การปราบปรามอาชญากรรมอย่างเด็ดขาดของบูเคเลในเอลซัลวาดอร์ ซึ่งเคยเป็นประเทศที่มีความรุนแรงมากที่สุดในซีกโลกตะวันตก นำไปสู่การจับกุมและการคุมขังผู้ต้องหาประมาณ 87,000 คน โดยมักจะแทบไม่ดำเนินกระบวนการทางกฎหมาย
แม้รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ปกป้องความเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงของแก๊งอาชญากรทั่วประเทศที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ฝ่ายต่อต้านกล่าวหาว่า การกระทำของรัฐบาลแลกมาซึ่งการจำคุกคนจำนวนมาก และการบ่อนทำลายเสรีภาพพลเมือง
นายฮวน ปัปปิเยร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายลาตินอเมริกาขององค์กรสิทธิมนุษยชน “ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์” (เอชอาร์ดับเบิลยู) กล่าวว่า ช่วงเวลา 6 ปีที่บูเคเลดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แสดงให้เห็นถึงอำนาจมหาศาลในมือของเขา ซึ่งการปกครองของบูเคเลตั้งอยู่บนพื้นฐานของการทำลายถ่วงดุลของประชาธิปไตย และยกระดับความพยายามในการปิดปากและข่มขู่ผู้วิจารณ์
การลดลงของอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับแก๊งอาชญากรในเอลซัลวาดอร์ ทำให้บูเคเลได้รับความนิยมอย่างมาก จนถึงขั้นที่เขาได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำประเทศอีกครั้ง “อย่างถล่มทลาย” เมื่อปีที่แล้ว แม้รัฐธรรมนูญของเอลซัลวาดอร์ห้ามผู้ใดดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองก็ตาม
นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 เอลซัลวาดอร์ตกอยู่ภายใต้ “สภาวะยกเว้น” ที่ระงับสิทธิตามรัฐธรรมนูญหลายประการ โดยประชาชนจำนวนมากในกรุงซานซัลวาดอร์กล่าวว่า ตอนนี้พวกเขารู้สึกปลอดภัยในการเดินผ่านย่านที่เคยถือว่า “อันตราย” ซึ่งแม้พวกเขายอมรับว่า ประเทศมีผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นอย่างมาก และการระงับสิทธิ แต่ผู้สนับสนุนของบูเคเลเชื่อว่า สันติภาพและความมั่นคงที่ได้มา คุ้มค่ากับการแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม ชาวเอลซัลวาดอร์ไม่ได้เห็นด้วยเหมือนกันหมดทุกคน เนื่องจากมีรายงานว่า ผู้ต้องสงสัยหลายพันคนถูกจับกุม ทั้งที่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าพวกเขามีความเกี่ยวข้องกับแก๊งอาชญากร ซึ่งก่อนหน้านี้ บูเคเลยอมรับว่าผู้บริสุทธิ์บางคนถูกควบคุมตัวเพราะ “ความผิดพลาด” แต่เขากล่าวว่ามีผู้ได้รับการปล่อยตัวแล้วหลายพันคน
อนึ่ง บูเคเลแสดงตนเป็น “ผู้นำด้านกฎหมายและระเบียบ” แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็เผชิญกับข้อกล่าวหาต่าง ๆ มาอย่างยาวนาน ว่าเขาเจรจาสถานการณ์ความมั่นคงที่สงบสุขในเอลซัลวาดอร์ ผ่านการตกลงอย่างลับ ๆ กับแก๊งอาชญากร ซึ่งบูเคเลยืนกรานปฏิเสธมาโดยตลอดว่า “มันเป็นเรื่องโกหกอย่างเห็นได้ชัด”
จริงอยู่ที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มแสดงความไม่พอใจมากขึ้น แต่ระบบการลงโทษที่เข้มงวดของบูเคเล กลับทำให้เขาได้รับความนิยม แม้แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ก็ชื่นชมการปราบปรามในเอลซัลวาดอร์ และบรรลุข้อตกลงกับบูเคเล ในการคุมขังผู้ถูกเนรเทศชาวเวเนซุเอลาหลายร้อยคน ที่ศูนย์กักขังผู้ก่อการร้ายของเอลซัลวาดอร์ ร่วมกับนักโทษชาวเอลซัลวาดอร์อีกหลายพันคน.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP