ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลกนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าล้วนแต่มาจากความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ทั้งสิ้น ซึ่ง “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ “สภาวะโลกร้อน” ก็คือหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่โลกของเรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันนี้

ประเทศไทย ในฐานะเป็นหนึ่งในสมาชิกองค์การสหประชาติ (ยูเอ็น) และผู้เข้าร่วมข้อตกลงปารีส เมื่อปี 2015 นั้น ทาง พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้เดินทางไปร่วมประชุมงานสุดยอดแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ ค็อป26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน พร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญของโลกอย่างเต็มที่

ถามว่า ปัญหาสภาวะโลกร้อน เกี่ยวข้องอย่างไรกับวงการกีฬา ตอบก็คือมันเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน เพราะเป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน เพราะการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคนนั้น มีความเกี่ยวข้องและทำให้เกิดปัญหานี้โดยตรง ทั้งที่ตั้งใจและทั้งที่ไม่รู้ตัว

โธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า ไอโอซี พร้อมที่จะเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการช่วยแก้วิกฤติสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยระบุว่า ไอโอซี มีความยินดีที่จะสนับสนุนแนวคิดของนักกีฬาทุกคน ที่ช่วยกันรณรงค์แก้ปัญหาในเรื่องนี้

พร้อมกับยกตัวอย่างของ “ฮานนาห์ มิลส์” แชมป์เรือใบชาวอังกฤษ ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เป็นอย่างมาก รวมถึงก่อนหน้านี้ เธอยังได้รณรงค์การงดใช้พลาสติกมาแล้วด้วย ซึ่ง ประธานไอโอซี ยืนยันว่า ไอโอซี พร้อมช่วยให้นักกีฬาโอลิมปิก ใช้เสียงอันทรงพลังของพวกเขา สร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน

ขณะที่ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์หญิงของไทย กล่าวเสริมว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่มนุษยชาติ เคยเผชิญมา และ ไอโอซี ภูมิใจที่ได้เป็นผู้นำในการตอบสนองต่อวิกฤติครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกระบวนการโอลิมปิก โดยความมุ่งมั่นล่าสุดของเราคือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ลง 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 ซึ่งถือว่ากีฬามีพลังในการทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นได้ และวันนี้เรามีโอกาสที่จะใช้พลังนี้ในการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

ไอโอซีนฐานะองค์กรกีฬาหมายเลข 1 ของโลก ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว พร้อมเริ่มนับหนึ่งที่จะเข้ามาร่วมแก้ปัญหาอย่างจริงจังแล้ว

กลับมาที่องค์กรกีฬาบ้านเราอย่าง การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. บ้าง เรื่องนี้ “บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า ทันทีที่นายกรัฐมนตรี กลับมาจากการประชุม “ค็อป26” แล้วนั้น ก็ได้มีนโยบายสำคัญคือให้เน้นในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ซึ่งกระทรวงต่างๆ ก็ขานรับทันที

ในส่วนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เรื่องของการท่องเที่ยว ได้เตรียมการปฏิบัติแล้ว ส่วนกีฬาก็พร้อมเช่นกัน โดย กกท. เตรียมแผนงานครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นที่มาของ “โครงการการจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬา ภายใต้กรอบแนวคิดกีฬาสีขาว” มีรูปแบบจัดการกีฬาบนพื้นฐานสิ่งแวดล้อมศึกษา ที่ตอบสนองต่อแนวคิด BCG Economy ในประเทศไทย”

สำหรับ BCG คือ โมเดลเศรษฐกิจ เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะดึงเศรษฐกิจ ทั้ง 3 มิติไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ 1 เศรษฐกิจชีวภาพ อันจะนำความรู้ด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้เพื่อให้ได้ ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงสุดและคุ้มค่า 2 เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มุ่งลดของเสียและการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการนำกลับมาสร้างคุณค่าใช้ใหม่ และ 3 เศรษฐกิจสีเขียว ที่คำนึงถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ธรรมชาติ

“กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้นำแนวคิด BCG Model มาเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการการท่องเที่ยวและกีฬาสีขาว เพื่อผลักดันให้มีผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกีฬาไทย สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วยเป้าหมาย สะดวก ปลอดภัย เป็นธรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” บิ๊กก้อง น้ำ

โครงการดังกล่าวถือเป็นแนวทางของโลกยุคใหม่ ที่เน้นตระหนักความสำคัญการกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในอนาคตการคัดเลือกประเทศเจ้าภาพกีฬาระดับโลก อาทิ โอลิมปิกเกมส์ จำเป็นต้องนำเสนอกรอบแนวคิดการนำทรัพยากรกลับมาใช้อย่างคุ้มค่า เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน มากกว่าการลงทุนก่อสร้างอย่างสิ้นเปลือง จนกลายเป็นภาระหนี้สินของประเทศเจ้าภาพ การจัดกิจกรรมกีฬาต่างๆ ทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดมลพิษต่อชุมชน รวมทั้งตัวนักกีฬาเอง หรือประชาชนคนทั่วไปออกกำลังกาย จะได้ไม่ต้องซึบซับอากาศเป็นพิษเหล่านั้นเข้าไป นี่เป็นส่วนที่การกีฬาจะต้องหันมาให้ความสำคัญปฏิรูปวงการให้เป็นสีขาวเพื่อสังคม

นายใหญ่ค่ายหัวหมาก กล่าวเสริมอีกว่า แผนกลยุทธ์ขับเคลื่อนของโครงการการท่องเที่ยวและกีฬาสีขาวนั้นพัฒนาขึ้นภายใต้กรอบแนวคิดสำคัญ 3 ประการ คือ 1 การมีบทบาทอย่างเข้มแข็งตามแรวทางการท่องเที่ยวสีขาว เพื่อการท่องเที่ยวที่ยังยืน 2 การเป็นผู้นำส่งเสริมให้มีการลดของเสีย ในภาคการท่องเที่ยวด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG และ 3 สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญ

“เราจะเห็นว่าการจัดกิจกรรมกีฬา มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร เป็นที่ทราบกันดีว่ากิจกรรมกีฬาย่อมมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งในไทยมีกีฬาระดับท้องถิ่นและนานาชาติต่อเนื่องมากมาย ซึ่งมักมีการทิ้งขยะ ขวดน้ำพลาสติก กล่องโฟมบรรจุอาหาร ฯลฯ เกิดปริมาณขยะและน้ำเสียในการชำระล้าง หากถูกปล่อยทิ้งอย่างไม่ถูกต้องตามหลักการรักษาสภาพแวดล้อม เหตุนี้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จึงมีนโยบายหลักๆ อาทิ ดำเนินการจัดการแข่งขันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทุกรายการ รณรงค์กำจัดวัสดุย่อยสลายยาก ฯลฯ ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิง รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมใช้พลังงานทดแทน หารือกับชุมชน ยื่นขอจัดการแข่งขัน ที่ให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนน้อยที่สุด มาตรการเหล่านี้เป็นจุดมุ่งหมายเพื่อเน้นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม”

กีฬาสีขาว” เป็นอีกหนึ่งไอเดียกีฬาของ “บิ๊กก้อง” ที่น่าจะเป็น “ต้นแบบ” ขององค์กรอื่นๆ แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกีฬา แต่ทว่าสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนให้เป็นรูปเป็นร่างเสียที เพราะถ้าไม่เริ่มบิ๊กคลีนนิ่งล้างโลกให้สะอาดกันตั้งแต่วันนี้ ในวันข้างหน้าลูกหลานของเราจะเดือดร้อนกันอย่างหนักอย่างแน่นอน

วอน อ่อนวงค์