สัปดาห์แรกหลังปีใหม่ กลายเป็นสัปดาห์ร้อนแรงของวงการ “ผู้พิทักษ์” หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจหนุ่มใช้ปืนประจำกายปลิดชีวิตตัวเองตายถึง 2 นาย ในห้วงเวลา 2 วันติดกัน รายแรกเป็นตำรวจ สน.พญาไท ตำแหน่ง ผบ.หมู่ จร.สน.พญาไท อีกรายเป็นตำรวจกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ตำแหน่ง ผบ.หมู่ กก.1 บก.ป. แม้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่เหตุการณ์ดังกล่าวย่อมสะท้อนคำถามถึงภาพองค์กรใหญ่  เพราะคงไม่มีใครอยากให้เกิดความสูญเสียซ้ำ 

ทั้งนี้ จากข้อมูลสถานภาพกำลังพลเมื่อเดือน พ.ย.2564 มีข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ รวม 205,840 นาย

สถิติการฆ่าตัวตายตั้งแต่ปี 2551-2564 มีจำนวน 443 นาย ดังนี้         

ปี 2551 จำนวน 19 นาย, ปี 2552 จำนวน 25 นาย, ปี 2553 จำนวน 31 นาย, ปี 2554 จำนวน 29 นาย, ปี 2555 จำนวน 51 นาย, ปี 2556 จำนวน 24 นาย, ปี 2557 จำนวน 40 นาย, ปี 2558 จำนวน 38 นาย, ปี 2559 จำนวน 34 นาย, ปี 2560 จำนวน 29 นาย, ปี 2561 จำนวน 40 นาย, ปี 2562 จำนวน 37 นาย, ปี 2563 จำนวน 25 นาย และ ปี 2564 จำนวน 21 นาย

สาเหตุที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มาจากปัญหาสุขภาพ 129 นาย  ตามด้วยปัญหาอื่นๆ 121 นาย ปัญหาครอบครัว 98 นาย ปัญหาส่วนตัว 39 นาย ปัญหาหนี้สิน 38 นาย ปัญหาเรื่องงาน 18 นาย 

เฉพาะปีที่ผ่านมาในจำนวน 21 นาย ที่ฆ่าตัวตายมาจากปัญหาสุขภาพ 11 นาย ปัญหาหนี้สิน 5 นาย ปัญหาส่วนตัว 3 นาย ปัญหาเรื่องงาน 1 นาย และปัญหาอื่น ๆ 1 นาย

ขณะที่เริ่มต้นปี 2565 มีข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตายแล้ว 2 นาย

จากหลายปัจจัยที่นำไปสู่ภาวะเครียด รวมถึงการฆ่าตัวตาย “หนี้สิน” ของข้าราชการตำรวจเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่ถูกพูดถึงควบคู่มากับสถานการณ์ ล่าสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เปิดเผยยอดหนี้สินสะสมของข้าราชการตำรวจมีประมาณ 203,217 ล้านบาท จากหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ จำนวน 245,535 ราย ซึ่งหากเปรียบเทียบจะพบจำนวนผู้กู้มากกว่าจำนวนกำลังพลปัจจุบัน นั่นเป็นเพราะข้าราชการตำรวจหลายรายเกษียณอายุราชการแล้วแต่ยังต้องผ่อนชำระต่อ

ยังไม่จบ…นอกเหนือหนี้สหกรณ์ ข้าราชการตำรวจยังมีหนี้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ รวม 69,769 ล้านบาท แบ่งเป็น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ วงเงินหนี้สิน 28,129 ล้านบาท, ธนาคารออมสิน วงเงินหนี้สิน 21,140 ล้านบาท และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) วงเงินหนี้สิน 20,500 ล้านบาท

หากรวมหนี้สินทั้งหมดของกลุ่มข้าราชการตำรวจจะมีสูงถึง 272,986 ล้านบาท!!!

ในภาพใหญ่ข้าราชการตำรวจที่มีหนี้สินถือเป็นกลุ่มใหญ่ มีจำนวน 164,291 ราย ส่วนอีก 41,189 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 เป็นกลุ่มไม่มีหนี้สิน 

ก่อนหน้านี้มีการแบ่งกลุ่มหนี้สินออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสีเขียว 161,868 คน กลุ่มสีเหลือง 1,751 คน และกลุ่มสีแดง 672 คน

สถานภาพของลูกหนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 97 เป็นกลุ่มที่ยังผ่อนต่อได้ ส่วนกลุ่มที่กำลังมีปัญหาผ่อนต่อไม่ไหว คิดเป็นร้อยละ 2 และกลุ่มถูกฟ้องเป็นคดีความ คิดเป็นร้อยละ 1

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาคณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินวางแนวทางคัดเลือกสหกรณ์ต้นแบบนำร่อง ควบคู่กับการหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการชำระ และที่สำคัญต้องให้ยังเงินเพียงพอยังชีพในแต่ละเดือน

สุดท้าย แม้การฆ่าตัวตายอาจไม่ใช่ผลกระทบโดยตรงจากหนี้สินเพียงอย่างเดียว สภาพจิตใจ การทำงาน และปัจจัยแวดล้อมอื่นมีโอกาสส่ง “ผลลบ” กับชีวิตแทบทั้งสิ้น

ดังนั้น คงมีเพียงการยอมรับความจริงและพยายามแก้ไขปัจจัยเท่าที่ทำได้ให้ดีที่สุด เพื่ออย่างน้อยอาจมีส่วนช่วยผ่อนสถานการณ์ที่มีแนวโน้มหนักให้เป็นเบาขึ้นได้.

ทีมข่าวอาชญากรรมรายงาน

[email protected]