” ว่าผู้นำฟิลิปปินส์เคยหารือเรื่องนี้กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสักครั้งหรือไม่ และกล่าวอีกว่า นับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ เมื่อกลางปี 2565 มาร์กอส จูเนียร์ “ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องใดเลย”
ด้านทำเนียบมาลากันยังยืนยัน ว่าผู้นำฟิลิปปินส์จะไม่ตอบสนอง หรือให้ความเห็นใดเกี่ยวกับการแถลงของรองประธานาธิบดีในครั้งนี้ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งตอกย้ำ “รอยร้าว” ระหว่างสองตระกูลการเมืองใหญ่ของฟิลิปปินส์
ทั้งนี้ ดูเตร์เต ซึ่งเป็นบุตรสาวของอดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อสองปีที่แล้ว คู่กับมาร์กอส จูเนียร์ บุตรชายของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้ล่วงลับ ในฐานะผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีและประธานาธิบดี ซึ่งการจับมือครั้งนั้นเรียกเสียงฮือฮา และเป็นที่จับตาอย่างมากสำหรับทุกฝ่าย โดยถึงขั้นมีการตั้งความหวังว่า “ฟิลิปปินส์จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น”
อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลของมาร์กอส จูเนียร์ เข้ามาบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ มีรายงานออกมาเป็นระยะ ว่านางลิซา อาราเนตา-มาร์กอส สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งและภริยาของผู้นำฟิลิปปินส์ “มีทัศนคติเชิงลบ” ต่อบิดาของดูเตร์เต โดยเคยกล่าวว่า อดีตผู้นำฟิลิปปินส์ “เหมือนคนเมายา”

กระนั้น มาร์กอส จูเนียร์ และดูเตร์เต ต่างยืนยันว่าไม่เคยมีความขัดแย้งหรือความบาดหมางส่วนตัวต่อกัน แม้มีกระแสข่าวออกมาตลอด ว่าทั้งคู่มีจุดยืนไม่ตรงกัน เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องทะเลจีนใต้ ที่มาร์กอสเอนเอียงไปทางสหรัฐมากกว่า
อนึ่ง ฟิลิปปินส์จะมีการเลือกตั้งกลางเทอม ในเดือน พ.ค. 2568 และรัฐบาลมาร์กอส จูเนียร์ จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ในปี 2571 และหลายฝ่ายกังวลว่า ความขัดแย้งซึ่งทวีความตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง สุ่มเสี่ยงที่จะเบี่ยงเบนความสนใจ และการให้ความสำคัญของรัฐบาล ในการเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายอีกหลายด้าน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
การแสดงออกของดูเตร์เตอาจเรียกได้ว่า “เป็นความพยายามสร้างเสริมภาพลักษณ์แข็งแกร่ง” และเป็นการส่งสัญญาณว่าเจ้าตัว “พร้อมเผชิญหน้ากับมาร์กอส จูเนียร์” และไม่น่าเป็นการสื่อสารกับชาวฟิลิปปินส์ทั่วไปอย่างจริงจังนัก แต่ในทางกลับกัน ท่าทีของเธอเป็นการส่งสัญญาณเจาะจงไปยังบุคคลบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เธอจะได้คะแนนสนับสนุนเพิ่มขึ้น จากกลุ่มประชาชนซึ่งชื่นชอบตระกูลดูเตร์เต และฝ่ายที่มีความทรงจำไม่ดีนักกับตระกูลมาร์กอส ตั้งแต่อดีต
ด้านมาร์กอส จูเนียร์ และพันธมิตรยังคงเดินเกมการเมืองแบบดั้งเดิม นั่นคือการจับมือเปลี่ยนขั้วการเมืองไปเรื่อย ท้ายที่สุดมีเพียงฝ่ายที่เจ็บมาก-เจ็บน้อย และได้ประโยชน์มาก-ได้ประโยชน์น้อย ต่างกับการเดิมเกมของตระกูลดูเตร์เต ซึ่งใช้ยุทธศาสตร์ที่รุนแรงกว่ามาก นั่นคือ “การเปิดเกมแลก” ว่าจะเป็นฝ่ายยอมแพ้ หรือสู้จนชนะ แม้ระหว่างทางต้องแลกกับอะไรหลายอย่าง
ดูเตร์เตได้รับความสนใจจากสังคมฟิลิปปินส์เป็นครั้งแรก เมื่อปี 2554 จากการสร้างความฮือฮา ด้วยการชกหน้าของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่น ซึ่งสั่งรื้อและทำลายชุมชนทรุดโทรมแห่งหนึ่ง ในเมืองดาเวา ทั้งที่เธอซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี ออกคำสั่งห้ามแล้ว

ขณะที่ผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2565 ปรากฏว่า ดูเตร์เตได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งในตำแหน่งรองประธานาธิบดี มากกว่าคะแนนเสียงของมาร์กอส จูเนียร์ ซึ่งลงสมัครในตำแหน่งประธานาธิบดี ราว 500,000 คะแนน ทั้งนี้ กฎหมายของฟิลิปปินส์แยกการลงคะแนน ระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี ทำให้มีการวิเคราะห์เช่นกันว่า การที่ดูเตร์เตตัดสินใจร่วมทีมกับมาร์กอส จูเนียร์ มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจของประชาชน และช่วยให้ทั้งคู่ได้รับชัยชนะ
จนถึงตอนนี้ ดูเตร์เตยังคงยืนยันว่าเธอ “ไม่เสียใจ” ที่ลงสมัครคู่กับมาร์กอส จูเนียร์ แต่ตอนนี้ทราบแล้วว่า อีกฝ่ายอาศัยเธอ “เป็นเครื่องมือทางการเมือง”
อีกด้านหนึ่ง ผลสำรวจความคิดเห็นชาวฟิลิปปินส์โดย “พัลส์ เอเชีย” พบว่า ในมุมมองของกลุ่มตัวอย่าง ดูเตร์เต “มีคะแนนการยอมรับในผลงาน” และ “คะแนนความเชื่อมั่น” ดีกว่ามาร์กอส จูเนียร์ แม้ตอนนี้เธอดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพียงรองประธานาธิบดีก็ตาม

กระนั้น ความขัดแย้งและการทะเลาะเบาะแว้ง ระหว่างผู้นำกับรองผู้นำประเทศของ ซึ่งแทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับประเทศแห่งใด ยอ่มส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความไว้วางใจของประชาชนในประเทศแห่งนั้น ที่มีต่อรัฐบาลของตัวเอง โดยในส่วนของฟิลิปปินส์นั้น กลุ่มคนชั้นกลางและรากหญ้าต่างยังคงเฝ้ารอความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อแก้ไขวิกฤติค่าครองชีพ
นอกจากนี้ การที่ตระกูลมาร์กอส และตระกูลดูเตร์เต ต่างมี “บาดแผล” ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ชาวฟิลิปปินส์ย่อมมองภาพลักษณ์ของสองตระกูลไปในทางที่ไม่ดีมากยิ่งขึ้น และการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลกลับถูกบดบังด้วยความขัดแย้ง และการสาดโคลนส่วนบุคคล ระหว่างประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดี
แม้อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์ ลดลงมาอยู่ที่ 1.9% เมื่อเดือนก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสถิติต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี แต่ราคาอาหารในประเทศโดยรวมยังคงสูง และกำลังซื้อของประชาชนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ต่อให้รัฐบาลลดภาษีนำเข้าข้าวจาก 35% ลงเหลือเพียง 15% เมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมาก็ตาม
ส่วน “ดัชนีความหิวโหยโดยไม่สมัครใจ” ซึ่งหมายถึง “ภาวะหิวโหนและไม่มีอาหารเพียงพอแก่การรัยประทาน อย่างน้อย 1 ครั้ง ภายในรอบระยะเวลาสามเดือนล่าสุด” ของครัวเรือฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้นจาก 17.6% เมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา เป็น 22.9% ในเดือนก.ย. ปีนี้ หรือคิดเป็นจำนวนประชากรราว 24 ล้านคนในฟิลิปปินส์ และ 48% ของครัวเรือนในฟิลิปปินส์ประเมินตัวเองว่า “มีฐานะยากจน”
ยิ่งไปกว่านั้น ฟิลิปปินส์เป็นประเทศซึ่งมีอัตราความหิวโหยสูงที่สุด ในบรรดากลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายงานของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) ระบุว่า ประชากรราว 51 ล้านคน จากประมาณ 115 ล้านคนทั้งประเทศ เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร “ระดับปานกลางหรือร้ายแรง” ระหว่างปี 2564-2566 และสถานการณ์มีแนวโน้มเลวร้ายกว่าเดิมในปีนี้
ตราบใดที่มาร์กอส จูเนียร์ และดูเตร์เต ยังไม่สามารถหาจุดยืนร่วมกัน เพื่อประนีประนอมและหาทางออก “ซึ่งเหมาะสมที่สุด” ให้กับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ ไม่เพียงแต่ภาพลักษณ์ของรัฐบาลจะสั่นคลอน แต่ความน่าเชื่อถือของทั้งคู่จะถดถอยไปมากน้อยไม่แพ้กัน ขณะที่ชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ “ต้องทำใจ” ว่านักการเมืองของประเทศ แทบไม่สามารถพึ่งพาอะไรได้ แม้แต่เรื่องปัญหาปากท้อง เพราะมัวแต่ขัดแย้งกันเอง เพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP