“ท่อไอเสียรถยนต์” อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่มีความสำคัญกับเครื่องยนต์ ซึ่ง “ท่อไอเสีย” นั้นมีหน้าที่หลักก็คือ ป็นทางเดินเพื่อระบายไอเสียออกจากเครื่องยนต์ ลดเสียงระเบิดให้น้อยลง และช่วยกรองมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ให้ออกมาสู่อากาศให้น้อยลงเมื่อผ่าน “แคตตาไลติกคอนเวอร์เตอร์” ซึ่งสิ่งที่หลงเหลือจากการเผาไหม้แล้วออกมาจากท่อไอเสียก็คือ คาร์บอนไดออกไซด์, คาร์บอนมอนอกไซด์, ไนโตรเจนไดออกไซด์, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, ฟอสฟอรัส รวมไปถึงโลหะหนักต่างๆ อาทิ ตะกั่วและโมลิบดีนัม โดยสารประกอบเหล่านี้จะรวมออกมาในรูปแบบก๊าซ ที่พุ่งออกมาด้วยแรงอัดจากกระบอกสูบ ผ่านท่อรวมไอเสีย พักกลาง พักปลาย

ส่วนประกอบของ “ท่อไอเสีย” 

  1. “ท่อรวมไอเสีย” สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทคือ 
  • ท่อรวมไอเสียแบบธรรมดา มักทำมาจากเหล็กที่หล่อขึ้นรูป เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำ แต่ระบายไอเสียได้ไม่คล่องเท่าไรนัก ดังนั้นเครื่องยนต์จึงทำงานหนักขึ้นเพื่อผลักไอเสียให้ผ่านท่อลักษณะนี้ จึงส่งผลให้เครื่องยนต์กำลังตกลง ซึ่งท่อรวมไอเสียแบบดังกล่าว มักจะเป็นท่อไอเสียรถยนต์ส่วนใหญ่ของรถยนต์ที่ผลิตออกมาจำหน่าย
  • ท่อรวมไอเสียแบบเฮดเดอร์ ( Header) คือท่อไอเสียที่ทำจากท่อแยกแต่ละสูบและสามารถดัดโค้งให้ยาวขึ้นทำให้การระบายไอเสียจากเครื่องยนต์ทำได้ดีกว่า รถยนต์จึงมีกำลังมากขึ้น
  1. หม้อพักกลาง ส่วนใหญ่จะเป็นไส้ตรงหรือตรงเกลียว จะทำหน้าที่ช่วยดูดซัพเสียงจากท่อรวมไอเสีย และหม้อพักท้าย ให้เงียบลงและไม่สะท้อนเข้าห้องโดยสาร
  2. หม้อพักท้าย ถือเป็นด่านสุดท้าย ส่วนใหญ่จะติดกับปลายท่อโชว์อยู่ด้านท้ายรถ มีหน้าที่ซัพเสียงไม่ต่างจากหม้อพักกลาง แต่ที่เพิ่มขึ้นมาคือการวางไส้ ในลักษณะที่ต่างกัน เพื่อสร้างแรงอั้นให้เหมาะสมกับขนาดเครื่องยนต์และชนิดของเกียร์

 คุณสมบัติหม้อพักท้ายลักษณะต่าง ๆ

  • หม้อพักไส้ตรง มีความโล่งที่สุดในบรรดาหม้อพักทั้งหมด ไม่เหมาะกับรถเกียร์ออโตเมติก เพราะไม่มีแรงอั้น ยิ่งถ้าเผลอไปใส่เข้าพละกำลังยามออกแทบไม่มีเลยทีเดียว แต่หม้อพักประเภทนี้จะเหมาะสำหรับรถที่มีระบบอัดอากาศ (เทอร์โบ) และเกียร์ธรรมดา
  • หม้อพักไส้เยื้อง มีความโล่งมากกว่าหม้อพักไส้ย้อน ใช้ได้ทั้งเกียร์ธรรมดาและเกียร์ออโตเมติก แต่เมื่อโล่งมากขึ้นแรงอั้นก็ลดลงตามไปด้วยจึงอาจส่งผลให้ กำลังตกในรอบต้นแต่จะได้การไหลในรอบปลายมาแทน
  • หม้อพักไส้ย้อน เป็นประเภทที่มักจะพบได้ในรถยนต์ที่ผลิตจากโรงงาน ซึ่งหม้อพักประเภทนี้จะให้ความเงียบเป็นเลิศ ใช้ได้ทั้งเกียร์ธรรมดาและเกียร์ออโตเมติก แต่เหมาะกับเกียร์ออโตเมติกที่สุดเพราะมีแรงอั้นสูงส่งผลให้พลพกำลังการออกตัวและรอบต้นดีอย่างที่เรียกกันว่าต้นจัด แต่จะไม่เหมาะกับเครื่องที่มีระบบอัดอากาศ (เทอร์โบ)

อย่างไรก็ตาม “ขนาดของท่อไอเสีย” ก็มีส่วนสำคัญ เพราะต้องมีความสัมพันธ์กับความต้องการของเครื่องยนต์ เนื่องจากรถแต่ละคันมีขนาดเครื่องยนต์ที่แตกต่างกันไป เช่น ถ้าเครื่องยนต์มีความต้องการท่อไอเสียขนาด 2 นิ้ว แต่เราขยายเป็น 3 นิ้ว ก็จะส่งผลให้ไอเสียถูกคายออกเร็วเกินไป ทำให้ไอดีที่กำลังประจุใหม่ไหลตามออกไปด้วย และเมื่อปริมาณไอดีลดลง กำลังเครื่องก็ลดลง ซ้ำยังส่งผลให้อัตราการบริโภคเชื้อเพลิงสูงขึ้นด้วย ดังนั้น “ช่างเอก” ขอแนะนำว่า หากต้องการจะเปลี่ยนหรือดัดแปลงท่อไอเสียให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ควรทำโดยช่างผู้ชำนาญ

………………………..
คอลัมน์ : รู้ก่อนเหยียบ 
โดย “ช่างเอก”
ติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงที่ [email protected]