ณ เวลานี้ สังคมไทยกำลังกังวลกับการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ “โอมิครอน” จนรัฐบาลต้องประกาศยกระดับมาตรการสารพัด เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียเหมือนกับไวรัส “เดลตา” ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ของปีที่แล้ว

ขณะเดียวกัน สังคมไทยก็ต้องเผชิญกับ ปัญหาราคาสินค้าแพง โดยเฉพาะราคาหมู ที่พุ่งทะยานไปถึง กก.ละกว่า 200 บาท และยังมีแนวโน้มราคาแพงไปตลอดทั้งปี 65

สินค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ก็กำลังดาหน้าปรับราคาเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเนื้อไก่ เนื้อปลา หรือแม้แต่วัตถุดิบอื่น ๆ อย่างราคาผัก ราคาน้ำมันพืช จนสำนักวิจัยชื่อดังอย่าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ต้องออกมาทำนายทายทักว่า ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของคนไทยจะพุ่งขึ้นอีก 8-10% ทีเดียว

นี่…ยังไม่นับเรื่องของ “หวยแพง” ที่คนไทยทั้งประเทศ ต้องยอมควักเงินจ่าย เพราะหวังอยากรวยทางลัด ด้วยเพราะเศรษฐกิจที่ตกสะเก็ด หนทางการทำมาหากินแบบตรงไปตรงมา ไม่พอยาไส้

ไม่ใช่เพียงแค่ประชาชนคนไทยเท่านั้น ที่ต้องเผชิญกับปัญหา “ฝืดเคือง” แต่ในแง่ของรัฐบาลเอง ก็ตกที่นั่งลำบาก เศรษฐกิจไม่ดี หาเงินเข้าประเทศก็ยากเย็นแสนเข็น รายได้ที่เคยได้เป็นกอบเป็นกำจากการท่องเที่ยวก็ดับวูบจากพิษไวรัสร้าย พอประคับประคองอยู่ได้ก็เพียงแค่รายได้จากการส่งออก

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่จะได้เห็นการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลพลาดเป้า หลุดเป้า ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐกลับเพิ่มขึ้นในทุกด้าน การจัดทำงบประมาณรายจ่ายของไทยอยู่ในภาวะ “ขาดดุล” มาหลายสิบปี และยังมีแนวโน้มขาดดุลต่อเนื่องยาวไปอีกอย่างน้อย 4 ปี รวม ๆ กันแล้ว ก็ยังต้องขาดดุลอีกกว่า 2.8 ล้านล้านบาท กันทีเดียว

ในเมื่อรัฐบาลมีรายได้น้อยลง เรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ก็ย่อมตามมาเป็นเรื่องธรรมดา แม้ภาครัฐจะพยายามสรรหาถ้อยคำสรรหาประโยคที่สวยงามมาชี้แจง แต่สุดท้ายในความหมายของชาวบ้านก็คือ…การรีดภาษีเพิ่ม นั่นแหละ!!

ตามกฎหมายแล้ว ผู้ที่มีรายได้ ก็ต้องเสียภาษีให้รัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นภาษีทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม และเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้ การลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี นั้นกำลังเป็นที่ร้อนแรงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จนสามารถสร้างผลกำไรให้กับบรรดานักลงทุนได้ไม่น้อย

หรือแม้แต่การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ก็เช่นกัน นักเล่นหุ้นตัวจริงเสียงจริง ก็สามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำไม่แพ้กัน จึงทำให้เรื่องของการ “เก็บภาษีจากการขายหุ้น” ฟื้นคืนชีพกลับคืนมาอีกครั้ง หลังจากชะลอการบังคับใช้ไปตั้งแต่ปี 34 โน่น

ส่วนอัตราการจัดเก็บที่ 0.1% ของราคาหุ้นที่ขายได้ นั้นยัง “ไม่ยุติ” เพราะกระแสแรงคัดค้านจากฟากฝั่งของตลาดทุนก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน โดยกระทรวงการคลัง ฝั่งผู้จัดเก็บ ก็อยู่ระหว่างหารือ อยู่ระหว่างตกลงกับผู้ที่ดูแลตลาดทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการประเมินเบื้องต้นว่าตรงนี้จะทำให้ รัฐจัดเก็บรายได้ประมาณ 10,000 ล้านบาททีเดียว

ขณะที่การหันมาจัดเก็บภาษีที่ได้จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริบโทเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัล ก็กลายเป็นอีกช่องทางที่สำคัญ แม้ว่าทุกวันนี้ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% หากขายได้กำไรอยู่แล้วก็ตาม

แต่ในการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ในปีภาษี 64 ที่กำหนดให้ยื่นแบบตั้งแต่วันที่ 1ม.ค.-31 มี.ค. 65 นี้ ต้องนำเงินได้จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล มาคำนวณรวมกับเงินได้อื่นๆ เพื่อยื่นแบบเสียภาษีบุคคลธรรมดา ด้วย

กรมสรรพากร ระบุว่า ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการขายคริปโทเคอร์เรนซี ให้ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) ตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ไม่ใช่มาตรา 40 (8) เหมือนในอดีตอีกต่อไป

ที่สำคัญ ในการคิดกำไร เพื่อเสียภาษีนั้น กรมสรรพากร ยังกำหนดให้คิดเป็นรายธุรกรรม ขณะที่ธุรกรรมไหนขาดทุน ไม่สามารถนำมาหักลบกับธุรกรรมที่มีกำไรได้

พูดง่าย ๆ ถ้าในธุรกรรมแรกมีกำไร 100 บาท ก็ให้คิดเป็นรายได้ แต่ถ้าธุรกรรมที่สอง เกิดขาดทุน 100 บาท ก็ยังถือว่ามีกำไรที่ 100 บาท ไม่ใช่เท่าทุนใด ๆ ทั้งสิ้น

ที่สำคัญ กรมสรรพากร ก็ออกมา “ดักคอ” ไว้อยู่แล้วว่า เตรียมนำ Big Data และ Data Analytic มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลเส้นทางการเงิน และการลงทุนของนักลงทุน หากเลี่ยงที่จะเสียภาษีให้ถูกต้อง ก็ต้องเตรียมเอกสารหลักฐานให้พร้อมเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง

แต่ถ้าพบว่าจงใจหลีกเลี่ยงก็ต้องชำระเพิ่มในส่วนที่ขาด แถมอาจต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มอีก 1.5% ในส่วนที่ยื่นภาษีขาดไปอีกต่างหาก

เอาเป็นว่า…ใครที่กำลังจะยื่นแบบการเสียภาษีเงินได้ประจำปีภาษี 64 ก็ต้องคิดคำนวณรายได้จากการเข้าไปเล่นเงินไฮเทค ให้ชัดเจน ให้ถูกต้อง จะได้ไม่ต้องมานั่ง “เซ็ง” กับการเรียกดูข้อมูลเพิ่ม

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”