เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ได้กระโดดลงมาเป็นคนสาธารณะ แสดงความเห็นเรื่องเศรษฐกิจและสังคม ผ่านช่องทาง “ทวิตเตอร์” ทำให้มีคนติดตามจำนวนมาก เขาคนนั้นคือ นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ผู้มีประสบการณ์ในแวดวงอสังหาฯ มาเกือบ 40 ปี

ไม่ได้อยากเป็นนายกฯ – ไม่หิวแสง!

นายเศรษฐาบอกกับทีมข่าว “1/4 Special Report” ว่าหลายคนเข้าใจว่าตนพูดมากเพราะอยากเป็นนายกรัฐมนตรี อยากเป็นรัฐมนตรี แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้อยากเป็นอะไรเลย ไม่ได้หิวแสง ไม่ได้ต้องการพื้นที่สื่อฯ เพราะชีวิตทุกวันนี้มีกินมีใช้และสุขสบายมากด้วย แต่ปีหน้าอายุถึง 60 ปีแล้ว และเชื่อว่าตนมีประสบการณ์พอสมควร ดังนั้นจึงมีการเสนอแนะอะไรออกไปบ้างทางโลกโซเชียล บนพื้นฐานของการระมัดระวังคำพูด โดยมีเส้นแบ่งอย่างชัดเจนระหว่างความตรงไปตรงมา แต่ไม่ก้าวร้าวหยาบคาย ไม่ได้ต้องการ “ด้อยค่า-ด้อยคุณภาพ” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ในสายตาสาธารณะ

แต่คำพูดที่เสนอออกไปเพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้บ้าง เช่นเสนอไป 20 รัฐบาลนำไปใช้แค่ 2 พอแล้ว! หรือไม่นำไปใช้เลยก็ได้ ไม่เป็นไร เพราะตนไม่ได้อยู่ในสถานะนักการเมือง แค่อยากให้รู้ว่านี่คือความปรารถนาดี ไม่ได้ทำให้ใครด้อยคุณภาพ! แต่คุณอย่าลืมว่าธุรกิจอสังหาฯเป็นเซ็คเตอร์ใหญ่เกี่ยวพันกับหลายธุรกิจ มีความสำคัญกับ“จีดีพี”ประเทศ แล้วนี่คือมุมมองนักธุรกิจอสังหาฯรายใหญ่ บางปี “แสนสิริ” มีรายได้เป็นเบอร์ 1 บางปีเป็นเบอร์ 2-3-4 หมุนเวียนกันอยู่แบบนี้

ถามว่าธุรกิจบริษัทเหนื่อยหรือเปล่า? ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ถ้าเปรียบเทียบกับบริษัทอื่น ๆ แสนสิริไม่เหนื่อยนะ อาจเป็นเพราะผ่านสถานการณ์หนัก ๆ มาพอสมควร ผ่านความยากลำบากช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง (ปี 40) ซึ่งตอนนั้นยังหนุ่มประสบการณ์น้อย เมื่อเจอต้มยำกุ้งจึงลำบากมาก ส่วนปี 63-64 เหนื่อยเหมือนกัน แต่คนทั้งประเทศเขาลำบากสาหัสกว่าเรา ขนาดแม่ของตนอายุ 90 ปีแล้ว ยังเอ่ยปากว่าเหนื่อยเพราะมีโควิด-19 เกือบ 2 ปียังไม่จบ และมีคนเสียชีวิตมากด้วย

วิกฤติใหญ่ “เหลื่อมล้ำการเมืองสังคม

สรุปว่าธุรกิจไม่ได้เหนื่อยเหมือนผู้ประกอบการรายอื่น เนื่องจากเราบริหารจัดการได้เร็วก่อนโควิด-19 มาเยือนประเทศไทย จากการได้กลิ่นเศรษฐกิจไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ทั้งตัวเลขจีดีพี ปัญหาหนี้สาธารณะ ความเข้มงวดของธนาคาร เราจับชีพจรได้ว่ามันจะแย่ ดังนั้นจึงมีการวางแผนบริหารจัดการรับมือกับปัญหา คือ 1.ไม่กู้เยอะ 2.บริหารสต๊อก 3.บริหารการขาย ถ้ามีของต้องรีบขายออกไป กำไรน้อยก็ต้องรีบขาย ให้ได้เงินสดเข้ามา หนี้ก็ลดลง ปีที่แล้วจึงมียอดขาย 3.48 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูง แต่กำไรก็ต่ำมาก ๆ แค่ 1.67 พันล้านบาท ทั้งที่ยอดขายสูงขนาดนั้น ควรได้กำไร 3-4 พันล้านบาท

“ถือว่าเป็นความโชคดีที่แสนสิริผ่านวิกฤติมาพอสมควร และประสบการณ์ในการสร้างแบรนด์มานาน แม้จะมีโควิด-19 แต่เรามีกระแสเงินสดในธนาคาร 1.7 หมื่นล้านบาท มีที่ดินเปล่ายังไม่ได้พัฒนาอีกพอสมควร คืออยู่ได้อย่างสบายใจ คุณก็รู้คนทำธุรกิจถ้าไม่มีเงินสดจะอยู่อย่างไร? ถ้าต้องจ่ายเงินเดือนลูกน้อง 4,000 คน เราจึงเอาความแข็งแกร่งที่มีไปช่วยลูกค้า ช่วยพนักงานกับครอบครัว ช่วยเหลือสังคม แจกสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น ซื้อวัคซีนแจกไป 3-4 หมื่นโด๊ส เหลือแต่ผู้ถือหุ้นช่วง 1-2 ปีนี้ อาจจะไม่แฮปปี้นัก เพราะได้รับผลตอบแทนน้อย แต่หลังจากนี้บริษัทต้องกลับมาดูแลผู้ถือหุ้นบ้าง”

นายเศรษฐากล่าวต่อไปว่าภาพรวมปี 63-64 ถือว่าเหนื่อยที่สุดในประวัติศาสตร์กันทั้งประเทศ จาก 3 ปัญหาใหญ่ คือ 1.เศรษฐกิจไม่ดี ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ คนรวยยิ่งรวยขึ้น แต่คนจนยังยากจนกันมากขึ้น ยากจนไม่พอแถม “ขมขื่น” ด้วย จากเรื่องวัคซีนโควิด-19 โอกาสในการเข้าถึงวัคซีนไม่เหมือนกัน มองย้อนกลับไป 6 เดือนที่แล้ว เวลาเจอหน้ากันไม่ได้ไถ่ถามกันเรื่องสุขสบาย แต่จะถามกันว่า “ฉีดวัคซีนหรือยัง” ใครฉีดก่อนก็ไปโพสต์ “อวดวัคซีน” บ้างก็โพสต์ “อวดรวย” ลงในโลกโซเชียล ตนมองว่าสภาพแบบนี้เป็น “สังคมพิกลพิการ” และที่สำคัญสถิติการฆ่าตัวตายก็สูงด้วย

2.ปัญหาทางการเมือง การบริหารจัดการเศรษฐกิจและโควิด-19 ซึ่งเห็น ๆ กันอยู่ และ 3.ปัญหาสังคม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากในปัจจุบัน โดยในอดีตอาจมีแค่ปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง แต่ปัจจุบันมีปัญหาสังคม ทั้งเรื่องความเห็นที่แตกต่าง ความเกลียดชัง การรักใคร ไม่ชอบใคร ความขัดแย้งทางความคิดระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่

ไม่ใช่นักการเมือง – แต่เป็นนักบริหาร

เมื่อเห็นปัญหาเหล่านี้ตนจึงออกมาเสนอแนะบ้าง เพราะคิดว่ามันเป็นหน้าที่  บางครั้งรู้สึกอิจฉา “เจ้าสัว” บางคนมีสิทธิพูด  ทั้งที่พูดแล้วจะมีนํ้าหนักมาก แต่ไม่ยอมพูดเพื่อเพื่อนร่วมชาติที่กำลังยากลำบาก ถ้าเจ้าสัวกลัวว่าออกมาพูดแล้วจะถูก“ลิดรอน”อะไรลงไป ก็ลองออกมาพูดพร้อมกัน 10 เจ้าสัวเลยสิ! ใครจะมีปัญญาไปรังแกเจ้าสัวได้

แต่ในทางกลับกันเสียงของ 10 เจ้าสัว จะมีพลังช่วยเพื่อนร่วมชาติได้มากขึ้น เพราะปีนี้ย่ำแย่สุด คงแย่มากกว่านี้ไม่ไหวแล้ว ปีหน้าเศรษฐกิจดีขึ้นแน่ เพราะปีนี้ฐานมันต่ำมาก สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าจีดีพีโต 2-3% แล้วคุณเรียกว่าเศรษฐกิจดีนะ! ถ้าเศรษฐกิจดีจริง ๆ จีดีพีต้องโต 5-7% ถ้าจีดีพีโต ธุรกิจอสังหาฯจะโตแบบก้าวกระโดด สมมุติจีดีพีโต 3% ธุรกิจอสังหาฯต้องโตถึง 5% เนื่องจากที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งสำคัญ เป็นปัจจัย 4 ของมนุษย์ ถ้าจีดีพีตก อสังหาฯก็ตก

แต่วันนี้มันไม่ใช่ เพราะคนส่วนใหญ่ลำบากกันหมด ลูกค้าระดับล่างสุดซื้อคอนโดฯ 9 แสนบาท แต่กู้ไม่ค่อยผ่าน เกษตรกรหลายสิบล้านคนเจอปัญหาราคาข้าวตกต่ำ แตงโม กก.ละ 2 บาท กะหล่ำปลีหัวละ 10 บาท จะปลูกกันทำไม?

“ผมยังไม่ใช่นักการเมือง บุคลิกยังไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนักบริหารที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งการมาสู่จุดนี้มีปัจจัยสำคัญ 2 เรื่อง คือ เป้าหมาย (Target) และเวลา (Timeline) ใครก็รู้ว่าผมเป็นคนง่าย ๆ เป็นกันเองกับพนักงาน และนัดง่ายไม่ต้องผ่านเลขาฯ 2-3 คน ออฟฟิศแสนสิริไม่ได้สวยที่สุด แต่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ใครจะเอาสุนัขมาเลี้ยงก็ได้ คือเราวัดกันด้วยผลงาน แต่ถ้าจะไปบริหารงานการเมือง คนเป็นหัวหน้าพรรคต้องมานั่งที่ล็อบบี้เพื่อรับเรื่องของ ส.ส.ที่ไปรับฟังปัญหามาจากชาวบ้าน ถ้าเป็นรัฐบาลก็เปิดทำเนียบรัฐบาลเป็นล็อบบี้ให้แต่ละกระทรวงส่งคนที่รู้เรื่องมาตั้งโต๊ะรับฟังปัญหาประชาชนทุกวัน อาจจะต้องลดงานตัดริบบิ้น งดการประชุมสัมมนาออกไปวันละ 2-3 ชั่วโมง แล้วนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหมุนเวียนกันมาดู มารับฟังปัญหาโดยตรงว่าทำไมผักชีจึงแพง คือเราต้องลดขั้นตอนลง แต่เน้นที่ผลงานเป็นหลัก”

เที่ยวหน้าแข่งกันเรื่องแก้ปัญหา “ปากท้อง”

ปกติเรามี “เกษตรจังหวัด” ก็ให้เกษตรจังหวัดทำแผนรับมือผลผลิตการเกษตรหลัก ๆ 5 ชนิดมีอะไรบ้าง เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วลิสง และแตงโม ส่วนพืชรอง ๆ ต้องบริหารจัดการด้วยนะ! เกษตรจังหวัดควรมีแผนบริหารจัดการล่วงหน้า อย่าให้มีการประท้วงเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ รัฐจะช่วยอุดหนุนในรูปแบบไหนนั่นอีกเรื่อง สหรัฐอเมริกาก็มีการจุนเจือเวลาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่ต้องบริหารจัดการกันก่อนที่ปัญหาจะเกิดแล้วไปตามแก้ไขกันภายหลัง ซึ่งไม่ถูกต้อง

ยกตัวอย่างชาวนาไทยปลูกข้าวได้ 400-500 กก./ไร่ แต่จีนได้ผลผลิตต่อไร่มากกว่าเรา 4 เท่า ทำไมยางพาราบ้านเราได้นํ้ายาง/ต้น/ไร่ น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเรามีแต่ต้นยางพาราอายุมาก ๆ หรือเปล่า? ถ้าราคาข้าวเปลือกถูก แต่ข้าวสารแพงไป แสดงว่ามีปัญหาระหว่างทาง คุณต้องไปคุยกับพ่อค้าคนกลาง ที่พูดมาทั้งหมดไม่ได้อยากเป็นนายกฯ แต่รัฐบาลสามารถทำแบบนี้ได้ ควรลดขั้นตอนลง ไม่ต้องใส่สูท ผูกไททั้งวัน ช่วงไหนไม่มีแขกสำคัญก็ใส่เสื้อยืด นุ่งกางเกงวอร์มออกมารับฟังปัญหาโดยตรง ประเทศจะก้าวหน้าไปไกลกว่านี้

“โดยส่วนตัวมองว่าการเลือกตั้งเที่ยวหน้า พรรคการเมืองต้องแข่งขันกัน 3 เรื่อง คือ 1.การแก้ปัญหาเรื่องรายได้และปากท้อง ไม่ใช่ปากท้องของเจ้าสัวนะ! 2.ความมั่นใจเรื่องสุขภาพ-สาธารณสุข และ 3.การแก้ปัญหาสังคม ความแตกแยกเกลียดชัง จะแก้ปัญหาชู 3 นิ้วอย่างไร? นี่คือเรื่องใหญ่ของสังคมไทย แต่พรรคไหนจะแลนด์สไลด์! มันอยู่ที่การแก้ปัญหาปากท้องง่าย ๆ ได้หรือไม่ มีความแน่วแน่ และเห็นความสำคัญเรื่องปากท้องของประชาชนมากแค่ไหน”

เมื่อถามว่าจะตัดสินใจเรื่องการเมืองอย่างไร? นายเศรษฐาตอบว่ายืนยันไม่ได้อยากเป็นนายกฯ และยังไม่มีใครมาชวนให้เข้าวงการ แต่ที่ออกมาพูดมากเพื่อให้จีดีพีโต! สำหรับเรื่องการเมืองนั้น แค่ปัจจัยส่วนตัวก็ตอบยากมาก เพราะชอบไปดูฟุตบอลอังกฤษครั้งละ 7-8 แมตช์ คืนนี้สังสรรค์กับพวกนอนตี 2 ตื่นนอน 9 โมงเช้า ถ้าเป็นนายกฯ ทำได้หรือเปล่า? หรือว่าไม่ชอบ ส.ส.คนหนึ่ง แต่ต้องฝืนยิ้มยกมือไหว้ทักทาย ต้องนั่งใต้ถุนพรรคเพื่อรับฟังปัญหา ส.ส.คนโน้นเป็นเด็กคนนี้ ส.ส.คนนี้เป็นเด็กของคนนั้นเต็มไปหมด และอื่น ๆ มากมาย ซึ่งอาจจะไม่ชอบ แต่ต้องเจอกับมัน เรารับสภาพได้หรือไม่?

ดังนั้นจึงเป็นอะไรที่ตอบยาก แม้ว่าจะเคยคิดเล่นการเมืองเหมือนกัน แต่พอมาถึงจุดนี้มีคนถามกันมาก จึงขอให้เป็นเรื่องอนาคตดีกว่า เพราะถ้าตัดสินใจอะไรออกไป ก็ต้องรับได้กับหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่ชอบ นี่คือปัญหาใหญ่.