ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลทหารเมียนมานำเสนอแผนการเลือกตั้งในปี 2568 ต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยเผยแพร่ผลการสำรวจสำมะโนประชากร เพื่อจัดทำรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และประกาศในสื่อของรัฐว่า ทางการกำลังดำเนินการเพื่อทำให้แน่ใจว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ “มีเสถียรภาพ”
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ถือเป็นการประกาศความตั้งใจที่จริงจังที่สุดของรัฐบาลทหารเมียนมา ในการจัดการเลือกตั้ง นับตั้งคณะรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของนางออง ซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ทว่ามันเกิดขึ้นท่ามกลางสงครามกลางเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งกองทัพเมียนมาสูญเสียพื้นที่อย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ
นักวิเคราะห์หลายคน ฝ่ายกบฏ และแหล่งข่าวทางการทูต ระบุว่า กองกำลังหลายกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาและการเลือกตั้ง นั่นจึงทำให้ความตึงเครียดจึงสูงขึ้นก่อนถึงการลงคะแนนเสียง ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างผลักดันการควบคุมดินแดน
แม้รัฐบาลทหารเมียนมายังไม่ได้ประกาศวันเลือกตั้ง แต่จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งแค่ประมาณครึ่งประเทศ กลุ่มฝ่ายค้านหลายสิบกลุ่มถูกแบน และมีเพียงพรรคการเมืองสนับสนุนกองทัพที่ผ่านการตรวจสอบล่วงหน้าเท่านั้น การเลือกตั้งครั้งนี้จึงถูกนักวิจารณ์เย้ยหยันว่าเป็น “การหลอกลวง”
อนึ่ง รายงานสำมะโนประชากรที่เผยแพร่เมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา เผยให้เห็นว่า รัฐบาลทหารเมียนมาสามารถสำรวจสำมะโนครัวภาคพื้นดินอย่างเต็มรูปแบบได้เพียง 145 เมือง จากทั้งหมด 330 เมืองของประเทศ ซึ่งขณะนี้ ผู้นำรัฐบาลทหารวางแผนที่จะจัดการเลือกตั้งในเขตเมือง 160-170 แห่ง ในช่วงปลายปีนี้
ด้านแหล่งข่าวหนึ่งที่ทราบถึงการหารือในกรุงเนปิดอว์ ระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาจะพยายามรักษาเสถียรภาพในพื้นที่เหล่านี้ ก่อนถึงการเลือกตั้ง ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนกล่าวเสริมว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงไปสู่ระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน “อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
ทั้งนี้ รัฐบาลแห่งชาติ (เอ็นยูจี) หรือรัฐบาลเงา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่เหลือของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจี และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารกลุ่มอื่น ร่วมกันจัดทำแผน 12 ประการ เพื่อคัดค้านการเลือกตั้ง โดยองค์ประกอบสำคัญคือ การไม่อนุญาตให้รัฐบาลทหารเมียนมาจัดการเลือกตั้งในภูมิภาคที่กองกำลังต่อต้านรัฐบาลควบคุมอยู่ รวมถึงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น ขัดขวางคณะกรรมการการเลือกตั้ง และให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ
แหล่งข่าวทางการทูต 2 รายที่ทราบถึงสถานการณ์ในเมียนมา และนักวิเคราะห์ 3 คน ระบุว่า แนวโน้มของความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น ยังคงคุกคามการเลือกตั้งในเมียนมา เนื่องจากฝ่ายต่อต้านติดอาวุธ เตรียมบ่อนทำลายความพยายามของรัฐบาลทหาร ในการสร้างความชอบธรรมผ่านการลงคะแนนเสียง อีกทั้งการเลือกตั้งครั้งนี้ก็มีความเสี่ยงสูงที่เกิดการนองเลือด หากกองกำลังปฏิวัติตัดสินใจโจมตีหน่วยเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่การเลือกตั้ง และผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง
ในการประชุมที่มาเลเซีย เมื่อช่วงกลางเดือนม.ค. ที่ผ่านมา สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กล่าวว่า แผนจัดการเลือกตั้งไม่ควรเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในตอนนี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมา เริ่มการเจรจาและยุติการสู้รบโดยทันที.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP