ซีเรียกำลังอยู่บนเส้นทางของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ นับตั้งแต่กลุ่มฮายัต ตาห์รีร์-อัล-ชาม ( เอชทีเอส ) ซึ่งเป็นกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ตลอดช่วงสงครามกลางเมืองซึ่งยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2554 สามารถโค่นอำนาจอัสซาดได้สำเร็จ เมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว ปิดฉาก “ระบอบอัสซาด” ที่ยาวนาน 54 ปี ตั้งแต่ยุคประธานาธิบดีฮาเฟซ อัล-อัสซาด
หากเปรียบเป็นสี ในโลกของสงครามไม่มีใครขาวหรือดำไปเสียทั้งหมด ต่างฝ่ายต่างอยู่ในสถานะ “สีเทา” เอชทีเอสเองก็เช่นกัน แม้ตอนนี้สามารถจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว และมีนายอาเหม็ด อัล-ชารา ผู้นำเอชทีเอส ทำหน้าที่รักษาการประธานาธิบดี แต่ยังคงต้องจับตากันอีกยาวไกล ว่ารัฐบาลชั่วคราวซีเรียจะมีทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายอย่างไรกันแน่

อย่างไรก็ดี หนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลซีเรียภายใต้การนำของเอชทีเอสแสดงออกชัดเจนที่สุด คือความพยายามเปิดประตูให้กับประชาคมระหว่างประเทศ และการมีส่วนร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง เพื่อพยายามลบล้างภาพลักษณ์ของรัฐบาลซีเรียในอดีต ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับบางประเทศอย่างจำเพาะเจาะจง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เกาหลีเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือทางทหาร
ความสัมพันธ์ในรูปแบบดังกล่าวระหว่างซีเรียกับเกาหลีเหนือ มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้รัฐบาลเปียงยางก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศพันธมิตรแถวหน้าของซีเรีย เทียบเท่ารัสเซียและอิหร่าน เกาหลีเหนือประจำการทหารจำนวนหนึ่งไว้ในซีเรีย ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 โดยเคยเข้าร่วมรบในสงครามยมคิปปูร์ เมื่อปี 2516
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญหลายแขนงของเกาหลีเหนือ มีบทบาทสำคัญกับการสนับสนุนโครงการพัฒนาอาวุธของซีเรีย และโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของซีเรีย จนกระทั่งกองทัพอิสราเอลปฏิบัติการโจมตีทางอากาศข้ามพรมแดน เข้ามาทำลายศูนย์นิวเคลียร์ของซีเรีย ในเมืองเดอีร์-เอส-ซอร์ ทางตะวันออกของประเทศ เมื่อปี 2550
ทั้งนี้ ในช่วงที่ซีเรียทำสงครามหลายครั้งในฐานะหนึ่งในพันธมิตรของกลุ่มอาหรับ เกาหลีเหนือมีส่วนร่วมด้วยการมอบความสนับสนุนเป็นนักบินทหาร อีกทั้งยังมีการฝึกฝนทางยุทธวิธีให้แก่นักบินทหาของซีเรีย ในการต่อสู้กับอิสราเอลด้วย และยังมีโครงการร่วมพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์อีกมากมาย ตลอดยุคทศวรรษที่ 1980

นอกเหนือจากความสัมพันธ์กับซีเรียที่เน้นหนักไปทางทหาร เกาหลีเหนือยังคงมีความร่วมมือที่แนบแน่นกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์และอิหร่าน ซึ่งยิ่งเป็นการขยับขยายและเพิ่มบทบาทของเกาหลีเหนือในตะวันออกกลางอย่างเงียบเชียบ ผ่านการแทรกซึมและการมอบความสนับสนุนทางทหาร
ยิ่งไปกว่านั้น รายงานหลายกระแสระบุว่า เกาหลีเหนือมอบความสนับสนุน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาอาวุธเคมีของซีเรียในยุครัฐบาลอัสซาดรุ่นลูก รวมถึงรายงานของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) เมื่อปี 2561 ระบุเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน ยิ่งทำให้มีการจับตาอย่างใกล้ชิดมาตลอด ว่ารัฐบาลเปียงยางมีความเกี่ยวข้องกับสงครามกลางเมืองในซีเรีย ด้วยการสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล แม้ขอบเขตของบทบาทยังคงไม่ชัดเจนมากนักก็ตาม
ทั้งนี้ทั้งนั้น กระแสข่าวและการวิเคราะห์เกี่ยวกับบทบาททางทหารของเกาหลีเหนือที่มีต่อซีเรีย เป็นที่พูดถึงมาตลอดช่วงเวลาของการเกิดสงครามกลางเมืองในซีเรีย แม้ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับความสนับสนุนเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลและการวิเคราะห์จากสถาบันสหรัฐ-เกาหลี ให้ความเห็นว่า ยังไม่อาจปฏิเสธหรือตัดความสงสัยไปได้ว่า เกาหลีเหนือและซีเรียไม่มีความเกี่ยวข้องกันแล้วจริง
เนื่องจากประวัติศาสตร์ทางทหารที่เผยให้เห็นการมีเยื่อใยต่อกันมายาวนาน ซึ่งรวมถึงการที่รัฐบาลเปียงยางยังคงส่งมอบความช่วยเหลือทางทหารให้แก่ซีเรียอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น จรวดต่อต้านรถถัง ปืนไรเฟิล ปืนใหญ่อัตตาจร และยานยนต์หุ้มเกราะทางทหาร และการส่งทหารหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ร่วมสู้รบในสมรภูมิ เคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารซีเรีย

แต่นอกจากนั้น ข้อมูลจากหลายกระแสระบุว่า เกาหลีเหนือมีบทบาทสำคัญกับโครงการจัดหาสารตั้งต้นของอาวุธเคมีให้แก่รัฐบาลซีเรียในยุคอัสซาด จากหลักฐานเกี่ยวกับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างบริษัทความร่วมมือการค้าการพัฒนาเหมืองเกาหลี – KOMID หรือ โคมิด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานส่งออกด้านอาวุธของเกาหลีเหนือ กับศูนย์ศึกษาและวิจัยวิทยาศาสตร์ซีเรีย – SSRC หรือ เอสเอสอาร์ซี ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยเกี่ยวกับอาวุธเคมีของซีเรียด้วย
แม้ทั้งสองประเทศยืนการปฏิเสธมาตลอด อย่างไรก็ตาม การที่เกาหลีเหนือส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ซีเรีย เป็นส่วนหนึ่งของกรอบความร่วมมือระหว่าง โคมิด กับ เอสเอสอาร์ซี เช่นกัน ขณะที่ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการพัฒนาอาวุธเคมีของซีเรียที่ยังคงเกิดขึ้น ทำให้มีการสันนิษฐานจากหลายฝ่าย ว่ารัฐบาลเปียงยางยังคงมอบความสนับสนุนให้แก่โครงการพัฒนาอาวุธเคมีของซีเรียผ่านช่องทางอื่น ที่ไม่ใช่การส่งมอบโดยตรง
อนึ่ง นายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ เคยกล่าวแสดงความสนับสนุนรัฐบาลซีเรีย เมื่อปี 2555 ซึ่งเป็นช่วงต้นของสงครามกลางเมืองซีเรีย ต่อมาในเดือนก.ย. 2558 รัฐบาลซีเรียแสดงความรำลึกถึงนายคิมอิล-ซุง ผู้ก่อตั้งประเทศและประธานาธิบดีตลอดกาลของเกาหลีเหนือ ด้วยการตั้งชื่อสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในกรุงดามัสกัส ตามชื่อของอดีตผู้นำเกาหลีเหนือผู้ล่วงลับ

นับตั้งแต่เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับซีเรีย เกาหลีเหนือยังคงสงวนท่าทีไม่ให้ความเห็นอย่างเป็นทางการ ยิ่งทำให้เกิดเครื่องหมายคำถาม ต่อความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ว่าจะเป็นไปในทิศทางใดต่อไป การที่รัฐบาลอัสซาดมีความร่วมมือและความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือต่อเนื่องและยาวนานหลายทศวรรษ ไม่ใช่เรื่องผิดในทางพฤตินัย แต่มีหลายอย่างที่ในทางนิตินัยไม่ถือว่าเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ หรือมีความคลุมเครือ เนื่องจากเกาหลีเหนือเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรของยูเอ็นในหลายเรื่องมานานแล้ว
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นหนึ่งในการบ้านชิ้นสำคัญที่รัฐบาลซีเรียชุดปัจจุบันต้องนำไปขบคิดในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป เพื่อเป็นการสร้างเสริมภาพลักษณ์ที่ดี และเป็นหลักประกันให้กับตัวเองด้วยว่า ซีเรียจะไม่ย้อนกลับไปอยู่ในวังวนของความสัมพันธ์แบบเดิมอีก.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP