ผู้สันทัดกรณีหลายคนกล่าวว่า ตัวละครตัวนี้ ซึ่งมีดีไซน์ที่เรียบง่าย และ “ไม่ใช่แมว” แต่เป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กจากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ตามข้อมูลของบริษัท ซานริโอ้ ผู้ให้กำเนิดคิตตี้ สามารถทำเงินต่อไปได้อีกหลายปี
ผู้หญิงคนหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ สะสมสินค้าเฮลโลคิตตี้เป็นจำนวนมาก จนสามีของเธอสร้างห้องสีชมพูเพื่อเก็บสิ่งของเหล่านี้ไว้โดยเฉพาะ ซึ่งภายในมีของเล่นหลายพันชิ้น และสิ่งของอื่น ๆ มากมายที่มีรูปคิตตี้ ไม่ว่าจะเป็น แว่นกันแดด, เก้าอี้หมุน และเครื่องขายหมากฝรั่งที่ดูแปลกตา
อนึ่ง เฮลโลคิตตี้ มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นภาพประกอบบนกระเป๋าสตางค์ไวนิล หลังจากนั้นเป็นต้นมา เธอก็ปรากฏอยู่บนผลิตภัณฑ์หลายหมื่นชิ้น ทั้งแบบที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ตลอดจนสินค้าที่มาจากการร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ เช่น อาดิดาส, บาเลนเซียกา และแบรนด์ดังอื่น ๆ
กระแสความนิยมของเฮลโลคิตตี้ ไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วเบา เนื่องจากภาพยนต์เฮลโลคิตตี้ของบริษัท วอร์เนอร์ บราเธอร์ส อยู่ในขั้นตอนการผลิต อีกทั้งสวนสนุกธีมเฮลโลคิตตี้แห่งใหม่ ก็มีกำหนดเปิดให้บริการในปีหน้า บนเกาะไหหลำ ทางใต้สุดของจีน
นอกจากนี้ ราคาหุ้นของซาริโอ้ยังพุ่งขึ้นมากกว่า 7 เท่า ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของบริษัท สูงเกิน 1 ล้านล้านเยน (ราว 221,000 ล้านบาท) นับตั้งแต่นายโทโมคุนิ สึจิ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของซานริโอ้ รับช่วงต่อกิจการจากปู่ของเขา เมื่อปี 2563
เฮลโลคิตตี้ แตกต่างจากสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ของญี่ปุ่น เช่น โปเกมอน หรือดราก้อนบอล เนื่องจากตัวละครตัวนี้แทบไม่มีเรื่องราวอะไรเลย นอกจากเรื่องที่เธอมีชื่อเต็มว่า “คิตตี้ ไวท์”, มีน้องสาวฝาแฝดที่ชื่อ “มิมมี่”, มีแฟนหนุ่มที่ชื่อ “เดียร์ แดเนียล” และเลี้ยงแมว 1 ตัว รวมถึงเรื่องที่เธอชอบพายแอปเปิลของแม่ และใฝ่ฝันที่จะเป็นนักเปียโนหรือกวี
“สำหรับเรื่องราวส่วนที่เหลือนั้น ขึ้นอยู่กับจินตนาการของแฟนคลับ เช่นเดียวกับดีไซน์ที่เป็นนามธรรมและไม่หวือหวา ซึ่งแสดงให้ผู้คนจำนวนมากเห็นถึงความเรียบง่าย และความสง่างาม” นางคริสติน อาร์ ยาโนะ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาวาย กล่าว โดยเธอเรียกเฮลโลคิตตี้ว่าเป็น “ผลิตภัณฑ์บริสุทธิ์”
แม้ผู้สนับสนุนสิทธิสตรีบางคนกล่าวว่า การที่เฮลโลคิตตี้ไม่มีปาก เป็นสัญลักษณ์ของ “การลดทอนอำนาจ” แต่ยาโนะโต้แย้งว่า ลักษณะข้างต้นบ่งชี้ว่า เธอมีการแสดงความรู้สึกที่หลากหลายมากกว่า
ยิ่งไปกว่านั้น เฮลโลคิตตี้ ยังถือเป็นตัวอย่างของความน่ารัก และซอฟต์พาวเวอร์ของญี่ปุ่น รวมทั้งเป็นมาสคอตของแคมเปญส่งเสริมมารยาทนักท่องเที่ยวที่ดีในกรุงโตเกียวด้วย
ทั้งนี้ ซานริโอ้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวละครยอดนิยมอื่น ๆ อีกหลายร้อยตัว และในปัจจุบัน เฮลโลคิตตี้ คิดเป็น 30% ของกำไรของบริษัท ซึ่งลดลงจาก 75% เมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ถึงอย่างนั้น เฮลโลคิตตี้ ยังคงเป็นตัวละครโปรดในดวงใจของใครหลายคน.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP