แม้จะไม่แน่ใจแต่ด้วยสัญชาตญาณ หลายคนดีดตัววิ่งออกนอกที่พัก-ที่ทำงาน ปรากฎภาพฝูงชนวิ่งลงจากที่สูง กระทั่งเหตุการณ์สงบ ยังมีหลายข้อสงสัย “อพยพ”แบบใดคือถูกต้อง
“ทีมข่าวอาชญากรรม” สอบถามประเด็นนี้กับผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ควรเอาตัวรอดโดยวิ่งให้ไว หรือควรหลบหาที่กำบัง
เรื่องนี้ ศ.ดร.สันติ ชี้ว่าทั้งสองความคิด มีความเป็นไปได้ว่าความคิดหนึ่งจะใช้กับสถานการณ์หนึ่งได้ ยกตัวอย่าง หากอาคารไม่ถล่ม การหลบใต้โต๊ะ ข้างโต๊ะ ข้างตู้ เป็นวิธีการที่ดี เพื่อไม่ให้สิ่งของหล่นใส่ศรีษะ จนบาดเจ็บ แต่ถ้าอาคารจะถล่ม การวิ่งหนีออกไปข้างนอกคือ สัญชาตญาณการเอาตัวรอด และทำให้คนคนนั้นปลอดภัยได้
สรุปคือไม่ได้หมายความว่า แนวทางใดจะถูกกับทุกสถานการณ์ แล้วอีกแนวทางจะผิดทั้งหมด เพราะในเหตุแผ่นดินไหว เราไม่สามารถรู้ได้ว่าอาคารที่อยู่นั้นจะถล่มหรือไม่ แต่แน่นอนคือต้องห้ามใช้ลิฟต์เด็ดขาด และหากท้ายสุดอาคารที่อยู่ส่อถล่ม แล้วคิดว่าอย่างไรก็วิ่งหนีไม่ทัน ขอให้หลบข้างสิ่งของแข็งแรง เช่น ข้างรถยนต์ ข้างเตียง ข้างโต๊ะ ข้างตู้
วิธีการนี้สอดคล้องกับลักษณะสามเหลี่ยมแห่งชีวิต (Triangle of life) และใช้หมอน หรือผ้าห่มป้องกันศรีษะไว้ เพราะถ้าอาคารถล่ม การหลบอยู่ข้างเตียง ตู้ โต๊ะ จะทำให้เหลือ“ช่องว่าง” พอให้มีชีวิตอยู่ได้แบบไม่ต้องแบนเป็นกล้วยทับ แต่การเข้าไปอยู่ในรถ ใต้เตียง ใต้โต๊ะ หากตึกถล่มจะทำให้ถูกทับแบนได้
อย่างไรก็ตาม หากโชคดีอาคารไม่ถล่ม ศ.ดร.สันติ บอกว่า การอยู่ใต้โต๊ะ ใต้เตียงจะปลอดภัย เพราะไม่เสี่ยงของหล่นใส่ศรีษะ ซึ่งชุดความคิดที่ว่า หากแผ่นดินไหวให้หลบใต้โต๊ะ คือ ชุดความคิดที่เราเชื่อแล้วว่าอาคารนั้นสร้างต้านทานแผ่นดินไหว จนไม่สามารถถล่มลงได้
พร้อมย้ำความจำเป็นของการซักซ้อมว่า โดยปกติหากเป็นเหตุในต่างประเทศที่เกิดเหตุบ่อย เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา จะซ้อมกันทุกปี ซึ่งมองว่าเพียงพอแล้ว เพราะคนไม่ลืม แต่ประเด็นคือจะซักซ้อมได้ทุกปีต่อเนื่องเรื่อยไปหรือไม่ เพราะภัยธรรมชาติ หรือภัยธรณีวิทยาจะเกิดขึ้นนานๆครั้ง
เช่น ญี่ปุ่นเคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ เรียกว่า แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ฮันชิง หรือ แผ่นดินไหวโกเบ หรือชื่อทางการเรียกว่า แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ฮันชิง-อาวาจิ ปี ค.ศ.1995 เป็นแผ่นดินไหวขนาด 7.3 ริกเตอร์ ทำให้เมืองโกเบราบมลายสิ้น วันนั้นเป็นวันที่ชาวญี่ปุ่นเจ็บปวดมาก
“วิธีการที่ทำคือ ใช้วันนั้นเป็นวันภัยพิบัติแห่งชาติ รำลึกถึงความเจ็บปวด และเป็นวันซักซ้อมเหตุทุกปี”
นอกจากนี้ มองวางแผนรับมืออนาคตเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มทำเป็นอับดับแรก ผ่านการพูดคุย ซักซ้อม จ่ายงานกันตั้งแต่ในครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน รวมถึงระดับหมู่บ้าน จนถึงอำเภอ เพราะการเตรียมไว้เนิ่น ๆ จะช่วยให้ไม่ตกใจ หรือ “ตื่นสนาม” โดยควรทำแผนหนีภัยอย่างละเอียดทั้งช่วงเกิดเหตุกลางวัน และกลางคืน
จุดสำคัญต้องคิดด้วยว่าส่วนใดของที่อาศัยปลอดภัยที่สุด เส้นทางอพยพ พิกัดอุปกรณ์หนีภัยฉุกเฉิน โดยให้คิด“แผนพิเศษ”เผื่ออพยพเด็กและคนแก่ที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย และควรเพิ่มการนัดแนะสมาชิกในบ้านถึงจุดนัดพบ เพราะช่วงเกิดเหตุการสื่อสารอาจถูกตัดขาด
ศ.ดร.สันติ ย้ำหลักการท่องจำเพื่อเอาตัวรอดเหตุแผ่นดินไหว คือ “การซักซ้อมอย่างเชี่ยวชาญและยั่งยืนในวันที่ไม่มีภัย และอพยพอย่างมีสติในภาวะภัยวิบัติ” เพราะในอนาคตมันจะเกิดขึ้นได้อีกแน่นอน สิ่งสำคัญคือเราได้บทเรียนอย่างไรจากเหตุการณ์นี้ เมื่อในอดีตก็เคยเกิดภัยพิบัติทั้งแผ่นดินไหวในอ.แม่ลาว จ.เชียงราย ปี 2557 และสึนามิภาคใต้ ปี 2547
การยืนระยะความยั่งยืนในการซักซ้อมภัยพิบัติปีละครั้ง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่มนุษย์จะอยู่กับภัยธรรมชาติได้อย่างปลอดภัย และควรบอกต่อลูกหลาน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ เหมือนอย่างที่ชาวมอแกนสอนลูกหลานว่า “น้ำลดควรรีบอพยพขึ้นที่สูง” .
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน