ใครจะไปคิดว่า เจ้าโควิด-19 จะกลับมาเขย่าขวัญ ช่วงกำลังใกล้จะสิ้นปี 2564 อีกระลอก เกือบทั้งปี วิกฤติโควิด-19 เล่นงานไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยจนอ่วมอรทัย ตั้งแต่ต้นปี ต้องผจญกับ โควิดกลายพันธุ์ ไล่ตั้งแต่ สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ B117) ตามด้วย เบตา (แอฟริกาใต้ B.1.351) และ เดลตา (อินเดีย B.1.617.2) ล่าสุดทั่วโลกกำลังหวั่นวิตกกับเจ้าเชื้อกลายพันธุ์ ’โอไมครอน“ ที่พบในพื้นที่ทวีปแอฟริกา

“8 ประเทศกลุ่มเสี่ยง” คือ 1.บอตสวานา 2.แอฟริกาใต้ 3.อีสวาตินี 4.เลโซโท 5.มาลาวี 6.โมซัมบิก 7.นามิเบีย และ 8.ซิมบับเว แม้ความรุนแรงของโรคยังไม่แน่ชัด แต่มีความสามารถทั้งแพร่กระจายรวดเร็วและยังหลบเลี่ยงวัคซีนได้ทำให้เริ่มมีบางประเทศตัดสินใจต้องปิดประเทศอีกครั้ง ส่วนประเทศไทยจะประกาศไม่อนุญาตให้ผู้ที่เดินทางมาจาก 8 ประเทศกลุ่มเสี่ยง จากทวีปแอฟริกาเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.

แต่ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ 15-27 พ.ย. มีผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกากว่า 700 คนเข้าประเทศไทย แยกเป็นมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงมากถึง 300 คน ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ต้องเร่งติดตามตัวกลุ่มบุคคลดังกล่าวมาตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้งเพื่อความปลอดภัย รวมถึงเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด กลายเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวอีกครั้ง เพราะในอาเซียนก็เริ่มตรวจพบเจ้าโอไมครอน กันบ้างแล้ว

ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ

เร่งหาจุดกลายพันธุ์เพื่อป้องกัน

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้พูดคุยกับแพทย์ที่เคยให้ข้อมูลเชื้อกลายพันธุ์มาต่อเนื่อง ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาด ไทย เปิดเผยว่า โควิด สายพันธุ์โอไมครอน  (Omicron) เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เจอในทวีปแอฟริกา โดยก่อนหน้านั้นมีการระบาดของสายพันธุ์เบตา ที่ปกติการระบาดจะไม่ได้แพร่กระจายเยอะ ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีการสุ่มตรวจคนที่ติดเชื้อโควิดเพื่อดูว่าสายพันธุ์มีการเปลี่ยนไปจากเดิม จนพบว่ามีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน โดยการค้นพบว่าเชื้อที่พบใหม่กลายพันธุ์อยู่กว่า 50 ตำแหน่ง แตกต่างจากสายพันธุ์เดิมที่เคยค้นพบมาก่อนหน้านี้

“อัตราการเจอผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน มีมากกว่าเดิมเป็น 10 เท่าในทวีปแอฟริกา จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา จากการตรวจดูสารพันธุกรรม จะเจอการกลายพันธุ์ในหลายตำแหน่ง สามารถแบ่งได้ว่าตำแหน่งที่นักวิจัยเคยค้นพบ และทำความเข้าใจมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงในรอบนี้ก็ทำให้ไวรัสเข้าไปจับกับเซลล์ของมนุษย์ได้ดียิ่งกว่าเดิม แตกตัวได้เร็วขึ้นจึงน่าจะทำให้แพร่กระจายได้ดีกว่าเดิม”

ขณะที่บางตำแหน่งที่มีการกลายพันธุ์ ก็เป็นตำแหน่งที่จะทำให้ไวรัสสามารถหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ หรือบางกรณีในคนที่ติดเชื้อแล้ว อาจมีภูมิคุ้มกันที่อยู่ตกค้างเมื่อหายแล้ว ทำให้ไม่ติดเชื้อได้ง่าย แต่สายพันธุ์โอไมครอน จะทำให้การติดเชื้อซ้ำได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม แต่ก็มีบางตำแหน่งที่กลายพันธุ์ แล้วนักวิจัยไม่เคยรู้จักมาก่อน ซึ่งในตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าการกลายพันธุ์ในจุดนั้นจะทำให้เชื้อไวรัสมีความรุนแรงเมื่อเข้าไปสู่ร่างกายได้อย่างไรบ้าง คาดว่าสัปดาห์หน้าจะมีการทดลองหาตำแหน่งที่ไม่เคยรู้จักในสายพันธุ์โอไมครอนว่า เมื่อมาทำเป็นไวรัสจำลองในห้องทดลอง ตำแหน่งเหล่านั้นจะส่งผลต่อมนุษย์อย่างไร แต่ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ตอนนี้ก็ยืนยันว่าจะไม่ทำให้เกิดอาการของโรคที่รุนแรงกว่าเดิม

ฉีดวัคซีนเร็วขึ้นในคนภูมิคุ้มกันตก

ผศ.นพ.โอภาส กล่าวว่า ตอนนี้โดยทั่วไปการฉีดวัคซีนยังช่วยป้องกันความรุนแรงในการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะวัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้ไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะสายพันธุ์เดลตา แต่สร้างภูมิเพื่อป้องกันสายพันธุ์อื่นได้ด้วย ถ้ามีการกระตุ้น ภูมิคุ้มกันได้มากพอ เรายังเชื่ออยู่ว่าแม้ไวรัสจะเก่งขึ้น ติดได้ง่ายขึ้น แต่ถ้ามีภูมิคุ้มกันของวัคซีนอยู่ จะทำให้ลดความรุนแรงของโรคได้ หรือหลาย ๆ ประเทศเริ่มที่จะปรับเปลี่ยนแผนการฉีดวัคซีน โดยให้ฉีดเข้มกระตุ้นเร็วขึ้น เช่น อังกฤษ ที่เคยกำหนดให้ฉีดเมื่อครบ 6 เดือน ตอนนี้ขยับเข้ามาเหลือ 3 เดือน เพราะถ้ายิ่งปล่อยไว้นานภูมิคุ้มกันจะตกลง

