ตลอดระยะเวลานานกว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา เกาหลีเหนือเดินหน้าพัฒนาโครงการอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ควบคู่ไปกับการพัฒนาขีปนาวุธและนิวเคลียร์ จนกระทั่งเริ่มผลิตโดรนได้เอง ตั้งแต่ช่วงประมาณ 30 ปีที่แล้ว และเปิดตัวโดรนผลิตเองออกสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก ในขบวนพาเหรดแสดงแสนยานุภาพทางทหาร เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี วันคล้ายวันเกิดของนายคิม อิล-ซุง ผู้ก่อตั้งประเทศ และประธานาธิบดีตลอดกาลของเกาหลีเหนือ เมื่อเดือนเม.ย. 2555
หลังจากนั้น โครงการพัฒนาโดรนของรัฐบาลเปียงยางคืบหน้าไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ลงพื้นที่สถาบันวิจัยโดรนแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาลัยป้องกันประเทศ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา เพื่อสังเกตการณ์การทดสอบโดรนรุ่นล่าสุดที่มีการพัฒนา โดยคิมใช้โอกาสนี้ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งนำโดรนรุ่นดังกล่าวเข้าประจำการในกองทัพ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการพัฒนาโดรนของเกาหลีเหนือก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องถึงเพียงนี้ คืออะไร ? คำตอบอยู่ที่กัมพูชา ข้อมูลข่าวกรองจากหลายแหล่งเป็นไปในทางเดียวกัน โดยบ่งชี้ไปที่นายพัก ชอล-รยอง พลเมืองเกาหลีเหนือ ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศแห่งนี้ ภายใต้ชื่อหรืออีกตัวตนหนึ่งว่า “ดักลาส เปียว” ( Douglas Piao ) พัก ชอล-รยอง มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับบริษัทที่มีชื่อว่า แซงพิล แอสโซซิเอชัน หรืออีกชื่อหนึ่งคือบริษัทกรีน ไพน์
แม้บริษัทแห่งดังกล่าวมีอยู่จริง และจดทะเบียนอย่างถูกต้อง แต่แหล่งข่าวกล่าวว่า บริษัทแห่งนี้คือตัวแทนของสำนักงานลาดตระเวนกลางแห่งเกาหลีเหนือ ซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีดำของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) และพัก ชอล-รยอง คือตัวแทนของแซงพิล แอสโซซิเอชัน ในกัมพูชา
ด้านสถานเอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำกรุงพนมเปญ แน่นอนว่าให้ความช่วยเหลือพัก ชอล-รยอง ด้วยการปลอมแปลงตัวตนให้เป็นนักการทูตของเกาหลีเหนือ เพื่อป้องกันไม่ให้ต้องถูกเนรเทศออกจากกัมพูชา แม้รัฐบาลพนมเปญพยายามตรวจสอบเรื่องนี้มาตลอด
ทั้งนี้ พัก ชอล-รยอง มีหน้าที่หลักในการจัดหาชิ้นส่วนสำคัญของโดรน จากตลาดในหลายภูมิภาคบนโลก โดยเป็นการซื้อขายผ่านแซงพิล แอสโซซิเอชัน ก่อนส่งกลับไปยังเกาหลีเหนือ ด้วยเหตุนี้ พัก ชอล-รยอง จึงถือเป็นชาวเกาหลีเหนือในต่างแดนอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากกับรัฐบาลเปียงยาง และจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครอง
พัฒนาการทางทหารของเกาหลีเหนือที่ก้าวหน้าเป็นลำดับ เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับเกาหลีเหนือที่คืบหน้าอย่างมาก ในบริบทของสงครามในยูเครน แม้จนถึงตอนนี้ รัฐบาลมอสโกและรัฐบาลเปียงยางยังไม่เคยยอมรับ ว่ามีความร่วมมือทางทหารกันในยูเครน แต่มีหลักฐานปรากฏออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นซากขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ซากจรวดต่อต้านอากาศยาน และภาพถ่ายจากดาวเทียมสอดแนม ที่เปิดเผยความเคลื่อนไหวของขบวนรถไฟขนส่งสินค้า ที่เดินทางจากเกาหลีเหนือไปยังรัสเซีย
ขณะที่ทุกฝ่ายจับตาไปยังกระแสข่าว เกี่ยวกับการที่เกาหลีเหนือส่งทหาร ซึ่งอาจมีจำนวนมากระหว่าง 10,000-12,000 นาย เดินทางไปยังรัสเซีย เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาลมอสโกในยูเครน ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลข่าวกรองของสหรัฐอ้างว่า ทหารเกาหลีเหนือและทหารยูเครนเริ่มปะทะกันแล้ว ในพื้นที่ชายแดนของภูมิภาคเคิร์สก์ ที่อยู่ทางตะวันตกของรัสเซีย และมีพรมแดนติดกับภาคตะวันออกของยูเครน
