ปัญหาคดียาเสพติดในไทยถือเป็นประเด็นใหญ่ ที่ยังหาแนวทางแก้ไขในเชิงกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมา ผู้ต้องหาคดียาเสพติดมีมากจนล้นคุก และเกิดคำถามถึงการเปิดโอกาสให้กับ ผู้หลงผิด ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 64 ได้มีประกาศกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด 2 ฉบับใหม่ โดยมีผลบังคับใช้ วันที่ 9 ธ.ค. 64

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้ร่วมรับฟัง เสวนา ประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ : ประชาชนได้อะไร คดียาเสพติดจะลดลงหรือไม่? จัดโดย ศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจ และหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ นายอุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้จัดการโครงการการสนับสนุนงานด้านหลักนิติธรรม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ มุ่งเน้นแก้ปัญหายาเสพติดที่เรื้อรังมานาน และสร้างกระบวนการฟื้นฟูให้ทันยุคสมัยมากขึ้น ที่ผ่านมาจะเห็นว่า มีบทลงโทษที่รุนแรง โดยเฉพาะการจำคุกผู้ต้องหา แต่ผ่านมา 10–20 ปี ยังแก้ปัญหายาเสพติดไม่ได้ ขณะเดียวกันจำนวนผู้ต้องขังในคดียาเสพติดก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

นายอุกฤษฏ์ ศรพรหม

ยอดผู้ต้องขังยาเสพติดพุ่ง 131%

ถ้ามองสถิติของกรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 64 มีจำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดในการควบคุม กว่า 1 แสนคน เฉลี่ยกว่า 66% ของจำนวนนักโทษจากเรือนจำทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังมีผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างกระบวนการสอบสวนสืบสวนกว่า 4 หมื่นราย คิดเป็น 15% ถ้านับรวมผู้ที่ถูกควบคุมตัวจากคดียาเสพติดทั้งหมดกว่า 2 แสนราย นี่ถือเป็นภาระหนักที่หน่วยงานรัฐจะต้องดูแล และบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขัง ให้กลับคืนสังคมโดยจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก ด้วยจำนวนนักโทษคดียาเสพติดที่มากขึ้น ย่อมส่งผลต่อกระบวนการบำบัดและสร้างจิตสำนึกให้กับผู้ต้องหา ซึ่งถ้าเรามีกระบวนการจัดการผู้ต้องขังในคดียาเสพติด ที่มากกว่า 80% ในเรือนจำได้ จะเหลือผู้ต้องขังในคดีอื่น ๆ อยู่แค่ 20% และจะทำให้เจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น

สถิตินี้สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดบางอย่างอาจจะมีปัญหา เพราะไม่ได้หมายความว่า จับกุมเยอะจะมีประสิทธิภาพ หรือการมีผู้ต้องขังคดียาเสพติดเยอะจะทำให้แก้ปัญหา ซึ่งจากสถิติตั้งแต่ปี 2551 มาจนถึงปีนี้ มีจำนวนผู้ต้องขังจากคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นกว่า 131%” 

แม้ไทยมีงบประมาณในการดูแลผู้ต้องขังและปราบปรามยาเสพติดที่มากเพียงใด แต่จากสถิติของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541–2562 ระบุว่า ไทยมีปริมาณยาเสพติดและการจับกุมเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด และเป็นอันดับ 2 จากการจัดอันดับประเทศที่มียาเสพติดมากที่สุด โดยเฉพาะ “ยาบ้า” ส่วนอันดับ 1 คือ สหรัฐอเมริกา และอันดับ 3 เม็กซิโก สำหรับการแก้ปัญหา ถ้ามองในเรื่องของกฎหมายยาเสพติดในอดีต ยังไม่สามารถแยกผู้ค้ารายย่อยกับผู้ค้ารายใหญ่ออกจากกัน และไม่สามารถแยกผู้เสพออกจากผู้ค้า เมื่อเป็นเช่นนี้กฎหมายก็จะมุ่งเน้นจับกุมแบบกวาดต้อนทุกคนไปอยู่ในกลุ่มเดียวกันทั้งหมด โดยเฉพาะการจำคุกในระยะยาว ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่จะมีการแก้ไขให้การบำบัดเข้ามามีบทบาทมากขึ้น 

ขณะเดียวกันก็มีการแก้ไข การตั้งเงินรางวัลนำจับ ที่เพิ่มบริบทการจับกุมมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้จับกุมผู้ค้ารายใหญ่ จะเน้นจับผู้ค้าหรือผู้เสพรายย่อย เพื่อให้มีผลงานในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนกระบวนการบำบัดจะเป็นส่วนเสริมที่เข้ามารองรับในกระบวนการทางอาญา เพราะกฎหมายยาเสพติดที่ผ่านมา เมื่อจับกุมแล้ว คนที่ควรเข้าสู่ระบบการบำบัดฟื้นฟู แต่ถูกเหมารวมให้เป็นผู้กระทำผิดกฎหมายทางอาญา ทั้งที่ควรเป็นผู้ป่วยกลับไปเป็นอาชญากร เลยทำให้กระบวนการบำบัดฟื้นฟูทำได้ไม่เต็มที่

