ระบาดหนักมาตั้งแต่ปี 2563 สำหรับโรคโควิด–19 คร่าชีวิตคนทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยไปจำนวนมาก ถึงวันนี้ผ่านมากว่า 5 ปี กลายเป็นโรคตามฤดูกาล เพราะอ่อนกำลังลงไปมาก แต่ยังสามารถแพร่กระจายเร็ว และยังอันตรายสำหรับกลุ่มเสี่ยง คำถามที่ตามมาในวันนี้คือ “วัคซีน” ยังจำเป็นหรือไม่
เรื่องนี้ฟังหลายแง่หลายมุม หนึ่งในนั้น ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายไว้ว่า ฤดูกาลของโควิด-19 ได้เริ่มต้นตั้งแต่สงกรานต์เป็นต้นมา และจะระบาดมากขึ้นอีกเมื่อนักเรียนเปิดเทอม ในปีนี้เนื่องจากฝนมาเร็วช่วงนี้จึงมีผู้ป่วยมากกว่าปีที่ผ่านมา จำนวนยอดผู้ป่วยที่แท้จริงไม่อาจจะทราบได้ ปีนี้จำนวนผู้ป่วยที่นอนในโรงพยาบาลสัปดาห์ละ มากกว่า 5,000 คน โดยเป็นสายพันธุ์ XEC ซึ่งเป็นสายพันธุ์รุ่นหลานเหลนของสายพันธุ์โอมิครอน และลดความรุนแรงของโรค สามารถเป็นซ้ำได้ แต่มีอาการน้อย ไม่ค่อยรู้ตัวว่าติด จึงเป็นเหตุให้มีการแพร่กระจายได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตของโรคนี้ในปัจจุบัน ลดลงอย่างมาก น่าจะอยู่ในระดับของไข้หวัดใหญ่ คาดว่าทั้งปีจะมีการเสียชีวิตไม่เกิน 100 คน แม้จะมีจำนวนเข้ารพ.เยอะกว่าก็ตาม
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีร่างกายแข็งแรงดี การรักษาตามอาการ เหมือนโรคทางเดินหายใจทั่วไป ยกเว้นในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอมาก ๆ เช่นผู้สูงอายุ ที่เกิน 70 ปีขึ้นไป หรือมีโรคประจำตัว ที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ควรจะพบแพทย์ เพื่อดูแลการรักษาที่เหมาะสม สำหรับการรักษา เป็นการรักษาตามอาการเหมือนโรคทางเดินหายใจทั่วไป ในผู้ที่สูงอายุ หรือมีร่างกายอ่อนแอมาก ๆ ที่จัดว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง การให้ยาต้านไวรัส อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ โดยขณะนี้ยาที่ใช้ได้ผลดีที่สุดคือ Remdesivir

ส่วนเรื่องความจำเป็นของวัคซีนนั้น “ศ.นพ.ยง” อธิบายว่า เราได้ทำการศึกษาแล้วว่า ประชากรส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดมีภูมิคุ้มกันแล้ว แม้กระทั่งเด็กเล็ก โรคโควิด-19 เมื่อเทียบความรุนแรงในปัจจุบันกับการระบาดในช่วงแรกมีความต่างกันมาก ตอนนี้เปรียบเหมือนโรคทางเดินหายใจโรคหนึ่ง รวมถึงไข้หวัดใหญ่ เชื่อว่าปีนี้การเสียชีวิตก็ไม่ต่างจากไข้หวัดใหญ่ เราคาดการณ์ทั้งปีไม่เกิน 100 คน ซึ่งแตกต่างจากปีแรก ๆ เสียชีวิตกว่า 3 หมื่นคน แต่ถ้าถามว่าแล้วทำไมถึงยังฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ก็ต้องตอบว่า ไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดวัคซีนให้นั้น เราฉีดตามสายพันธุ์ อีกทั้งยังมีราคาถูกหลักร้อยกว่าบาท และยังใช้มานาน 30-40 ปี แล้ว เรื่องความปลอดภัยสูง ทั้ง ๆ ที่ฉีดแล้วก็ยังมีโอกาสติดได้