เท่าที่ตามดูในประเทศไทย คนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม โดยได้รับแอสตราเซเนกา เมื่อครบ 3 เดือนเต็ม ควรจะได้รับเข็มกระตุ้นใหม่เพราะหลายคนภูมิเริ่มตก ดังนั้นในไทยอาจต้องเปลี่ยนมาฉีดกระตุ้นเร็วขึ้น ในภาวะที่สายพันธุ์โอไมครอนมีการกลายพันธุ์ที่เก่งขึ้น แม้ยังไม่มีวัคซีนที่มาป้องกันสายพันธุ์นี้ แต่วัคซีนเก่าสามารถป้องกันได้ หากมีภูมิคุ้มกันที่มากพอในขณะนี้ เราต้องตามดูข้อมูลในแอฟริกาอย่างใกล้ชิด แม้ปัจจุบันยังไม่พบถึงความรุนแรงที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต เพราะปกติถ้าเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรง เราจะยังไม่เห็นความรุนแรงหลังการระบาดภายในสัปดาห์ หรือ 2 สัปดาห์แรก แต่จะเห็นผลใน 3–4 สัปดาห์หลังจากนี้ เหมือนกับคนที่เสียชีวิตจากโควิด จะเริ่มเห็นความรุนแรงหลังผ่านไป 3 สัปดาห์ ตอนนี้อาจบอกถึงความรุนแรงมากไม่ได้

แม้สายพันธุ์โอไมครอน จะติดได้ง่ายขึ้น แต่ก็ต้องแลกกับคุณสมบัติบางอย่างที่ด้อยไปจากเดิมด้วย ซึ่งอาการของคนที่ติดเชื้อยังไม่มีข้อมูลบ่งบอกว่าจะมีลักษณะอาการแตกต่างจากเดิม ดังนั้นอาการที่มีก็จะมีไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก และมีอาการจากทางเดินหายใจส่วนบนไม่แตกต่างจากเดลตา  การที่หลายคนแตกตื่นจากการที่มีชาวแอฟริกาเดินทางเข้ามาในไทย และกลัวจะเป็นพาหะของเชื้อสายพันธุ์ใหม่ การตามหานักเดินทางเหล่านั้นก็เป็นขั้นตอนที่จะตรวจสอบเพื่อควบคุมโรค เพราะตอนนี้เรายังไม่   รู้จักไวรัสชนิดนี้ได้ดีพอ

ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือ การซื้อเวลา ในการป้องกันคนที่จะมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เพราะหลาย ๆ ประเทศเพิ่งเริ่มเจอสายพันธุ์นี้ ซึ่งบางคนเชื่อว่ามีการแพร่กระจายไปบ้างแล้ว ก่อนที่จะมีการรายงานว่าพบสายพันธุ์ใหม่ เพราะเมื่อมีการรายงานพบในแอฟริกาก็อาจออกไปนอกประเทศสักระยะนึงแล้ว จึงไม่ต้องแปลกใจที่เริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลก

หนุนตรวจ ‘RT- PCR’ ช่วยคัดกรอง

ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยังมีมุมมองด้วยว่า ตอนนี้หลายบริษัทที่ผลิตวัคซีน เริ่มคิดค้นพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งเป็นแผนที่เตรียมไว้ เนื่องจากต่อไปโควิดจะมีลักษณะคล้ายไข้หวัด ที่มีการระบาดทุกปี เช่นเดียวกับ กลุ่มเสี่ยง ที่มีน้ำหนักเกิน และมีโรคประจำตัวก็จะต้องเพิ่มความระมัดระวัง รวมถึงคนที่ฉีดวัคซีนแล้วภูมิคุ้มกันตก อาจจะต้องได้รับวัคซีนที่เป็นเข็มกระตุ้นก่อน ซึ่งในช่วงนี้ยังคงต้องใส่หน้ากาก ล้างมืออยู่บ่อย ๆ และรักษาระยะห่างกันอยู่เช่นเดิม

สำหรับการใช้ชุดตรวจเพื่อหาเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน ถ้าเป็น ชุดตรวจแบบ RT-PCR ( Real Time Polymerase Chain Reaction) การ Swab เก็บตัวอย่างเชื้อบริเวณลำคอ และหลังโพรงจมูก การตรวจหาเชื้อโดยดูจากสารพันธุ์กรรมฯ สามารถตรวจได้พบ แต่ถ้าเป็น ชุดตรวจแบบ ATK (Antigen Test Kit) การตรวจหาเชื้อแบบเร่งด่วน ATK ของบางยี่ห้อก็อาจตรวจไม่พบ ขณะที่ประเด็นที่หลายคนกังวลว่า จะต้องปิดประเทศอีกรอบ อาจจะต้องมาคิดทบทวนและดูสถานการณ์ในหลายปัจจัย เพราะถ้าประชากรมีการฉีดวัคซีนที่เพียงพอ หรือสายพันธุ์นี้แม้จะติดง่าย แต่ความรุนแรงของโรคไม่ได้หนักขึ้น แต่เราก็ต้องรักษาระยะห่าง เพื่อให้เปิดประเทศได้อย่างปลอดภัย.