ก.ม.ใหม่เน้นการริบทรัพย์-รักษา

ด้าน นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มองว่า ตอนนี้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. 64 ซึ่งมุ่งเน้นตามกรอบแนวคิดคือ 1. กรอบนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด การจัดโครงสร้างและกลไกในการบริหารจัดการปัญหายาเสพติดของประเทศ 2.กรอบนโยบายตัวยาเสพติด การนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม  3.กรอบการมองปัญหาผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดในมิติของปัญหาด้านสาธารณสุขและสุขภาพ มิใช่ถือว่าเป็นปัญหาทางอาชญากรรมอย่างเดียว ให้โอกาส ให้ความช่วยเหลือ และสงเคราะห์ 4.กรอบนโยบายทางอาญา ในการลงโทษผู้กระทำผิด แยกเป็นกลุ่ม นายทุน แรงงาน และเหยื่อ 5.กรอบการดำเนินการต่อการทำลายโครงสร้าง หรือเครือข่ายการค้ายาเสพติดที่สำคัญ มากกว่าการดำเนินการจับกุมกับกลุ่มแรงงาน แยกคดีทรัพย์สิน ไม่ผูกติดกับผลคดีอาญา และให้ริบทรัพย์สินตามมูลค่า

นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์

นอกจากนี้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ แบ่งออกเป็นการป้องกัน ควบคุม และปราบปรามยาเสพติด อีกส่วนจะเป็นการบำบัดและฟื้นฟูสภาพสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด ในส่วนของการลงโทษ จะแยกออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามความเหมาะสม แล้วพิจารณาในพฤติกรรมในการกระทำความผิด ดังนั้นคนที่ถูกจับในคดีเดียวกัน ไม่จำเป็นว่าจะต้องได้รับโทษเท่ากันทั้งหมด เพราะขบวนการค้ายาเสพติดมีหลายพฤติกรรม สิ่งที่เพิ่มเติมมาในกฎหมายยาเสพติดฉบับนี้มีการระบุว่า ผู้ที่ยินยอมให้ผู้อื่นจ้างวาน ในการนำชื่อของตนไปเปิดบัญชีธนาคาร หรือเปิด      ซิมการ์ดโทรศัพท์ แล้วผู้ที่จ้างวานนำบัญชีและซิมนั้นไปใช้ในขบวนการยาเสพติด ผู้ที่ยินยอม ให้นำชื่อไปเปิดบัญชีจะ มีโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับ 60,000 บาท

ข้อดี ของกฎหมายฉบับนี้ คือ เมื่อมีการนำกฎหมายยาเสพติดมารวมกันจะทำให้การใช้กฎหมายสะดวกขึ้น และการรับโทษที่ เหมาะสมกับผู้กระทำความผิดในแต่ละรูปแบบ โดยการลงโทษจะอยู่ในระยะเวลาที่ควบคู่กับการปรับปรุงอุปนิสัยของเขาได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันจะเน้น การริบทรัพย์ และ ให้ การรักษา กับผู้ติดยาเสพติดมากกว่าการบังคับใช้โดยคดีอาญา ดังนั้นจึงเป็นการให้โอกาสของผู้กระทำผิดที่มากขึ้น และกระบวนการสุดท้ายคือการช่วยเหลือ เพื่อให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล

การเปิดโอกาสให้แก้ไขปรับปรุง

ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผอ.ศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ประมวลกฎหมายใหม่ มีกระบวนการบังคับบำบัดผู้ติดยาเสพติดเป็นการเปิดโอกาส แทนที่จะนำผู้ต้องหาไปดำเนินคดีเลย เพราะถือเป็นอันตรายอย่างมาก หากเรานำผู้ติดยาเสพติดแล้วไปขัง ซึ่งจะเป็นประโยชน์น้อยกว่านำเขาไปสู่กระบวนการบำบัด  เช่น กรณีที่มีผู้หญิงที่มีปัญหาทางจิตนำมีดไปไล่แทงนักเรียน แต่กระบวนการกฎหมายสั่งให้คุมขังผู้ต้องหาก่อน แล้วค่อยนำตัวไปบำบัดรักษา สิ่งนี้ถือเป็นความย้อนแย้งในเชิงกฎหมาย  เพราะในคนที่เสพยา บางครั้งคนที่บ้านก็ควบคุมไม่อยู่ ดังนั้นจึงต้องใช้ระบบราชการในการแก้ปัญหา เพราะเราเชื่อว่าถ้ามีการบำบัดที่ถูกวิธี คนเหล่านี้จะกลับคืนสู่สังคมได้ กฎหมายฉบับเดิมจะให้การบำบัดผู้ติดยาขณะถูกคุมขัง จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ได้สำเร็จ.