ในช่วงนี้ หลายๆ คนคงจะเห็นกระแสความสนใจเรื่องการทาน “โพรไบโอติก และ พรีไบโอติก” ว่าเป็นจุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกาย แต่ก็ยังคงสงสัยกันมิใช่น้อย ว่าเจ้าโพรไบโอติก และพรีไบโอติกนี้ แตกต่างกันอย่างไร วันนี้ “Healthy Clean” ขอพาไปไขสงสัยกัน

โดย นพ.นิธิวัฒน์ ศรีกาญจนวัชร อายุรแพทย์ ประจำศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ได้เผยข้อมูลว่า… “สำหรับ โพรไบโอติก (Probiotic) คือ จุลินทรีย์มีชีวิตที่มีประโยชน์ต่อร่างกายโดยเฉพาะสุขภาพลำไส้ เมื่อลำไส้มีสมดุลจุลินทรีย์ที่ดี จะส่งผลให้สุขภาพดีขึ้นได้ในหลายๆ ด้าน” เช่น ทำให้การทำงานของลำไส้ดีขึ้น เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันการก่อโรคของจุลินทรีย์ที่ไม่ดี ช่วยเรื่องระบบเผาผลาญ รวมไปถึงการสร้างสารสื่อประสาทที่ออกฤทธิ์ในสมองซึ่งมีผลต่อสุขภาพจิตใจ โดยประโยชน์ที่ได้จะขึ้นกับสายพันธุ์ของจุลินทรีย์ ตัวอย่าง Probiotic ที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เช่น แลคโตบาซิลัส (Lactobacillus) บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) เป็นต้น

ส่วน “พรีไบโอติก (Prebiotic) คือ อาหารของจุลินทรีย์โพรไบโอติก ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถย่อยได้ แต่ทำให้จุลินทรีย์โพรไบโอติกเจริญเติบโตได้ดี” เช่น ใยอาหารอินนูลิน (Inulin) ฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์ (FOS) เป็นต้น
แล้วคนกลุ่มไหนควรรับประทานโพรไบโอติก และพรีไบโอติก?
คนที่ควรรับประทานโพรไบโอติก เช่น
– ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพลำไส้ เช่น ท้องผูกเรื้อรัง หรือท้องเสียบ่อย
– ผู้ที่รับประทานยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะทำให้จุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ตายไป จึงควรฟื้นฟูสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้หลังรับประทานยาปฏิชีวนะครบ
– ผู้ที่ต้องการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งคนทุกเพศทุกวัยสามารถรับประทานโพรไบโอติกได้ ยกเว้นผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่ไม่ควรรับประทานซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป
คนที่ควรรับประทานพรีไบโอติก เช่น
– ผู้ที่รับประทานโพรไบโอติก และต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของโพรไบโอติก
– ผู้ที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง

ข้อห้ามของคนที่ไม่ควรรับประทาน?
โดย คนที่ไม่ควรรับประทานโพรไบโอติก (หากต้องการรับประทาน ควรปรึกษาแพทย์ก่อน) ได้แก่..
1. ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เพราะระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้
2. ผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดลำไส้ หรืออวัยวะในช่องท้อง หากรับประทานโพรไบโอติก อาจเพิ่มโอกาสการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด
3. ผู้ที่มีโรคลำไส้อักเสบรุนแรง (เช่น Ulcerative colitis, Crohn’s disease, Severe IBD) การรับประทานโพรไบโอติก อาจทำให้การอักเสบเป็นมากขึ้นจากการกระตุ้นภูมิคุ้มกันมากเกินไป
4. ผู้ที่มีภาวะการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้เล็กมากผิดปกติ (Small intestinal bacterial overgrowth หรือ SIBO) การรับประทานโพรไบโอติกอาจทำให้มีอาการท้องอืด ท้องเสีย ปวดท้องเพิ่มขึ้นได้

คนที่ไม่ควรรับประทานพรีไบโอติก ได้แก่..
1. ผู้ที่มีภาวะการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้เล็กมากผิดปกติ (SIBO) หรือมีลำไส้แปรปรวนรุนแรง การรับประทานพรีไบโอติก จะทำให้เกิดการหมักและเกิดแก๊สเพิ่มขึ้น ทำให้ท้องอืด แน่นท้อง ท้องเสียเพิ่มขึ้นได้
2. ผู้ที่มีอาการข้างเคียงจากอาหารที่มี FODMAP สูง เช่น ผู้ที่มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หลังรับประทานกระเทียม หัวหอม หน่อไม้ฝรั่ง ควรหลีกเลี่ยงพรีไบโอติกที่มาจากอาหารเหล่านี้
แล้ว “โพรไบโอติก” และพรีไบโอติก อยู่ในอาหารประเภทไหนมากที่สุด?
– โพรไบโอติก อยู่ในอาหารที่ผ่านการหมัก เช่น กิมจิ โยเกิร์ต คีเฟอร์ คอมบูชา เทมเป้ นัตโตะ มิโสะ
– พรีไบโอติก อยู่ในอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น กระเทียม หัวหอม หน่อไม้ฝรั่ง กล้วย แอปเปิล ถั่ว ธัญพืชต่างๆ

โพรไบโอติก และพรีไบโอติก ควรรับประทานแบบไหนถึงจะได้ผลลัพธ์ดีที่สุด และการรับประทานแบบไหนจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี? “การรับประทานที่จะได้ผลลัพธ์ดีนั้น หากสามารถรับประทานทั้งโพรไบโอติกและพรีไบโอติกควบคู่กันได้ จะทำให้โพรไบโอติกได้รับอาหารที่ดีและเจริญเติบโตได้ดี” โดยกรณีที่รับประทานโพรไบโอติกเสริม แนะนำให้รับประทานขณะท้องว่าง (เช่น ตอนเช้าหลังตื่นนอน หรือก่อนเข้านอน) เพื่อเพิ่มโอกาสให้จุลินทรีย์สามารถผ่านกระเพาะอาหารซึ่งเป็นกรดเข้าไปถึงลำไส้ได้ดีขึ้น
การรับประทานที่จะไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี เช่น
– รับประทานพร้อมอาหารร้อน เพราะความร้อนจะทำลายจุลินทรีย์ ทำให้โพรไบโอติกตายไปก่อน
– รับประทานแต่โพรไบโอติกโดยไม่รับประทานอาหารที่มีพรีไบโอติกเลย ทำให้โพรไบโอติกเจริญเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร
– รับประทานอาหารแปรรูป หรืออาหารที่มีน้ำตาลสูงมากจนเกินไป ทำให้จุลินทรีย์ที่ไม่ดีเติบโตได้ดี ซึ่งอาจทำให้ไม่เห็นผลลัพธ์จากการรับประทานโพรไบโอติกได้เท่าที่ควร

โพรไบโอติกและพรีไบโอติก มีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง?
ข้อดีของการรับประทานโพรไบโอติกและพรีไบโอติก
– ทำให้สมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ดีขึ้น ป้องกันการก่อโรคของจุลินทรีย์ที่ไม่ดี
– ลดอาการท้องผูกเรื้อรัง หรือท้องเสียบ่อย
– ช่วยให้การย่อยอาหาร และการดูดซึมสารอาหารต่างๆ ดียิ่งขึ้น
– เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานเป็นปกติ ลดการอักเสบของร่างกาย
– ช่วยเรื่องระบบเผาผลาญ สมดุลฮอร์โมนในร่างกาย
– ช่วยเรื่องการสร้างสารสื่อประสาท มีผลต่อการทำงานของสมองและสุขภาพจิต
– อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคแพ้ภูมิตัวเอง
ข้อเสียของการรับประทานโพรไบโอติกและพรีไบโอติก
– ในบางรายอาจมีอาการแน่นท้อง ท้องอืดเพิ่มขึ้น
– หากได้รับโพรไบโอติกปริมาณสูงเกินไป อาจรบกวนสมดุลจุลินทรีย์เดิมของร่างกาย
– ในรายที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพิ่งได้รับการผ่าตัดลำไส้ หรือเป็นโรคลำไส้อักเสบรุนแรง การรับประทานโพรไบโอติกอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือการอักเสบเพิ่มขึ้นได้

“การรับประทานโพรไบโอติกและพรีไบโอติก จึงควรพิจารณาตามสุขภาพของแต่ละบุคคล โดยเลือกชนิดและปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ที่เหมาะสม แม้ในภาพรวมจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน แต่หากมีภาวะที่ต้องระวังในการรับประทานเสริม ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อน หรือถ้าไม่แน่ใจ อาจเริ่มจากการรับประทานปริมาณน้อย และสังเกตอาการตนเองหลังรับประทาน นอกจากการเสริมโพรไบโอติกและพรีไบโอติกแล้ว การมีสุขภาพดีในระยะยาว ควรเน้นไปที่การปรับโภชนาการ การนอนหลับ การออกกำลังกาย และการจัดการความเครียดอย่างเหมาะสมควบคู่ไปด้วยครับ” นพ.นิธิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย..
……………………………………………
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”
อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…คลิก…