กรณีบริษัทฯ นำรถกระบะที่ผ่อนหมดนานแล้วเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯ เข้าลิสซิ่ง เมื่อปลายปี พ.. 2566 เพื่อนำเงินมาใช้หมุนเวียนในบริษัทฯ นั้น

ในทางภาษีอากรพิจารณาตามรูปแบบของกิจกรรมที่เกิดขึ้น กล่าวคือ ให้แยกกิจกรรมออกเป็นสองส่วน คือ

1.การขายทรัพย์สิน ซึ่งตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็นรายได้เนื่องจากกิจการ บริษัทฯ ต้องรับรู้กำไร (ขาดทุน) จากการขายทรัพย์สิน ในวันที่บริษัทฯ ได้ขายทรัพย์สินนั้นให้แก่บริษัทไฟแนนซ์ แม้จะมีการเช่ากลับในทันทีก็ตาม (ก็แล้วทำไมไม่ทำสัญญากู้ยืมเงินระหว่างกันเสียเล่า จะได้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และตรงกับการปฏิบัติทางภาษีอากร)

วิธีการคำนวณกำไร (ขาดทุน) ให้บริษัทฯ นำมูลค่าทางบัญชีของทรัพย์สินรายการที่ได้ทำการขายและเช่ากลับ (Sale & Lease back) อันเป็นมูลค่าสุทธิภายหลังการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาแล้วมาเปรียบเทียบกับราคาขายทรัพย์สินนั้นให้แก่บริษัทไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นวิธีการที่สอดคล้องกับการเช่ากลับคืนแบบสัญญาเช่าดำเนินการ

พึงต้องระวังประเด็น “ราคาตลาด” ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ด้วย หากราคาขายทรัพย์สินนั้น มีผลตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด โดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินผลตอบแทนให้เป็นไปตามราคาตลาดได้

2.กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทไฟแนนซ์ ที่เป็นผู้ซื้อสินค้านั้น แล้วนำรายได้ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

3 กรณีบริษัทฯ ทำสัญญาเช่ากลับคืนเป็นสัญญาเช่าทางการเงิน ซึ่งตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 17 กำหนดให้บริษัทฯ ตั้งพักกำไร (ขาดทุน) จากการขายทรัพย์สิน และตัดจ่ายตลอดอายุสัญญาเช่า นั้น บริษัทฯ ต้องทำการปรับปรุงบวกกลับเป็นรายได้ทั้งก้อนในรอบระยะเวลาบัญชีปีที่ทำการขายให้แก่บริษัทไฟแนนซ์ สำหรับการทยอยรับรู้รายได้ (กำไร) หรือรายจ่าย (ขาดทุน) ให้บริษัทฯ ปรับปรุงหักออก หรือบวกกลับ ในรอบระยะเวลาบัญชีที่บันทึกรับรู้รายได้หรือรายจ่ายดังกล่าว.