ฟุตบอลอาเซียนคัพ 2024 จะแข่งกันวันอาทิตย์นี้แล้วนะ
โปรแกรมของทีมชาติไทย รอบแรก กลุ่ม A
วันที่ 8 ธ.ค.67 เวลาไทย 20.00 น. พบ ติมอร์เลสเต (เยือน ที่ฮังเดย์ สเตเดียม-เวียดนาม), วันที่ 14 ธ.ค.67 เวลา 20.00 น. พบ มาเลเซีย(ราชมังคลากีฬาสถาน), วันที่ 17 ธ.ค.67 เวลา 19.30 น. พบ สิงคโปร์ (สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์), วันที่ 20 ธ.ค.67 เวลา 20.00 น. พบ กัมพูชา (ราชมังคลากีฬาสถาน)
วันที่ 26-27 ธ.ค.67 รอบรองฯ เลกแรก, วันที่ 29-30 ธ.ค.67 รอบรองฯ เลก 2, วันที่ 2/5 ม.ค. รอบชิงชนะเลิศ
ในบ้านเราเตะที่ราชมังคลากีฬาสถาน ส่วนถ่ายทอดสด ดิจิตัลทีวี ช่อง 32, AIS PLAY และ ยูทูบ : BG SPORTS
ก่อนถึงวันแข่ง มาอ่านเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเป็นการโหมโรง
ช้างศึกเจ้าพ่อบอลอาเซียนคัพ
ไม่เจ้าพ่อได้ไง จัดมา 14 ครั้ง ไทยได้แชมป์มากสุด 7 ครั้ง หรือครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือ 7 ครั้งไปแบ่งกัน สิงคโปร์ 4, เวียดนาม 2, มาเลเซีย 1
ไทยเป็นแชมป์ครั้งแรก ปี 1996 ยุค “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์ และเป็นแชมป์ 2 สมัยหลัง จากการคุมทีมโดย มาโน โพลกิง
ยังไม่เคยมีทีมใด ได้แชมป์ 3 สมัยติด ถ้าเราทำสำเร็จ ก็จะเป็นทีมแรกที่สร้างประวัติศาสตร์
มาตรฐานสูงที่สุด
ทีมชาติไทย ได้แชมป์มากสุด 7 สมัย และเป็นทีมที่เข้ารอบชิงชนะเลิศมากถึง 10 ครั้ง
ใน 14 ครั้ง จอดรอบแรกแค่ 2 ครั้ง ปี 2004 กับ 2010 และจาก 12 ครั้งที่ผ่านรอบแรก สามารถไปต่อถึงรอบชิงได้ถึง 10 ครั้ง มีแค่ 2 ครั้งที่หยุดที่รอบรองฯ
เวียดนาม ก็ตกรอบแรกแค่ 2 ครั้งปี 2004 กับ 2012
แต่จาก 12 ครั้งที่ผ่านรอบแรก ดาวทอง จอดรอบรองฯ ถึง 8 ครั้ง ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ 4 ครั้ง ก่อนได้ 2 แชมป์ เรียกว่าตัดทีละครึ่ง
อินโดนีเซีย เป็นทีมจอมอกหัก พวกเขาเข้าชิงชนะเลิศ ได้ถึง 6 ครั้ง แต่แพ้รวด โดยเฉพาะ ช่วงปี 2000-2004 เข้าชิง 3 ครั้งติด แพ้ 3 ครั้งติด
จาก 6 ครั้งที่ อินโดฯ เข้าชิง มาเจอ ช้างศึก ยัดเยียดความปราชัยให้ถึง 4 ครั้ง
แสบจริงๆ
ดาวซัลโว
14 ครั้งที่ผ่านมา มี 8 ครั้ง จาก 5 นักเตะไทย ได้ดาวซัลโว
1996 “อัลเฟรด” เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์ 7 ประตู, 2000 วรวุธ ศรีมะฆะ 5 ประตู(ร่วมกับ เกนดุต โดนี ของอินโดนีเซีย), 2008 ธีรศิลป์ แดงดา 4 ประตู(ร่วมกับ บูดี ซูดาร์โซโน อินโดนีเซีย และ อากู คาสเมียร์ สิงคโปร์)
