ไม่ว่าเราจะเรียกจุดจบของโลกว่า วันสิ้นโลก วันโลกาวินาศ วันแห่งคำพิพากษา หรืออื่นใดก็ตามแต่ โลกจะไปถึงวันนั้นอย่างแน่นอน เพียงแต่ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจะเป็นวันไหน เมื่อใด

กระนั้น ก็มีผู้แสดงความคิดเห็นหรือทำนายทายทักถึงวันสิ้นโลกทั้งแบบที่อ้างอิงหลักการและไม่มีหลักการเป็นจำนวนมาก รวมถึง เซอร์ไอแซก นิวตัน นักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ นักดาราศาสตร์ นักปรัชญาธรรมชาติและนักเทววิทยา ชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 เลยไปจนถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาเสียชีวิต

นักคณิตศาสตร์ในตำนานได้เขียนจดหมายขึ้นมาฉบับหนึ่งในปีค.ศ. 1704 เปิดเผยปีที่เขาคำนวณว่าโลกของเราจะถึงจุดสิ้นสุด นิวตันซึ่งเข้าสู่ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ณ เวลานั้น ตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับจุดจบของโลก โดยใช้แนวคิดที่อ้างอิงตามข้อความในพระคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งกล่าวถึงการเริ่มต้นใหม่ของโลกหลังจากทุกอย่างในโลกเดิมจบสิ้นลง

นิวตันระบุว่า โลกจะพบจุดจบด้วยสาเหตุหลายประการ โดยมีสงครามและโลกระบาดเป็นสาเหตุหลัก รวมถึง “ความพินาศของอีกหลายชาติที่ชั่วร้าย” ภายในปีค.ศ. 2060 นับเป็นเวลา 1,260 ปี หลังจากการก่อตั้งจักรวรรดิโรมันอันยิ่งใหญ่ตามที่ระบุไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิล

หลังจากนั้นจะเป็นการกลับมาของพระเยซูคริสต์และนักบุญเพื่อสร้างสันติภาพอันยาวนานถึง 1,000 ปีบนโลก 

ศาสตราจารย์สตีเฟน ดี. สโนเบเลนแห่งมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ เมืองแฮลิแฟกซ์ สหราชอาณาจักรวิเคราะห์ว่า นิวตันได้ข้อสรุปดังกล่าวโดยอาศัยตัวเลขวันที่ต่าง ๆ ที่ปรากฏในส่วนของพระธรรมดาเนียลในพระคัมภีร์ไบเบิล 

จดหมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวการทำนายวันสิ้นโลกโดยไอแซก นิวตัน

ในจดหมายอายุ 320 ปีที่นิวตันเขียนไว้นั้น มีข้อความหนึ่งระบุว่า “มันอาจไปถึงจุดจบลงช้ากว่า (ที่คาดไว้) แต่ฉันหาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมมันจะไปถึงจุดจบเร็วกว่านั้น ที่ฉันพูดแบบนี้ ไม่ใช่เพื่อต้องการยืนยันว่าจุดจบ (ของโลก) จะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่เพื่อยุติการคาดเดาอย่างหุนหันพลันแล่นของกลุ่มนักเพ้อฝันที่มักทำนายระบุวันสิ้นโลกบ่อยครั้ง ซึ่งการทำเช่นนั้นได้ทำให้คำทำนายอันศักดิ์สิทธิ์เสื่อมเสียลงไปทุกครั้งที่คำทำนายของพวกเขาไม่ได้เกิดขึ้นจริง”

สโนเบเลน ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงทฤษฎีของนิวตันว่า ทฤษฎีนี้จะนำไปสู่ยุคใหม่แห่งมนุษยชาติ

แม้ว่านิวตันมักถูกมองว่าเป็นผู้ก่อตั้งวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ แต่ศาสตราจารย์สโนเบเลนอธิบายว่า เขาไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ แต่เป็น “นักปรัชญาที่ศึกษาธรรมชาติ” มากกว่า

สโนเบเลนเคยอธิบายไว้บนเว็บไซต์ isaac-newton.org ตั้งแต่ปีค.ศ. 2003 ว่า สำหรับนิวตันแล้ว ไม่มีการแบ่งแยกใด ๆ ระหว่างวิทยาศาสตร์และศาสนาที่ไม่อาจก้าวข้ามได้ ตลอดชีวิตที่ยาวนานของเขา นิวตันทุ่มเทอย่างหนักเพื่อค้นหาสัจธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าจะเป็นในธรรมชาติหรือในพระคัมภีร์

ปัจจุบัน ผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชมจดหมายทำนายวันสิ้นโลกที่โด่งดังของนิวตันได้ที่มหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งกรุงเยรูซาเล็ม ประเทศอิสราเอล

ที่มา : ladbible.com

เครดิตภาพ : Jerusalem’s Hebrew University, en.wikipedia.org/wiki/Isaac_Newton