สวัสดีจ้า “ขาสั้น คอซอง” สัปดาห์นี้ ขอนำเสนอนักเรียนในสถานศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาเรียนได้ จะต้องบวชเรียนเท่านั้น โดยจะมีการเปิดสอนในแผนกธรรม บาลี และสามัญศึกษา (ม.1-ม.6) ซึ่งในโรงเรียนพระปริยัติธรรมหลายแห่ง ก็ได้มีการจัดการสอนวิชาชีพให้กับสามเณรด้วย เพื่อที่หากต้องลาสิกขาไปจะได้มีอาชีพติดตัว

วัดโคกเปี้ยว ต.เกาะยอ อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีการเปิดการเรียนการสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งมีการสอนทักษะด้านอาชีพให้กับนักเรียน โดยเฉพาะเรื่องการทอผ้า ที่เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของชุมชน คือ “ผ้าทอเกาะยอ” ที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ โดยมี “ลายราชวัตร” เป็นลายที่ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นลายประจำจังหวัดสงขลาด้วย

“เณรพัฒน์” สามเณรพีรพัฒน์ พงษ์ภู่พันธ์ อายุ 15 ปี หนึ่งในนักเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดโคกเปี้ยว เล่าว่า โรงเรียนพระปริยัติธรรมแห่งนี้ มีทั้งห้องเรียนทางธรรม กล่อมเกลาจิตใจ และยังมีห้องเรียนทางโลก สอนทั้งวิชาชีพงานฝีมือพร้อมกับวิชาชีวิตให้เด็กที่มาบวชเรียน นอกจากนี้ยังมีศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอ แปรรูปผ้าทอเกาะยอ วัดโคกเปี้ยว โดยมีที่มามาจากพี่เณรคนหนึ่งไปเดินบิณฑบาตรแล้วเห็นกี่ทอของชาวบ้านที่ไม่ได้ใช้งาน เกิดความสนใจ จึงขอนำมาทอที่วัด โดยชาวชุมชนและชาวบ้านได้เข้ามาแบ่งปันภูมิปัญญาการทอผ้าให้พระสงฆ์และสามเณร ให้ได้เรียนรู้วิชาชีพการทอผ้าจากปราชญ์ชุมชน ซึ่งจากการสนับสนุนของวัดที่ให้สามเณรได้ใช้เวลาว่างจากการเรียน มาเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เรียนรู้การทอผ้าที่หลากหลายลาย ไม่ว่าจะเป็น “ลายดอกพิกุลโคกเปี้ยว” ที่เกิดจากการเอาลักษณะของดอกพิกุลเเละปูเปี้ยวซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัดเอามาประยุกต์กับลายดอกพิกุลที่มีมาก่อนเเล้วจึงเกิดลายผ้านี้ขึ้นมา รวมถึงการฝึกทอผ้า “ลายราชวัตร” ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นลายที่ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นลายประจำจังหวัดสงขลา ทำให้วัดแห่งนี้เริ่มเป็นที่รู้จัก จึงเกิดการสร้าง “ศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอ แปรรูปผ้าทอเกาะยอ วัดโคกเปี้ยว” ขึ้นมา เปิดให้ชุมชน ชาวบ้านที่สนใจมาทอด้วย สร้างอาชีพ สร้างรายได้ในชุมชนมากขึ้น

“เณรพัฒน์” บอกอีกว่า บวชครั้งแรกตอน ป.3 อายุ 9 ขวบ และเริ่มสนใจการทอผ้าเมื่ออายุ 12 ปี ซึ่งตั้งแต่ที่มีกี่ทอผ้าเข้ามา รู้สึกว่าน่าสนใจดี ลายผ้าสวย เป็นการฝึกสมาธิ ได้ทักษะ และอาชีพติดตัวอีกด้วย สำหรับมือใหม่จะได้ทอผ้าเป็นลายผ้าขาวม้า โดยเณรที่วัดนี้จะใช้เวลาว่างจากการเรียน มาเรียนรู้ที่ศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอ ฝึกจนเริ่มมีความเชี่ยวชาญ ทำให้ปัจจุบันสามารถทอได้หลากหลายลวดลายมากขึ้น และได้เป็นตัวแทนในการโชว์การทอผ้าเมื่อมีผู้มาเยี่ยมชมศูนย์ผ้าทอแห่งนี้ด้วย

“เณรพัฒน์” ทิ้งท้ายว่า เป้าหมายการบวชเรียน คือ การเรียนนักธรรม บาลี ส่วนการเรียนทอผ้านั้น เป็นการเรียนรู้เสริม ที่หากในอนาคตมีความจำเป็นต้องลาสิกขาออกไป จะได้มีความรู้ไปประกอบอาชีพได้