เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในปีที่ 8 ครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม “Design Up+Rising : ออกแบบพร้อมบวก+” รวบรวมกว่า 350+ โปรแกรมที่พร้อมบวกทุกความครีเอทีฟไว้ด้วยกัน ใน 7 ย่านหลัก ทั่วกรุงเทพฯ โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงหลัก วันที่ 8-16 กุมภาพันธ์ ณ ย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย, เยาวราช-ทรงวาด, ปากคลองตลาด และพื้นที่อื่น ๆ และวันที่ 15-23 กุมภาพันธ์ ณ ย่านพระนคร, บางลำพู-ข้าวสารและพื้นที่อื่น ๆ โดยอัปเดตเพิ่มเติมรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์

นอกจากการจัดแสดง นิทรรศการ การเสวนา เวิร์กช็อป ทัวร์ตลาดงานดีไซน์ หรือ กิจกรรมสร้างบรรยากาศให้แก่เมือง ฯลฯ ชวนร่วมขับเคลื่อนเมือง และสร้างสรรค์ทุกความเป็นไปได้แบบไร้ขีดจำกัด พร้อมรับมือกับทุกความท้าทายในมุมบวก รวมถึงยกระดับคุณค่าให้งานออกแบบผ่านสายตาเหล่าดีไซเนอร์ พาร์ตเนอร์ เครือข่ายผู้คน ฯลฯ สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความมีชีวิตชีวาให้แก่เมือง เติมเต็มศักยภาพสังคมและเมืองให้พร้อมรับมือกับโลกที่ท้าทายต่อไปในอนาคต
พาล่วงหน้าส่องตัวอย่าง ชวนปล่อยพลังบวก+ ผ่านงานดีไซน์และกิจกรรมที่จะมีขึ้น อาทิ ชิ้น[ต่อ]ชิ้น กิจกรรมเวิร์กช็อปที่เชิญชวนทุกคนมาร่วมสร้างสรรค์ความเป็นไปได้ที่ไม่รู้จบ ผ่านการเล่น การเรียนรู้ และการทดลองประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ของใช้ในชีวิตประจำวันหรืองานศิลปะในนิทรรศการ ตั้งแต่โคมไฟ เก้าอี้ โซฟา งานประติมากรรม ไปจนถึงงานสถาปัตยกรรม ร่วมค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการออกแบบที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ โดยจัดขึ้นที่ The Corner House Bangkok (ชัยพัฒนศิลป์) ถนนเจริญกรุง

Blossom Pak Khlong: Immersive Flower Installation “ดอกไม้” สื่อกลางที่ช่วยสะท้อนภาพความงดงามของธรรมชาติผ่านรูปร่าง รูปทรง และสีสันอันหลากหลาย ด้วยเหตุนี้ ดอกไม้จึงมักถูกหยิบยกมาเป็นตัวแทนของความหมายและถ้อยความต่าง ๆ ที่แฝงเร้นอยู่ภายใน ทั้งความรักความคํานึง ความอาลัย ฯลฯ แนวคิดดังกล่าวไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงศิลปะและชั้นเชิงของการสื่อความหมายด้วย “ภาษาดอกไม้” ทว่ายังช่วยเผยให้เห็นมิติที่ซับซ้อนของความรู้สึกและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่หลากหลายในเวลาเดียวกัน สถานที่สวนไปรสนียาคาร

ขณะที่ Spice Road นิทรรศการที่ผูกและเชื่อมโยงเรื่องราว รวมไปถึงเอกลักษณ์ของย่านทรงวาด ผ่านกลิ่นหอมของเครื่องเทศ โดยใช้รูปแบบของการนำวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อยู่คู่กับการค้าขายในย่านทรงวาด มาเรียบเรียงเป็นโครงข่าย ที่ห่อหุ้มเครื่องเทศในรูปแบบต่าง ๆ เข้ากับพื้นที่ภายในอาคารโกดังดั้งเดิมในย่าน ซึ่งลักษณะของการจัดวางดังกล่าวนี้จะเป็นตัวกำหนดเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่ ที่เชื้อเชิญให้ผู้ชมเกิดประสบการณ์ในการก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างกลิ่นของเครื่องเทศกับคนไทย ณ โกดังเจริญวัฒนา สัมพันธวงศ์
ตะลักเกี้ยะ ตลาดของชาวตลาดน้อยและผองเพื่อนที่นำเสนอทั้งวัฒนธรรมของพื้นที่ ความร่วมมือร่วมใจของชุมชน และยังเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างน่ารัก ลงตัว สถานที่จัดงานพิพิธตลาดน้อย ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งจากโปรแกรมร่วมบอกเล่า Design Up+Rising พลังแห่งการออกแบบ.