ต่างจากประเทศอื่นๆ อีกมากหลาย  ประเทศไทยมี รพ.อำเภอเป็นแหล่งฝึกฝนแพทย์รุ่นใหม่มาช้านาน เบ้าหลอมนี้นับเป็นบันไดขั้นแรกที่มีความหมายต่อการยกระดับระบบบริการสุขภาพคนไทยทั่วประเทศ ครูแพทย์เอย แพทย์ผู้ให้กำเนิดบัตรทองเอย แพทย์ผู้ให้กำเนิดระบบรองรับคุณภาพ รพ.เอย ฯลฯ

แม้ในทางวัตถุ สวัสดิการ ระบบค่าตอบแทน ระบบบำนาญสำหรับแพทย์ พยาบาลและบุคลากรใน รพ.อำเภอ และสถานีอนามัย (วันนี้เรียก รพ.สต.) อ่อนด้อยกว่าข้าราชการที่ดีกรีการศึกษาใกล้เคียงกัน  แต่ความอุดมด้วยน้ำใจไมตรี ความเอื้อเฟื้อแก่กันและกันยังเป็นแบบอย่างแก่แพทย์รุ่นหลัง ดังบันทึก นักเรียนแพทย์ปีสุดท้ายผู้นี้เป็นพยาน

เมื่อวาน ดิฉันได้เจอเคสคุณยายที่มาด้วยเรื่องปวดเท้า มานาน 5 ปี คุณยายมากับรถนั่งและเล่าว่าปวดข้อเท้า มีเสียงดัง ตอนแรกดิฉันด่วนสรุปว่าคุณยายป่วยด้วยกลุ่มอาการรวมมิตร (elderly with multiple complaints) แต่หลังจากค่อยๆ ซักประวัติ ตั้งใจฟังสิ่งที่คุณยายคิดและกังวล พูดคุยกับคุณยายดีๆ ก็พบว่าคุณยายต้องการมานวดแผนไทยของโรงพยาบาล เพราะคนที่บ้านไม่มีคนสนใจดูแลเรื่องปวดเมื่อยของคุณยายเลย แม้ฟังดูเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับเรา แต่หากเราลองจินตนาการว่าเราเป็นคนไข้เองบ้าง การปวดเมื่อยตลอดและเป็นมานานนั้นหากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมก็สร้างความทุกข์ให้แก่เราได้ เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่คอยตอกย้ำความสำคัญเรื่อง Active listening ให้ดิฉันได้ดีเสมอ เพราะการฟังคือการบำบัด (Listening=Healing) ก่อนที่เราจะไปตัดสินใจ ใครหรือเรื่องที่ได้ยินมา พอเรารับฟังเขาแบบใช้หัวใจที่เป็นมนุษย์รวมกับความเป็นหมอ

คำพูดที่จริงใจที่ถูกกลั่นออกมาจากจิตใจของเรามันสามารถทำให้เค้าดีขึ้นได้ คุณยายเปลี่ยนท่าทีและน้ำเสียงอย่างชัดเจน คุณยายจับมือดิฉันแล้วพูดว่า หมอรู้มั้ย ไม่เคยมีหมอคนไหนพูดแบบนี้กับยายมาก่อนเลย ยายหายปวดแล้ว ยายไม่อยากกินยาแก้ปวดแล้วเพราะกินยาแล้วมันทำให้ปวดท้อง ยายจะออกกำลังกายยืดเส้นตามที่หมอบอกนะ แล้วคุณยายก็ชวนดิฉันคุยตลอดเวลาที่ฉันกำลังพิมพ์ประวัติ คุณยายถามว่าการนัดมาครั้งหน้ายายจะได้เจอหมอมั้ย หมออย่าย้ายไปไหนนะ  

คำว่า no pain no gain สำหรับที่โรงพยาบาลนี้แล้ว ทีมแพทย์พี่เลี้ยงไม่เคยทำให้เกิดความรู้สึกอยากเรียนรู้ เพราะถูกกดดันจนเสียใจเลย พี่สอนให้ทำในสิ่งที่เราอยากทำและควรทำเป็น ดิฉันได้เรียนรู้ผ่านการกระทำของพี่ๆ จนดิฉันเชื่อว่าความซึ้งใจ (passion) ที่มาจากข้างในที่อยากทำดีเพื่อคนไข้มีอยู่จริง

อย่างเช่นวันนี้ ดิฉันได้ทำการเจาะดูดน้ำในช่องท้อง (abdominal paracentesis) โดยมีพี่หมอช่วยคุมและสอนเทคนิคการปลดเข็มมือเดียวอย่างปลอดภัยและการเตรียมชุดเครื่องมือทำหัตถการแบบไม่มีผู้ช่วยที่ดิฉันต้องทำให้ได้เองในชีวิตจริง พี่ให้ข้อคิดว่าไม่มีใครทำคล่องในครั้งแรก การอ่านหนังสือก็เปรียบเสมือนการเดินทางรูปแบบหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันประสบการณ์ที่ได้จากการลงมือทำจริงจะคอยๆ สั่งสมเป็นทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริงซึ่งสำคัญต่อการทำงานเป็นแพทย์ในอนาคตเหมือนกับคำกล่าวที่ว่า Practice makes perfect (ฝึกฝนจนชำนาญ).

………………………………
คอลัมน์ : เวทีชวนคิด
โดย : ชวนคิด