คำมั่นสัญญานี้เกิดขึ้นมาจากความพยายามต่าง ๆ ของสหราชอาณาจักร ซึ่งรวมถึงการจัดทำปฏิญญา การเปลี่ยนผ่านพลังงานถ่านหินสู่พลังงานสะอาด (Global Coal to Clean Power Transition Statement) ซึ่งเป็นปฏิญญาสำคัญที่รับรองโดยประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ถ่านหินรายใหญ่และประเทศที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมี 23 ประเทศที่ลงนามเป็นครั้งแรกเพื่อรับรองว่าจะยุติการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและการลงทุนในโรงงานไฟฟ้าถ่านหินใหม่ ได้แก่ โปแลนด์ เวียดนาม บรูไน สิงคโปร์ และชิลี

ขณะที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ลงนามรับรองในบางตอนของปฏิญญา ช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการประชุม COP26 ที่ได้ขับเคลื่อนโลกให้เปลี่ยนผ่านมาสู่พลังงานสะอาด

ปฏิญญานี้กำหนดให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกดำเนินการ ยุติการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ทั้งในประเทศและนอกประเทศ เริ่มใช้งานโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นโดยเร่งด่วน ยุติการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงถ่านหินในภาคเศรษฐกิจในทศวรรษ 2030 สำหรับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่และทศวรรษ 2040s สำหรับประเทศอื่น ๆ และดำเนินการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานถ่านหินอย่างเป็นธรรมโดยให้ส่งผลดีต่อแรงงานและชุมชน

นอกเหนือจากปฏิญญานี้ ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้ให้เงินสนับสนุนรายใหญ่ที่สุด 3 ประเทศยังได้ให้คำมั่นที่จะยุติการให้เงินสนับสนุนธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหินในต่างประเทศภายในสิ้นปี 2564 นานาประเทศได้ส่งสัญญาณอันเข้มแข็งว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนผ่าน มาสู่พลังงานหมุนเวียน นี่อาจเป็นจุดจบของพลังงานถ่านหินกว่า 40 กิกะวัตต์ใน 20 ประเทศ คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตไฟฟ้าของสหราชอาณาจักร

นอกจากนี้ มีสมาชิกใหม่ 28 รายลงนามใน Powering Past Coal Alliance ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรเพื่อยุติพลังงานเชื้อเพลิงถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่สหราชอาณาจักรเป็นผู้จัดตั้งและเป็นประธานร่วม ในวันนี้ประเทศชิลี สิงคโปร์และเดอร์บันได้ประกาศเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรนี้กับอีกกว่า 150 ประเทศ เขตการปกครอง และธุรกิจต่าง ๆ นับเป็นสินทรัพย์รวมมูลค่ากว่า 17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 564.91 ล้านล้านบาท) ที่ได้เข้าร่วมเป้ายุติพลังงานเชื้อเพลิงถ่านหินของกลุ่มพันธมิตร Powering Past Coal Alliance

ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาได้มีการลดการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินใหม่ไปร้อยละ 76 รอบโลก ซึ่งหมายถึงว่านับตั้งแต่เรามีความตกลงปารีส ทั่วโลกได้ยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินใหม่ไปแล้วคิดเป็นกำลังการผลิตรวม 1000 กิกะวัตต์ หรือคิดเป็นราว 10 เท่าของกำลังการผลิตรวมของสหราชอาณาจักรในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด

ประเทศไทยได้ประกาศเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อตอบสนองต่อการบรรลุเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังกำลังพิจารณาการเข้าร่วมปฏิญญา การเปลี่ยนผ่านพลังงานถ่านหิน สู่พลังงานสะอาด หลังจากที่ประเทศต่าง ๆ ได้ลงนามไปในสัปดาห์ที่ผ่านมา.

เลนซ์ซูม

ขอขอบคุณ สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย

เครดิตภาพ : REUTERS