สวัสดีจ้า “ขาสั้น คอซอง” สัปดาห์นี้ ขอนำเสนอ  “ต้นไผ่”  ธีรชัย  รัตนาวิวัฒน์พงศ์ ชั้นม.3 โรงเรียนราษฎร์วิทยา (ตี่มิ้ง) จ.ตากหรือ หนึ่งในเยาวชนไทยที่ชื่นชอบและมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ สืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะการแสดงโขน ทั้งยังได้รับการคัดเลือกเป็นเยาวชนผู้ได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม “วัฒนคุณาธร”  ปี 2567  โดยเข้ารับโล่รางวัลจากน.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม อีกด้วย  

“ต้นไผ่” เล่าว่า สนใจการแสดงโขนมาตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนราษฎร์วิทยา (ตี่มิ้ง) เพราะได้เห็นรุ่นพี่ที่แสดงโขนรามเกียรติ์โดยแสดงเป็นหนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา รู้สึกประทับใจมาก อยากแสดงโขนได้บ้าง จึงสมัครเข้าชุมนุมนาฏศิลป์ไทยของโรงเรียนที่มีคุณครูนพดล ดิษสวน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้สอนด้านนาฏศิลป์ไทยให้นักเรียนที่เป็นสมาชิกชุมนุมนาฏศิลป์ไทย โรงเรียนราษฎร์วิทยา(ตี่มิ้ง)  โดยปัจจุบันมีนักเรียนชั้นม.1 – 6 เป็นสมาชิกชุมนุมนาฏศิลป์ไทยทั้งหมด 40 คน โดยนายวัชรินทร์ ใจยะสิทธิ์ ผอ.โรงเรียน และนายสมศักดิ์ คะวีรัตน์ ผู้จัดการโรงเรียนราษฎร์วิทยา (ตี่มิ้ง) ได้ให้คำแนะนำและการสนับสนุนกิจกรรมของชุมนุมนาฏศิลป์ไทยอย่างเต็มที่ 

“ต้นไผ่” ยอมรับว่า ช่วงแรกของการหัดเล่นโขนยากมาก จะต้องปรับตัวเยอะทั้งการฝึกหัดท่าทางและจัดระเบียบร่างกายให้สวยงาม เช่น ดัดมือ ถีบเหลี่ยม กดเอว ดัดหลัง ดัดตัว และฝึกการทรงตัว เป็นต้น ใช้เวลาฝึกอยู่ราว 1 ปี ร่างกายจึงเคยชินและปรับตัวได้ โดยได้แสดงโขนเป็นตัวพระเป็นหลัก ทั้งรับบทเป็นพระราม พระลักษณ์ พระอินทร์ พระนารายณ์ ส่วนตัวลิง เคยแสดงบ้างแต่ไม่บ่อยนัก โดยสมาชิกชุมนุมนาฏศิลป์ไทยได้แสดงนาฏศิลป์ไทยและโขนในงานโรงเรียน เช่น งานวันภาษาไทย กิจกรรมของจังหวัด หน่วยงานทางราชการต่าง ๆ และกระทรวงวัฒนธรรม รวมทั้งได้ไปเผยแพร่การแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด อินทราพยุหะ ผ่านทางรายการคุณพระช่วย เมื่อปี 2566 โดยได้แสดงเป็นตัวละครพระอินทร์ ที่เป็นอินทรชิตแปลงกายมาเพื่อสร้างกลลวงแก่กองทัพพระลักษณ์  

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาชุมนุมนาฏศิลป์ไทย โรงเรียนราษฎร์วิทยา (ตี่มิ้ง) ยังได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขัน นาฏศิลป์ไทยอนุรักษ์ ระดับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตาก ในการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 71  ปีการศึกษา 2566 และคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันรำวงมาตรฐาน ระดับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตาก ในการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 72 ปีการศึกษา 2567 ด้วย  

“ชอบแสดงโขนเพราะเป็นการแสดงนาฏศิลป์ไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและสะท้อนความเป็นไทย แต่ละตัวแสดงมีลักษณะท่าทางเฉพาะตัวทั้งพระ นาง ยักษ์ ลิง มีท่ารำอ่อนช้อย สวยงามและเครื่องแต่งกายมีความวิจิตร งดงาม ดีใจที่ได้มีส่วนร่วมอนุรักษ์ สืบสานศิลปะการแสดงของไทยแขนงนี้ให้คงอยู่ต่อไป ” ต้นไผ่ บอกด้วยความภูมิใจ   

นับได้ว่า “ต้นไผ่” และสมาชิกชุมนุมนาฏศิลป์ไทย โรงเรียนราษฎร์วิทยา (ตี่มิ้ง) เป็นอีกกลุ่มเยาวชนที่มีใจมุ่งมั่นอนุรักษ์สืบสานศิลปะการแสดงโขนของไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป