เพราะ…สถาบันครอบครัว เป็นจุดเริ่มต้นของคุณภาพชีวิตของผู้คน  ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ก็ถือว่าเป็นความเข้มแข็งของชุมชน หมู่บ้าน สังคมด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกันต่อให้ครอบครัวแข็งแรง แต่ถ้าขาดปัจจัยทางเศรษฐกิจ ครอบครัว ก็ย่อมอ่อนแอลงไปได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพที่ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาในทุกทิศทุกทาง

ยิ่งหากเป็นครอบครัว ที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย!! หรือประเภทที่ว่า 1 คนหา แต่ 5 คนรอใช้ อะไรเทือกนี้  ก็ส่งผลให้ความแข็งแกร่งของครอบครัวเริ่มไม่มีเหลือ

เสียงเรียกร้อง เสียงเตือน เรื่องค่าใช้จ่ายสารพัดในแต่ละเดือน เป็น “ชีวิตจริง”  ในยุคที่ครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละ 29,518 บาท ในปี 2567  ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ  

ขณะที่ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยพุ่งไปที่ 22,282 บาทต่อเดือน แถม หนี้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อครัวเรือนทะลุ 559,000 บาท แล้วในปี 2567 ข้อมูลจากแบงก์ชาติ

ที่แย่ไปกว่านั้น!!  ในหลายบ้านมีรายได้ทั้งครัวเรือน มาจากคนเพียงคนเดียว ที่ทำงาน ที่เหลืออาจเป็นพ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลาน ที่ไม่มีรายได้

ด้วยเหตุนี้… l สภาพ 1 คนทำงาน  แต่มีอีก 5 คนรอเงินโอน จึงกลายเป็นเรื่องปกติในหลาย ๆ บ้าน โดยรายได้ที่ได้จากการทำงานเพียง 1 คน อาจมีรายได้เพียงเดือนละ  18,000–25,000 บาท

แต่รายจ่าย ที่มีอยู่ ทั้ง ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่  ค่าเทอม ค่าขนมหลาน  ค่าห้อง-ค่าน้ำไฟ-ค่าเดินทางตัวเองประมาณ ค่า ผ่อนหนี้บัตรเครดิต  ค่าผ่อนหนี้กยศ.

สุดท้าย!! เหลือเก็บไม่กี่บาท แถมบางเดือนติดลบ ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเค้ามาใช้จ่ายอีกต่างหาก  นี่คือ… เรื่องจริง ไม่ใช่นิยาย

ถามว่า….ใครผิด ? เรื่องนี้ไม่ใช่เพราะใคร ไม่ใช่เพราะไม่วางแผน  แต่เพราะ…เศรษฐกิจมันบีบ ใช่ว่า…ไม่อยากออม ไม่อยากเก็บเงิน แต่สภาพ!! รายได้น้อย สวัสดิการจากรัฐก็ไม่ครอบคลุม เงินเกษียณไม่มี มีแต่ลูกที่เป็นหลักประกันชีวิต

ระบบสวัสดิการไทยเองก็ยังไม่พร้อมให้ทุกครอบครัว “วางใจ” ได้จริง ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่เดือนละ 600–1,000 บาท หรือประกันสุขภาพที่ยังไม่ครอบคลุมพอ

ในเมื่อคนทำงาน เข้าสู่ยุค  Sandwich Generation” ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวัย 35-60 ปี ที่ต้องเลี้ยงดูทั้งครอบครัวตัวเอง และยังต้องเลี้ยงดูแลพ่อแม่ที่กำลังแก่ลงในเวลาเดียวกัน

จึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำงานอย่างเดียวในเวลานี้ ไม่พอกิน ไม่พอเลี้ยงดูครอบครัวแน่นอน ขณะเดียวกันโอกาสของคน ก็มีไม่เท่าเทียมกัน เพราะมีหลายปัจจัยมากที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

แล้วเราจะออกจากวงจรนี้ได้อย่างไร?  จึงกลายเป็นคำถาม ที่ใครหลายคน คาดหวังจะได้คำตอบ!!

บรรดากูรูทางด้านเศรษฐกิจ ให้คำตอบไว้หลายแนวทางที่น่าสนใจ เริ่มจาก การทำความเข้าใจกันในครอบครัว ให้ชัดเจน โดยตกลงร่วมกัน ว่าควรช่วยเหลือกันอย่างไร ใครไหว ใครไม่ไหว

ขณะเดียวกัน ครอบครัวก็ต้อง วางแผนระยะยาวร่วมกัน โดย ตั้งเป้าหมายการเก็บออมให้ทั้งตัวเองและครอบครัว เริ่มจากเงินเล็ก ๆ แต่ทำต่อเนื่อง

นอกจากนี้ต้องใช้เครื่องมือทางการเงินให้ฉลาด โดยเฉพาะบัญชีออมเงิน ก็ต้องแยกจากบัญชีใช้จ่าย มีหนี้ก็ต้องใช้ หากใช้หนี้ไม่ไหวในช่วงนี้ก็ต้องปรับโครงสร้างหนี้ ตามช่องทางที่รัฐบาลเปิดไว้

ที่สำคัญสุด ต้องหาความรู้ทางด้านการเงินเสริมความแข็งแกร่งให้กับครอบครัว!! เพราะอย่าลืมว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน หากรอแต่ให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ เชื่อเถอะ… ไม่รอดแน่!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”

อ่านบทความทั้งหมดคลิกที่นี่