อาจเป็นเรื่องใหม่ที่เริ่มมีการพูดถึง เนื่องจากมีหลายมุมมองเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ให้ความสำคัญเรื่อง “สิทธิ” มากขึ้น แม้กระทั่งในกลุ่มเด็กๆ ที่สามารถเรียนรู้ ซึมซับถึงสิทธิของตัวเองได้จากการปฏิบัติและเลี้ยงดูภายในครอบครัว โดยเฉพาะ “สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย” ประเด็นที่ไม่ค่อยออกมาพูดกันอย่างเปิดเผยมากนักในสังคมไทย แต่ข่าวที่ปรากฏช่วงนี้สะท้อนให้เห็นการตื่นตัวที่มากขึ้น และถือเป็นสัญญาณดี…

โอกาสใกล้ถึงวันที่ 20 พ.ย.ของทุกปีที่ถือเป็น วันสิทธิเด็กสากล จึงมองว่าหลังจากนี้การถกเถียงและสถานการณ์การปฏิบัติเกี่ยวกับสิทธิเด็กจะได้รับความสนใจและผลักดันสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยชัดเจนขึ้น  

จากข้อมูล กรมการปกครอง (ณ วันที่ 31 ธ.ค.2563) ทั่วประเทศมีประชากรเด็กและเยาวชน จำนวน 20,786,770 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.41 ของประชากรทั้งหมด ในจำนวนนี้ เป็นเด็กชาย 10,662,736 คน เด็กหญิง 10,124,034 คน

เฉพาะกลุ่มเด็ก (อายุ 0-17 ปี ) มีจำนวน 13,606,547 เป็นชาย 6,993,824 คน หญิง 6,612,723 คน ส่วนกลุ่มเยาวชน (อายุ 18-25 ปี) มีจำนวน 7,180,223 คน เป็นชาย 3,668,912 คน หญิง 3,511,311 คน

สำหรับประเทศไทยมีการบังคับใช้ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Right of the Child) ซึ่งเป็นข้อตกลงสำคัญของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อให้คำมั่นว่าจะคุ้มครองสิทธิเด็กมาตั้งแต่ปี 2535 ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 4 ด้าน รวม 54 ข้อ ที่ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องได้รับโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเป็นเด็กพิการ เด็กที่ถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน เด็กที่ถูกบังคับใช้แรงงาน หรือเด็กที่ถูกทารุณกรรมเองก็ตาม ได้แก่

สิทธิในการมีชีวิต เด็กทุกคนไม่ว่าจะมีร่างกายสมบูรณ์หรือไม่ แต่เมื่อเกิดมาแล้วต้องได้รับการจดทะเบียนการเกิด มีสิทธิที่จะมีชื่อ สัญญาณและการเลี้ยงดูที่ดี มีหลักประกันความปลอดภัยที่จะอยู่รอด

สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง เด็กทุกคนมีสิทธิได้รับปกป้องคุ้มครองจากการทารุณกรรมทุกรูปแบบ ทั้งการทารุณกรรมทางร่างกาย จิตใจ รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศกับเด็ก และเด็กมีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากการแสวงหาประโยชน์ทุกรูปแบบ แม้จะไม่มีการกล่างไว้อย่างเจาะจงตามอนุสัญญานี้ 

สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา เด็กทุกคนจะได้รับสิทธิอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับพัฒนาการทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม รวมถึงความต้องการ ศักยภาพ พรสวรรค์และความสุขของเด็ก เช่น การได้รับข้อมูล ข่าวสาร มีอิสระในการคิดและการแสดงออก เหมาะสมตามวัย 

สิทธิในการมีส่วนร่วม เด็กทุกคนต้องได้รับสิทธิในการให้ความสำคัญกับการแสดงออกในด้านต่างๆทั้งความคิด การกระทำ สิทธิในการปกป้องเรียกร้องผลกระทบที่เกิดกับความเป็นอยู่ ด้วยการอนุญาตให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเองและสามารถแสดงความคิดเห็นได้อิสระโดยไม่กระทบสิทธิของผู้อื่น

ผ่านมากว่า 30 ปี หลังการบังคับใช้หลักการสิทธิเด็กตามมาตรฐานสากล แม้ในทางปฏิบัติอาจยังไม่สามารถตอบโจทย์พื้นฐานได้สมบูรณ์ ครอบคลุมทั้งหมด แต่อย่างน้อยการมีเป้าหมายและกติกาอาจเป็นเครื่องค้ำยันไม่ให้มีการปฏิบัติที่ “ถดถอย” 

โดยเฉพาะการเคารพสิทธิที่เริ่มได้จากจุดเล็กๆ ในครอบครัว หลักสูตรการสอนอาจเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการเรียนรู้ของเด็ก แต่การปฏิบัติในครอบครัวให้เป็นตัวอย่าง ไม่ว่าจะสิทธิทางความคิด หรือการกระทำ น่าจะทำให้หลักการนี้ “ทรงพลัง” และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น.   

ทีมข่าวอาชญากรรมรายงาน

[email protected]