แต่เมื่อมองมาที่ โรคโควิด ความรุนแรงไม่แตกต่างกัน แต่การกลายพันธุ์ของโรคโควิดจะเร็วกว่าไข้หวัดใหญ่ วัคซีนที่จะตามทันจึงค่อนข้างยาก แล้ววัคซีนป้องกันโควิดขณะนี้ ใครจะฉีดก็ได้ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองราว ๆ 2,000 บาท แพงกว่า และในส่วนของอาการข้างเคียงนั้น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ฉีดแล้วไม่มีไข้ แต่วัคซีนโควิดฉีดแล้วมีไข้ อาการข้างเคียงมีมากกว่า แต่ไม่ได้ข้างเคียงแบบน่ากลัว บริษัทวัคซีนปัจจุบันเลิกผลิตแล้ว เหลือเพียง 2 บริษัทที่ยังผลิตอยู่ ดังนั้นเทียบความคุ้มค่าแล้ว ตนมองว่าไม่คุ้ม แม้จะเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่ถ้าเราลงความเห็นว่าจะต้องฉีด รัฐก็ต้องเป็นคนฉีดให้ฟรี

ศ.นพ.ยง บอกว่า คนที่คาดว่าจะเสียชีวิตนั้นไม่มีใครบอกได้ แต่ส่วนใหญ่ ก็เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว เป็นมะเร็ง บางคนเป็นโรคไตระยะสุดท้าย แต่จริง ๆ ที่เสียชีวิตนั้นบางครั้งก็ไม่ทราบว่า เสียชีวิตจากโรคที่เป็นอยู่ หรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มันก็พูดยาก ไข้หวัดใหญ่ก็เหมือนกัน แน่นอนว่าคนที่แข็งแรงดีก็มีโอกาสเสียชีวิตได้ แต่ต่ำมาก ๆ ถ้าวันนี้ถามว่าจำนวนคนติดมากเท่าไหร่ ตนไม่ทราบ แต่เชื่อว่ามากกว่าตัวเลขคนที่นอนโรงพยาบาลไม่ต่ำกว่า 10 เท่า เพราะคนตรวจพบเชื้อก็อยู่บ้าน ก็ไม่ถูกนับแล้ว เพราะกระทรวงสาธารณสุขเขาจะนับเฉพาะตัวเลขที่นอนโรงพยาบาล
“ความสำคัญตอนนี้คือการล้างมือ อย่าไปแหล่งชุมชน ถ้าต้องไปก็ให้ใส่หน้ากากอนามัย โดยเฉพาะคนป่วยทุกคนต้องใส่ เพื่อจิตเป็นกุศล ไม่ไปแพร่กระจาย ส่วนคนไม่ป่วยจะไม่ใส่ก็ไม่ว่า เพราะเราถือว่าไม่ได้อยู่ในช่วงโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง อนาคตคาดการณ์ไปได้เลยว่า โรคนี้ก็เป็นเหมือนโรคหวัด โรค RSV หรือตัวอื่น แค่มีโควิด เพิ่มมาอีก 1 ตัว ติดไปก็เหมือนกับได้วัคซีนไปครั้งหนึ่ง กระตุ้นภูมิตลอดเวลา เป็นโรคตามฤดูกาล และปีนี้ฤดูกาลระบาดไม่ได้เกินจากความคาดการณ์ของเรา โดยหลังสงกรานต์ ถึงเดือนส.ค. ก็จะหมด ไข้หวัดใหญ่จะตามมาทีหลัง เริ่มระบาด มิ.ย.-ก.ย. แล้วไปขึ้นอีกครั้งหน้าหนาว ประมาณ ม.ค.–ก.พ. ขึ้นอยู่กับว่าหนาวมากหรือน้อย” ศ.นพ.ยง ระบุ.