อย่างไรก็ตาม การที่โครงการพัฒนาโดรนของเกาหลีเหนือมีความคืบหน้าอย่างมาก แต่หลายฝ่ายกลับมองข้ามไป เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวล เนื่องจากอาวุธดังกล่าวกำลังเป็นสรรพกำลังสำคัญของทั้งรัสเซียและยูเครน และอาจเป็น “ตัวเปลี่ยนเกม” สำหรับสงครามครั้งนี้ โดยรัสเซียได้รับความสนับสนุนเรื่องโดรนจากอิหร่านเช่นกัน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2552 สหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) จัดตั้งคณะผู้สังเกตการณ์การบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ เพื่อตรวจสอบรัฐบาลเปียงยาง ให้อยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของยูเอ็นเอสซี ซึ่งต้องการกดดัน ให้เกาหลีเหนือยุติโครงการพัฒนาอาวุธและโครงการด้านอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม คณะทำงานสิ้นสุดวาระการปฏิบัติหน้าที่แล้ว เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2567 หลังรัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรของยูเอ็นเอสซี วีโต้หรือคัดค้าน การขยายวาระของทีมงานดังกล่าว ส่งผลให้การติดตามความเคลื่อนไหว และตรวจสอบการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของเกาหลีเหนือเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
แม้ต่อมา เกาหลีใต้ สหรัฐ และญี่ปุ่น ประกาศจัดตั้งคณะทำงาน สานต่อการทำงานของคณะผู้สังเกตการณ์ กลไกการตรวจสอบการใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ แต่การทำงานของคณะทำงานชุดนี้อาจไม่ได้รับความร่วมมืออย่างเพียงพอบนเวทีระหว่างประเทศ เนื่องจากไม่ได้ดำเนินการในนามของยูเอ็น แตกต่างจากคณะทำงานชุดก่อน ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากสหประชาชาติ กระนั้น การดำเนินงานของทีมงานน่าจะ “สะดวกมากขึ้น” เนื่องจากไม่มีจีนและรัสเซีย
จนถึงปัจจุบัน ยังไม่เป็นที่ชัดเจนมากนัก เกี่ยวกับสถานะของพัก ชอล-รยอง อย่างไรก็ตาม ในงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่กรุงเปียงยาง เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปี ข้อตกลงหยุดยิงในสงครามเกาหลี ซึ่งสำหรับเกาหลีเหนือถือเป็น “วันแห่งชัยชนะ” เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2566 มีการจัดแสดงโดรนรุ่นใหม่หลายรุ่น โดยพล.อ.เซอร์เก ชอยกู รมว.กลาโหมรัสเซียในเวลานั้น เดินทางไปร่วมชมด้วย
การที่รัฐบาลเปียงยางมีโดรนรุ่นใหม่ออกมาจัดแสดงในงานวันนั้น ยิ่งบ่งชี้ว่า โครงการพัฒนาที่เกี่ยวข้องยังคงดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง และพัก ชอล-รยอง ยังคงเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลัง และจัดการทุกอย่างด้วยวิธีการที่ลบเลี่ยงมาตรการตรวจสอบ และการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ
จริงอยู่ที่ทุกประเทศบนโลก “มีความชอบธรรม” ที่จะดำเนินโครงการพัฒนาและสะสมอาวุธ “เพื่อเป็นการป้องปราม” โดยไม่รุกรานใครก่อน ตราบใดที่ทุกกลไกที่เกี่ยวข้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
ฉันใดฉันนั้น หากความพยายามพัฒนาดังกล่าวไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการฝักใฝ่ของรัฐในเรื่องอาวุธเป็นหลัก โดยไม่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของประชาชนในระดับที่เท่ากัน แต่ยกเว้นให้เฉพาะกับกลุ่มคนที่เป็นประโยชน์กับโครงการพัฒนาอาวุธเท่านั้น
นานาประเทศจึงย่อมมีสิทธิที่จะตั้งคำถาม และสหประชาชาติซึ่งเป็นองค์กรเสาหลักของประชาคมโลก ย่อมมีความชอบธรรมที่จะตรวจสอบ และบังคับใช้มาตรการเพื่อยับยั้งการกระทำที่ไม่สมควรเหล่านั้น.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP