คดีการเสียชีวิตของพลทหารวรปรัชญ์ พัดมาสกุล อายุ 18 ปีพลทหารค่ายนวมินทร์ จ.ชลบุรี ถูกครูฝึกและรุ่นพี่ทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิต กลายเป็นคดีเปิดหน้า“ประวัติศาสตร์” เอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกฎหมายใหม่ ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะเอาผิดพฤติกรรม“นอกรีต”ของเจ้าหน้าที่รัฐ
“ทีมข่าวอาชญากรรม” สรุปบทลงโทษคดีตัวอย่างแรกที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับใคร โดยพลทหารวรปรัชญ์ เสียชีวิตช่วงเดือน ส.ค.67 แพทย์เผยสาเหตุร่างกายถูกทำร้ายหนัก สมองบวม ซี่โครงหัก 2 ข้าง ปอดฉีก ปอดรั่ว ไหปลาร้าหัก กระดูกสันหลังหัก
เนื่องจากเกิดขึ้นช่วงที่พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มีผลบังคับใช้ ทำให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตฯ ไม่ใช่ศาลทหารเหมือนในอดีตที่หากทหารเป็นผู้กระทำผิดต้องขึ้นศาลทหารเท่านั้น
กระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นไปตามมาตรา 34 ที่ระบุให้ศาลอาญาคดีทุจริตฯเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ และให้รวมถึงการกระทำผิดของบุคคลซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำความผิดด้วย
คดีพลทหารวรปรัชญ์ มีการพิจารณาผ่านไปไม่ถึง 1 ปี เมื่อวันที่ 27 พ.ค.68 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 จังหวัดระยอง ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลย 13 ราย ตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ประกอบกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
ด้วยเหตุทั้งหมดร่วมกันลงโทษ สั่งซ่อม และร่วมกันทำร้ายพลทหารวรปรัชญ์อย่างรุนแรง หลายรูปแบบและหลายครั้ง จนกระทั่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา จำเลยประกอบด้วย ครูฝึก 2 นาย และทหารเกณฑ์ที่เป็นผู้ช่วยครูฝึก 11 นาย
ผลคำพิพากษา จำเลยที่ 1(ครูฝึก) กระทำความผิดฐานกระทำการทรมาน ตามมาตรา 5 ลงโทษจำคุก 20 ปี
จำเลยที่ 2 (ครูฝึก) กระทำความผิดฐานกระทำการทรมาน ตามมาตรา 5 ลงโทษจำคุก 15 ปี
จำเลยที่ 3-13 (ทหารเกณฑ์ผู้ช่วยครูฝึก) กระทำความผิดฐานกระทำการทรมาน ตามมาตรา 5 ลงโทษจำคุก คนละ 10 ปี
หลังปรากฎคำพิพากษา มีการสอบถามญาติผู้สูญเสีย อย่างน.ส.โสภาพรรณ พัดมาสกุล ผู้เป็นแม่ และนางสุดาวรรณ พัดมาสกุล ผู้เป็นยาย สะท้อนความรู้สึกตอนหนึ่งไว้น่าสนใจคือ การทำให้คดีไม่ต้องขึ้นศาลทหาร ทำให้ค่ายทหารไม่ใช่“แดนสนธยา”อีกต่อไป และทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเกรงกลัวในการกระทำความผิด
พร้อมฝากให้เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ถึงครูฝึกและผู้บังคับบัญชาว่ามีพ.ร.บ.อุ้มหายฯอยู่ ให้เกรงกลัวกับสิ่งที่จะกระทำ ให้มีสามัญสำนึกความเป็นครู เพราะการบังคับใช้ความรุนแรงไม่เป็นผลดีกับใคร
เนื่องจากเป็นคดีแรกของพ.ร.บ.อุ้มหายฯ คดีนี้ยังจะเป็นคดีแรกที่ได้ใช้ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ว่าด้วยการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูผู้เสียหาย พ.ศ.2568 ที่กำหนดอัตราเงินช่วยเหลือผู้เสียหายจากการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ได้แก่
กรณีถูกกระทำทรมาน 500,000 บาท , กรณีถูกกระทำโหดร้ายฯ ตั้งแต่ 100,000-250,000 บาท และกรณีสูญหาย 500,000 บาท โดยการพิจารณาเงินช่วยเหลือเป็นอำนาจของของคณะอนุกรรมการ
คดีพลทหารถูกทำร้ายในค่าย มีอีกคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 จ.เชียงใหม่ เป็นการเสียชีวิตเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด ของพลทหารกิตติธร เวียงบรรพต อายุ 27 ปี เหตุเกิดเดือนก.ค.66 พื้นที่จ.เชียงราย ถูกฟ้องความผิดตามมาตรา 6 ฐานกระทำโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาเขตอำนาจระหว่างศาลอาญาคดีทุจริตฯ และศาลทหารของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจระหว่างศาล ก่อนที่ศาลที่มีเขตอำนาจจะสามารถมีคำพิพากษาได้ต่อไป.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน