เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญที่มีการนำคำว่า “พระพุทธศาสนาเถรวาท” บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 67 มีข้อความบัญญัติไว้ว่า “รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทย ส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย”

ในเบื้องต้น ขออนุโมทนากับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยอย่างถูกต้อง ซึ่งมีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาทสู่ดินแดนสุวรรณภูมิมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 มีเมืองนครปฐมโบราณเป็นเมืองหลวงหรือศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดีในยุคนั้น และต่อมามีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาทในครั้งที่กรุงสุโขทัย เป็นราชธานีราวกว่า 700 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทยจึงมีความแตกต่างไปจากพระพุทธศาสนาในประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธศาสนามหายาน พระพุทธศาสนาวชิรญาณ ฯลฯ

ชาวพุทธพึงทราบว่าพระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นจากการตรัสรู้ของพระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยพระองค์เองด้วยพระปัญญาคุณและพระบริสุทธิคุณ ซึ่งทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง 4 อสงไขยแสนกัป พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาคุณเผยแผ่พระธรรมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเกื้อกูลแก่สัตว์โลกให้พ้นทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิด (สังสารวัฏ)

คำว่า “พระพุทธศาสนาเถรวาท” หมายถึง พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นคำสอนที่มีวาทะอันมั่นคง ตรงตามพระพุทธพจน์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอดเวลา 45 พรรษาในครั้งพุทธกาลเมื่อ 45 ปีก่อนพุทธศักราช ดังที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกซึ่งประกอบด้วย พระวินัยปิฎก 21,000 พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎก 21,000 พระธรรมขันธ์ พระอภิธรรมปิฎก 42,000 พระธรรมขันธ์ รวม 84,000 พระธรรมขันธ์ พระธรรมซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกอบด้วยพระธรรมและพระวินัย ซึ่งเรียกว่า “พระธรรมวินัย”

เพื่อให้ชาวพุทธได้ทำความเข้าใจกับข้อความที่มีอยู่ในบทบัญญัติ มาตรา 67 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ จะขอนำเฉพาะข้อความบางส่วนในมาตราดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเถรวาท มาให้ได้พิจารณาไตร่ตรองดังนี้ “…รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด…”

การดำรงพระพุทธศาสนาเถรวาทให้มีความเจริญมั่นคงและมีความเจริญรุ่งเรืองนั้น ขึ้นอยู่กับพุทธบริษัททุกหมู่เหล่า ปัจจุบันพุทธบริษัท ได้แก่ ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา หากภิกษุซึ่งเป็นผู้ครองตนอยู่ในเพศบรรพชิตทำหน้าที่ของตนได้อย่างถูกต้อง ทั้งการศึกษาพระธรรม (คันถธุระ) การอบรมเจริญปัญญา (วิปัสสนาธุระ) มีการขัดเกลากิเลส ประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบทในพระวินัย มีการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้อุบาสก อุบาสิกา ซึ่งเป็นผู้ครองเรือนอยู่ในเพศคฤหัสถ์ ก็เป็น “ภิกษุในพระธรรมวินัย” ที่เป็นเนื้อนาบุญอันแท้จริงของผู้ครองเรือน ในขณะที่อุบาสก อุบาสิกา มีหน้าที่ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาและฟังธรรมตามกาล โดยมีพระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง

การฟังธรรมตามกาล นอกจากจะเป็นเหตุแห่งความสุข ความก้าวหน้าในการดำเนินชีวิตซึ่งเป็นมงคลแก่ชีวิตแล้ว ยังจะเป็นบุญที่สำเร็จด้วยการฟังธรรม (ธรรมสวนมัย) อีกด้วย ประการสำคัญยังจะเป็นการสะสมความรู้ความเข้าใจในพระธรรมอย่างถูกต้องทีละเล็กทีละน้อย จะเป็นเหตุนำไปสู่การมีความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ) ซึ่งเป็นมรรคองค์แรกในมรรคมีองค์ 8 เป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์ตามความจริงอันประเสริฐ (อริยสัจธรรม) ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

การดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนั้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานของภาครัฐที่สังกัดอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฝ่ายอาณาจักรจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจและภารกิจด้วยความรับผิดชอบและอย่างประสิทธิภาพ ในการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นฝ่ายพุทธจักรในฐานะที่เป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ ทั้งฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายพุทธจักรต่างมีบทบาท หน้าที่ อำนาจ และความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายตามกฎหมายอย่างเข้มงวดกวดขัน จะเป็นหลักประกันสำคัญให้พระพุทธศาสนาเถรวาทมีความเจริญมั่นคงสืบไป

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
ภาพจาก : เดลินิวส์
อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ :
สาระจากพระธรรม