ตั้งแต่หลังรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ มาใกล้จะเกือบ 1 เดือนเต็ม ปัญหาของแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านยังคงลักลอบเข้ามาไทยตามแนวตะเข็บชายแดน เส้นทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าถูกจับกุมเพื่อผลักดันออกแทบจะรายวัน

ทำให้หลาย ๆ ฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามระดมสมองเพื่อหาทางออกเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเสวนาออนไลน์ “สถานการณ์การเมือง และเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้าน, วงจรการค้ามนุษย์ในประเทศไทยอย่างไรและแนวนโยบายบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติหลังเปิดประเทศไทยในสถานการณ์โควิด- 19” โดยศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านการย้ายถิ่นแห่งเอเชียสถาบันเอเชียศึกษาจุฬาฯ ร่วมกับ  มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้ง ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง รวมถึง กรมการจัดหางาน มาร่วมให้มุมมองถึงสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน และปัญหาต่าง ๆ ของแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย

ขณะเดียวกัน ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ มองว่ามีการพยายามแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวในช่วงโควิด โดยในระยะ 2 ปี มีการเสนอกฎหมายถึง 13 ฉบับ บางฉบับเป็นไปเพื่อขยายเวลาในด้านต่าง ๆ ของแรงงานต่างด้าว แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้สักฉบับเดียว และเท่าที่ทราบยังไม่ค่อยมีตัวแทนของแรงงานต่างด้าวหรือผู้ประกอบการรายย่อย ที่เป็นนายจ้างเข้าไปนำเสนอความเห็นในการออกกฎหมายควบคุม

นายสุรพงษ์ กองจันทึ

เสนอ 7 แนวทางแก้ไขทั้งระบบ

ทีมข่าว 1/4 Special Report ยังเกาะติดปัญหานี้พูดคุยกับ นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ พยายามออกมาเรียกร้องให้รัฐเร่งแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และเสนอนโยบายและ มาตรการการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ 7 ประการ เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบ หลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้กิจการทั้งใหญ่และเล็กจำนวนมากต้องปิดตัวลง ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง เนื่องจากไม่มีงานให้ทำและไม่มีที่อยู่ในประเทศไทย กระทั่งรัฐประกาศผ่อนปรนเปิดประเทศทำให้ธุรกิจเริ่มกลับมาสามารถประกอบกิจการได้ภายใต้เงื่อนไข ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก หลั่งไหลกลับเข้ามาตลอด ส่วนใหญ่ลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎมาย

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ธุรกิจจำนวนมากทั้งใหญ่และเล็กต้องการแรงงานข้ามชาติ ดังนั้นเมื่อรัฐสนับสนุนให้ธุรกิจขับเคลื่อน จำต้องให้มีแรงงานเข้ามารองรับด้วย  การที่จะให้เฉพาะนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ แต่ไม่ให้แรงงานเข้ามาอย่างถูกต้อง ทำให้แรงงานข้ามชาติต้องเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งไปเอื้อต่อขบวนการค้าแรงงานหรือขนแรงงานที่ผิดกฎหมาย รัฐจึงต้องเร่งให้มีการเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายสำหรับแรงงานข้ามชาติโดยด่วน เพื่อสามารถตรวจสอบ ป้องกัน และดูแลแรงงานเหล่านี้ได้ ทั้งเรื่องของการทำงานและการป้องกันโควิด-19

การที่รัฐมีนโยบายจะให้มีการนำเข้าผ่าน MOU ถือเป็นการดี แต่กระบวนการยุ่งยากและยาวนานที่สำคัญจะได้แรงงานไม่มากนัก ทั้งไม่สอดคล้องกับธุรกิจขนาดเล็ก จึงควรมีการผ่อนปรนให้เข้ามาโดยวิธีอื่น เพื่อให้ทันต่อความต้องการของธุรกิจ และการทำให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ค่าใช้จ่ายต่าง ๆต้องมีราคาไม่แพง รวดเร็วปลอดภัย เพราะหากมีราคาแพง ใช้เวลานาน ยิ่งจะทำให้แรงงานตัดสินใจเสี่ยงไปใช้บริการขนคนเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายดังที่เป็นปัญหาในช่วงนี้

แนะตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนและคณะได้ศึกษามีข้อเสนอนโยบายและมาตรการต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ ดังนี้ 1.รัฐต้องจัดให้มีการจดทะเบียนและการขอขึ้นใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติอย่างทั่วถึง เข้าถึง และเป็นธรรม  โดยเปิดให้จดทะเบียนผ่อนผันทุกปีและตลอดทั้งปี  จัดให้มีแบบขอจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามในเอกสารชุดเดียวกันและมีคำแปลในภาษาของแรงงานข้ามชาติ  จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One-stop service)ที่แท้จริง กล่าวคือ จดทะเบียน ตรวจโรค และขอใบอนุญาตทำงานในสถานที่เดียวกัน สามารถออกบัตรประจำตัวและใบอนุญาตทำงานภายในหนึ่งวัน อีกทั้งกำหนดให้นายจ้างเป็นผู้ออกค่าคำขอและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน 2. รัฐต้องให้การพิสูจน์สัญชาติของแรงงานข้ามชาติเป็นการพิสูจน์สัญชาติที่แท้จริง ทั่วถึงและปลอดภัย โดยเจรจาและทำข้อตกลงกับรัฐบาลประเทศต้นทางในเรื่องการพิสูจน์สัญชาติ ที่คำนึงถึงความปลอดภัยและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รับรองความเป็นพลเมือง โดยเพิ่มชื่อในระบบทะเบียนราษฎร ออกบัตรประจำตัวประชาชน และรับรองสิทธิพลเมืองตามกฎหมาย ตลอดจนการพิสูจน์สัญชาติผู้ติดตามทุกคน

3.รัฐต้องแก้ไขกฎหมายให้เกณฑ์อายุขั้นต่ำของแรงงานเป็น 18 ปี พร้อมทั้งป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานเด็กอย่างจริงจัง  โดยยกเลิกกฎกระทรวงที่อนุญาตให้มีการใช้แรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีได้ในบางกิจการ และแก้ไขกฎหมายให้เกณฑ์อายุขั้นต่ำสุดของแรงงานคือ 18 ปี  รวมถึงมีมาตรการอย่างเข้มงวดต่อเรื่องแรงงานเด็กและการละเมิดสิทธิเด็ก 4. รัฐต้องจัดการการศึกษาให้แก่ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่เป็นเด็กและต้องคุ้มครองสิทธิเด็ก โดยรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และทำให้การศึกษาถ้วนหน้าโดยไม่เลือกปฏิบัติเป็นจริง ให้นักเรียนสามารถเดินทางไปเรียนหนังสือได้อย่างปลอดภัยไม่ถูกจับ  จัดให้มีหลักสูตรที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม สังคม และเอกลักษ์ณของเด็ก

5.รัฐต้องขจัด ขบวนการนำพา ขบวนการนายหน้า และขบวนการค้ามนุษย์ในแรงงานข้ามชาติ  โดยเอาจริงเอาจังกับการตรวจสอบ ป้องกันปราบปราม และลงโทษ นายหน้า ผู้ประกอบการ ผู้สนับสนุน และเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด  ตลอดจนขจัดช่องทางที่ทำให้เกิดกระบวนการนายหน้าในการจดทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติ 6. รัฐต้องจัดให้แรงงานข้ามชาติ เปลี่ยนย้ายงานย้ายนายจ้างและเลือกทำงานอย่างเสรี โดยความสมัครใจของลูกจ้างและนายจ้าง และ 7. รัฐต้องรับรอง คุ้มครอง และทำให้เป็นจริง ในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิขั้นพื้นฐาน และสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของแรงงานข้ามชาติ โดยรณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานและกระบวนการยุติธรรมแก่แรงงานข้ามชาติ  ส่งเสริมสนับสนุนกลไกคุ้มครองสิทธิและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ตลอดจนให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิอาศัยชั่วคราวในระหว่างการเรียกร้องสิทธิและระหว่างกระบวนการยุติธรรม

เปิดแนวทางเสนอคณะรัฐมนตรี

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ตอนนี้ได้มีการสำรวจข้อมูลของนายจ้างทั่วประเทศถึงความต้องการในการจ้างแรงงานต่างด้าวตามระบบ MOU จนพบว่ามีความต้องการประมาณ 400,000 คน โดยกรมการจัดหางานได้นำเสนอ ศบค.ชุดเล็ก เพราะรูปแบบการนำเข้าแรงงานในช่วงโควิดจะต้องมีการกักตัว จึงมีการนำเสนอเป็น 3 รูปแบบคือ 1.แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาด้วยระบบ MOU ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม จะกักตัวบริเวณชายแดน 7 วัน 2.แรงงานต่างด้าวที่ฉีดเข็มเดียวต้องกักตัว 10 วัน และ 3.แรงงานที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนต้องกักตัว 14 วัน ซึ่งในระหว่างกักตัวจะมีการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง หลังครบการกักตัว ก่อนส่งแรงงานให้กับนายจ้างจะมีการฉีดวัคซีนให้กับทุกคน 

สำหรับค่าใช้จ่าย ทางหน่วยงานได้เสนอรูปแบบว่า ค่าใช้จ่ายเป็นหน้าที่ของนายจ้าง ส่วนค่าวัคซีนกระทรวงแรงงาน จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ และกระทรวงแรงงานจะให้แรงงานเหล่านั้นทำประกันสังคมไปพร้อมกันเลย หลังจากนั้นจะมีการส่งแรงงานไปยังสถานประกอบการ และมีการอบรมของเจ้าหน้าที่ที่สถานประกอบการ เพื่อไม่ให้มีการมาอบรมที่ศูนย์แรกรับเพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยแนวทางนี้จะมีการนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อรอการอนุมัติ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการกับแรงงานต่างด้าวในภาวะนี้