2012 ธีรศิลป์ แดงดา 5 ประตู, 2016 ธีรศิลป์ แดงดา 6 ประตู, 2018 อดิศักดิ์ ไกรษร 8 ประตู
2020 ชนาธิป สรงกระสินธ์-ธีรศิลป์ แดงดา 4 ประตู (ร่วมกับ ซาฟาวี ราซิด มาเลเซีย, เบียนเวนิโด มารานอน ฟิลิปปินส์) และ 2022 ธีรศิลป์ แดงดา 6 ประตู (ร่วมกับ เหงียน เตียน ลินห์ เวียดนาม)
ธีรศิลป์ เป็นนักเตะที่ได้ดาวซัลโวมากที่สุด 5 สมัย และถึงตอนนี้ เป็นคนที่ยิงมากที่สุด 25 ประตู ชนิดที่ยากจะมีคนทาบ
ส่วนการยิงประตูมากสุดต่อ 1 ทัวร์นาเมนท์ คือ นอห์ อลัม ชาห์ ของสิงคโปร์ ยิงเมื่อปี 2007 รวม 10 ประตู
นักเตะยอดเยี่ยม
นักเตะไทยได้ไป 4 คน จาก 6 ครั้ง
ปี 2000 “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, ปี 2002 เทิดศักดิ์ ใจมั่น, ปี 2014/2016/2020 ชนาธิป สรงกระสินธ์ 3 ครั้ง และ 2022 ธีราทร บุญมาทัน
แน่นอน เจ้าเจ เป็นคนที่ได้ MVP มากที่สุดคือ 3 ครั้ง
มีแค่ 2 ครั้ง ที่นักเตะยอดเยี่ยม กับดาวซัลโว เป็นคนเดียวกัน คือ นอห์ อลัม ชาห์ ปี 2007 และ ชนาธิป ปี 2020(ได้ดาวซัลโวร่วม)
กุนซือสู่แชมป์
ราดอจโก อฟราโมวิช ชาวเซอร์เบีย คือคนที่พาทีมได้แชมป์อาเซียนมากสุด 3 ครั้ง กับสิงคโปร์ ปี 2004, 2007 และ 2012
ของไทย มีมากสุด 2 สมัย ปีเตอร์ วิธ(2000, 2002), เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง(2014, 2016) และ มาโน โพลกิง (2020, 2022)
โค้ชต่างชาติ ที่เป็นชาวเอเชีย มีแค่คนเดียวที่ได้แชมป์ คือ ปาร์คฮังซอ กับ เวียดนาม ปี 2018
ไม่รู้ว่า มาซาทาดะ อิชิอิ จะเป็นคนที่ 2 หรือไม่
สถิติจิปาถะ
สารัช อยู่เย็น เป็นนักเตะที่ได้แชมป์มากสุด 4 สมัย
คนที่ยิงมากสุดใน 1 แมตช์ คือ นอห์อลัมชาห์ เขาซัดจนเท้าบวม 7 ประตู เกมสิงคโปร์ ชนะ ลาว 11-0 เมื่อปี 2007 ก็ปีที่บันทึกสถิติ ยิงต่อ 1 ทัวร์นาเมนท์มากสุด ที่ 10 ประตูนั่นแหละ มาจากนัดเดียวซะ 7 ลูกแล้ว
“โจ้ 5 หลา” ทำสถิติแฮตทริกเร็วสุด เวลาแค่ 4 นาที เมื่อปี 2004 ที่ ไทย ชนะ ติมอร์เลสเต 8-0 โจ้ยิงนาทีที่ 63, 65 และ 67
จาก 11 ชาติ มี 4 ชาติ ที่ยังไม่เคยผ่านรอบแบ่งกลุ่ม คือ บรูไน, กัมพูชา, ติมอร์ และ ลาว
ส่วน สถิติของไทย ที่เล่นมา 14 ครั้ง เตะ 85 แมตช์ ชนะ 54, เสมอ 21, แพ้ 10, ยิงได้ 195, เสีย 68 ประตู.
***วุฒินล***