สวัสดีจ้า “ขาสั้น คอซอง” สัปดาห์นี้ นำเสนอโครงการดีๆของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนเยาวชนไทยภายใต้โครงการ การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition: YSC) เข้าร่วมแสดงศักยภาพในเวทีการแข่งขันและประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับนานาชาติชั้นนำ 3 เวที ได้แก่ Regeneron International Science and Engineering Fair 2025 (Regeneron ISEF 2025), Genius Olympiad 2025 และ The 50th International Exhibition of Inventions Geneva

โดยโครงการ YSC ปีนี้ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 27 มีโครงงานส่งเข้าประกวดถึง 2,429 โครงงานจากนักเรียน 6,442 คน และอาจารย์ที่ปรึกษา 1,555 คน ทั่วประเทศ หนึ่งในโครงงานที่น่าสนใจ และผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมการแข่งขัน Regeneron ISEF 2025 ณ เมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา วันที่ 10 – 20 พ.ค. 2568 คือ BeeShield: การพัฒนาอุโมงค์ทางเข้าป้องกันไรผึ้งโดยใช้พฤติกรรมการเข้ารังของผึ้งและการตอบสนองของไรต่อกรดฟอร์มิก จากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย โดย “ปัณณวิชญ์ ธีรนันท์พัฒธน”, “วิภารัศมิ์ ธะนะวงศ์” และ “กฤตนน เมืองแก้ว”

ทั้งสามคนร่วมกันอธิบายถึงโครงงาน BeeShield ว่า การเข้าทำลายของไรผึ้ง (varroa mite) สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งทั่วโลก โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุโมงค์ทางเข้าป้องกันไรผึ้งโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการแยกแยะผึ้งที่ติดไรและผึ้งปกติจากพฤติกรรมการเข้ารัง และใช้ระบบอัตโนมัติฉีดพ่นกรดฟอร์มิคในระดับความเข้มข้นที่เหมาะสมเพื่อกำจัดไรโดยไม่ทำอันตรายต่อผึ้ง โดยจากการศึกษาพฤติกรรมการเข้ารังของผึ้งงานพบว่า ผึ้งงานที่ติดไรมีการบินเข้ารัง การเดิน และการทำความสะอาดตัวที่แตกต่างจากผึ้งงานปกติ จากนั้นจึงหาระดับความเข้มข้นของกรดฟอร์มิกที่เหมาะสมต่อการกำจัดไรที่เกาะติดตัวผึ้ง พบว่าความเข้มข้น 75% มีประสิทธิภาพในการกำจัดไรที่เกาะตัวผึ้ง และไม่ทำให้ผึ้งมีพฤติกรรมการทำความสะอาดตัวแตกต่างจากชุดควบคุม ทั้งยังไม่พบการตายของผึ้งที่ถูกฉีดพ่น

“ในการทดลองสุดท้ายได้ออกแบบสร้างระบบเป็นอุโมงค์ทางเข้าป้องกันไรผึ้ง ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนโครงสร้างอุโมงค์ ส่วนคัดแยกผึ้งงานติดไรด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติฉีดพ่นกรดฟอร์มิก นำนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นไปทดสอบประสิทธิภาพในการป้องกันไรผึ้งเปรียบเทียบกับชุดควบคุมและการใช้สารเคมี (Amitraz) ฉีดพ่นรังผึ้งโดยตรง เป็นเวลา 2 เดือน พบว่านวัตกรรมสามารถลดการติดไรของผึ้งได้ดีกว่าชุดควบคุมถึง 3 เท่า ลดการตายของผึ้งได้ 4 เท่า และเพิ่มผลผลิตน้ำผึ้งได้ 4 เท่า โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ผึ้งภายในรัง นวัตกรรมนี้จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ปลอดภัยและยั่งยืน สำหรับการเลี้ยงผึ้งและช่วยรักษาประชากรผึ้งซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ” ทีมเจ้าของโครงงาน BeeShield กล่าว

นอกจากโครงงาน BeeShield แล้ว ยังมีอีก 5 โครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทย ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมแข่งขัน Regeneron ISEF 2025 ด้วย มาร่วมลุ้น ร่วมเชียร์กันว่าโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทย จะไปได้ไกลแค่ไหนในเวทีการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลก แต่ยืนยันได้เลยว่า ความสามารถของนักเรียนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกแน่นอน