เมื่อไม่นานมานี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า ว่าจะพยายามติดต่อไปยังนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนืออีกครั้ง เพื่อโน้มน้าวให้อีกฝ่ายกลับมาเจรจา ในประเด็นเกี่ยวกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์
ทั้งนี้ ทรัมป์และคิม เคยพบกันมาแล้ว 3 ครั้ง ที่สิงคโปร์ เวียดนาม และเขตปลอดทหารบนคาบสมุทรเกาหลี ระหว่างปี 2561-2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ทรัมป์กำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐสมัยแรก โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐและผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ พบหน้าหารือกัน และทั้งคู่ยังอยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งผู้นำ

ผู้นำสหรัฐกล่าวว่า พยายามประสานงานกับจีนและรัสเซีย เพื่อการบรรลุข้อตกลงให้เกาหลีเหนือยุติโครงการนิวเคลียร์ “แต่ไม่ประสบความสำเร็จ” เนื่องจาก “ผลการเลือกตั้งครั้งต่อมาที่ย่ำแย่” หมายถึงความพ่ายแพ้ของตัวเองที่มีต่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อปี 2563
ขณะที่ยังไม่มีความเห็นอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าวของทรัมป์ แต่รัฐบาลโซลวิจารณ์ การที่นายพีต เฮกเซธ รมว.กลาโหมสหรัฐ เรียกเกาหลีเหนือว่า “มหาอำนาจนิวเคลียร์” ว่า “เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้” และเรียกร้องความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลวอชิงตันของทรัมป์ ในการทำให้เกาหลีเหนือเป็นประเทศที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์
ด้านเกาหลีเหนือยังแทบไม่แสดงท่าทีอย่างเป็นทางการมากนัก เกี่ยวกับการกลับมารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐเป็นสมัยที่สองของทรัมป์ แต่ภายในเวลาไม่นานหลังผู้นำสหรัฐกล่าวถึงเกาหลีเหนือ สำนักข่าวกลางเกาหลี ( เคซีเอ็นเอ ) กระบอกเสียงของรัฐบาลเปียงยาง รายงานว่า คิมลงพื้นที่แห่งหนึ่งในประเทศ เพื่อสังเกตการณ์การทดสอบประสิทธิภาพของขีปนาวุธนำวิถีทางยุทธศาสตร์ จากทะเลสู่พื้นผิว
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของเกาหลีเหนือ นับเป็นการทดสอบขีปนาวุธครั้งแรก ตั้งแต่ทรัมป์รับตำแหน่งผู้นำสหรัฐ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ขีปนาวุธสามารถเดินทางได้เป็นระยะทางไกลประมาณ 1,500 กิโลเมตร เคลื่อนตัวแบบวงรีและเลขแปด ( 8 ) ขณะเดียวกัน รายงานของเคซีเอ็นเอเน้นย้ำว่า การทดสอบขีปนาวุธดังกล่าว “ไม่คุกคามความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้าน”
หลังจากนั้น ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือลงพื้นที่ โรงงานผลิตวัตถุดิบนิวเคลียร์แห่งหนึ่งในประเทศ โดยมีการกล่าวว่า ปีนี้ “คือปีที่สำคัญ” สำหรับการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ให้กองกำลังนิวเคลียร์ของรัฐบาลเปียงยาง และการเผชิญหน้ากับ “ประเทศที่เป็นศัตรูและไม่เป็นมิตร” เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในปีนี้ โดยไม่ได้พาดพิงอย่างเป็นทางการถึงสหรัฐ
การที่ทรัมป์แต่งตั้งเจ้าหน้าที่การทูตหลายคน ซึ่งมีบทบาทในการจัดการประชุมร่วมกับผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ ในสมัยรัฐบาลชุดแรกของตัวเอง ให้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งในรัฐบาลสมัยที่สอง น่าจะสะท้อนความคิดของทรัมป์ที่กำลังมีต่อรัฐบาลเปียงยางได้ชัดเจนมากขึ้นระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะวเลา 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทรัมป์ไม่ได้อยู่ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐ เกาหลีเหนือ “เปลี่ยนไปมาก” และมีความเป็นไปได้ว่า รัฐบาลเปียงยางต้องการแสดงออกให้ทรัมป์ได้ประจักษ์ ในช่วงแรกของการกลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐเป็นสมัยที่สอง ว่าเกาหลีเหนือ ณ เวลานี้ “ไม่ใช่เกาหลีเหนือเมื่อปี 2560”
คิมอยู่ในสถานะที่มั่นคงและแข็งแกร่งขึ้น การดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลเปียงยางเปลี่ยนไปอย่างมาก ตามรูปการณ์ของภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การเจรจากับเกาหลีเหนือรอบนี้ “ไม่มีทางเหมือนในอดีต”
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ “มีเพื่อนใหม่แล้ว” นั่นคือ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ซึ่งทั้งสองประเทศลงนามร่วมกัน ยกระดับความร่วมมือสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม โดยเฉพาะด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ ระหว่างที่ปูตินเยือนกรุงเปียงยางอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนมิ.ย. 2567 ทำให้เกาหลีเหนือไม่ได้อยู่ในสถานะที่ “โดดเดี่ยวเดียวดายขนาดนั้น”
ในช่วงแรกของการดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐสมัยแรกของทรัมป์ เมื่อปี 2560 เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธแทบทุกเดือน สร้างความไม่พอใจให้กับทรัมป์ ที่เรียกคิมว่า “มนุษย์จรวดที่กำลังทำภารกิจฆ่าตัวตาย” และรัฐบาลเปียงยางตอบโต้ ด้วยการเรียกทรัมป์ว่า “ตาแก่สติเลอะเลือน” ตามด้วยคำข่มขู่จะทำสงครามนิวเคลียร์ต่อกัน
แต่เมื่อได้พบหน้ากันครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ที่สิงคโปร์ เมื่อปี 2561 ซึ่งถือเป็นประวัติศาตร์ของโลกด้วย ท่าทีของทรัมป์ที่มีต่อคิมเริ่มเปลี่ยนไป ในเวลานั้น ทรัมป์เสนอยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดที่ต่อเกาหลีเหนือ แลกกับการที่รัฐบาลเปียงยางต้องปลดอาวุธนิวเคลียร์ “อย่างสมบูรณ์แบบ” ทรัมป์เชื่อว่า “ความสนิทสนม” ที่ก่อตัวขึ้นกับคิม น่าจะช่วยให้การบรรลุข้อตกลงไม่ยากจนเกินไป

การพบหารือครั้งนั้นนำไปสู่การพบกันครั้งที่สอง ระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐกับผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ณ กรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม เมื่อปี 2562 ท่ามกลางรายงานว่า คิมยื่นข้อแลกเปลี่ยน ให้สหรัฐยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด แลกกับการที่เกาหลีเหนือจะระเบิดทำลายเตาปฏิกรณ์ภายในนิวเคลียร์ “ยองบยอน” อีกครั้ง
การหารือครั้งนั้นจบแบบ “สูญเปล่าอย่างแท้จริง” มีอะไรบางอย่างที่ทำให้ต่างฝ่ายต่างพบกันครึ่งทางไม่ได้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีเหนือถึงขั้นตั้งโต๊ะแถลงข่าวด้วยตัวเอง ท่ามกลางกองทัพสื่อมวลชน ที่รวมถึงสื่อจากตะวันตก โดยประกาศชัดเจนว่า “โอกาสแบบนี้อาจไม่มีทางเกิดขึ้นอีก” และนับจากนั้นเป็นต้นมา สถานการณ์เกี่ยวกับเกาหลีเหนือ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายยิ่งคาดการณ์ทิศทางได้ยากขึ้นไปอีก.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP