ขยับเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ของปีเสือ 2565 การแพร่ระบาดของ    โควิด-19 ด้วย เชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน จากยอดระบาดรายวันช่วงปลายปี 2564 เพียงไม่กี่ร้อยคน ผ่านพ้นช่วงวันหยุดปีใหม่สัปดาห์เดียว ผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งมาใกล้จะวันละ 1 หมื่น แบบน่าใจหาย

จนทำให้ กระทรวงสาธารณสุข ประกาศยกระดับการเตือนภัยโควิด-19 จากระดับ 3 ปรับขึ้นเป็น ระดับ 4 รับมือการระบาด ระลอก 5 ของประเทศไทย พร้อมงัดมาตรการ ปิดสถานที่เสี่ยง แนะนำให้ประชาชนงดกิจกรรมบางอย่าง หลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะโดยไม่จำเป็น แนะนำทำงานที่บ้าน (work from home) ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัดและการจำกัดการรวมกลุ่ม ฯลฯ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อ

กลายเป็นว่า เจ้าโควิดได้กลับมาสร้างความวิตกให้กับประชาชนอีกครั้ง แม้อาการของโอมิครอน จะไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์เดิม แต่การแพร่กระจายรวดเร็ว ที่สำคัญกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวยังเป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นเดิม !

จำเป็นคุมเข้ม “พื้นที่กลุ่มเสี่ยง”

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้พูดคุยกับ รศ.นพ.ธนา ขอเจริญพร อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ถึงสถานการณ์โควิดที่กลับมาสร้างความหวั่นวิตกให้ประชาชนอีกครั้ง รศ.นพ.ธนากล่าวว่า หลังมีการแพร่ระบาดของโอมิครอนในไทยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และเริ่มแพร่ระบาดหนักขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่หลายพื้นที่มีการสังสรรค์ เมื่อผู้คนมาพบปะกันมากขึ้น อาจมีกิจกรรมที่ไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัย เช่น ตอนรับประทานอาหาร ทำให้ตอนนี้มีปริมาณผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่ก็เชื่อว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดหนักเหมือนเมื่อตอนสายพันธุ์เดลตา ขณะที่อีกปัจจัยสำคัญคือ วัคซีนที่ตอนนี้ มีประชากร 60–70% ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จะช่วยลดความรวดเร็วของการแพร่กระจายได้มากขึ้น

รศ.นพ.ธนา ขอเจริญพร

อย่างไรก็ดียังต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะปัจจัยของไวรัสที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วอาจเอาชนะมาตรการควบคุมป้องกันที่ทำอยู่ได้ จากการประเมินพบว่า  โอมิครอน แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา 2–3 เท่า ตอนนี้มีข้อมูลผู้ป่วยด้วยโอมิครอนในไทยยังค่อนข้างจำกัด แต่พบข้อมูลในแอฟริกาใต้, สหรัฐ และอังกฤษ บ่งชี้ว่าผู้ที่ติดเชื้อไม่ได้มีอาการที่รุนแรงมาก โดยอาจเป็นเพราะคุณสมบัติของไวรัส ที่มีอาการติดเชื้อบริเวณเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจส่วนต้น มากกว่าจะลงไปในปอด

ด้วยความที่ประเทศเราไม่ได้ตรวจดูสายพันธุ์ของโควิดในทุก   คนที่ติดเชื้อ แต่จะเป็นการสุ่มตรวจ ซึ่งจากประสบการณ์ที่พบคนไข้กลุ่มแรกที่ติดเชื้อโอมิครอนในไทย ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีอายุน้อย มีประวัติการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดที่มีการระบาด หรือมีการกินเลี้ยงสังสรรค์กันในกลุ่ม

สำรวจอาการป่วยโอมิครอน

รศ.นพ.ธนากล่าวต่อว่า สำหรับอาการของผู้ป่วยโอมิครอน จะมีไข้ตัวร้อน, น้ำมูกไหล, คัดจมูก, เจ็บคอ และไอ ยังไม่พบผู้ป่วย ที่มีอาการรุนแรง ที่ถึงขนาดมีการติดเชื้อลงปอด หรือต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งตอนนี้ถือเป็นช่วงต้นในการแพร่ระบาดของโอมิครอนในประเทศไทย จึงต้องดูกันในระยะยาวว่า ในคนที่อายุเยอะ หรือกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวจะมีอาการร้ายแรงหรือไม่ แต่เท่าที่ประเมินดู ผู้ที่ติดเชื้อในระยะแรกจะมีอาการปนกันระหว่าง ไข้หวัดธรรมดา กับ ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมักจะมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก และมี อาการเจ็บคอ ที่จะมีมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ที่มีการระบาดมาก่อนหน้านี้ โดยจะมีอาการไอค่อนข้างน้อย เนื่องมาจากเป็นอาการที่แสดงถึงภาวะที่เชื้อจะเริ่มลงปอด

ที่น่าสนใจคือ จะมีอาการปวดเมื่อยตัวมากขึ้น ปกติมักจะพบมากในผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ โดยข้อมูลจากต่างประเทศพบว่า อาการไม่รับรส หรือไม่ได้กลิ่น จะพบได้น้อยในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโอมิครอน ขณะที่อาการอื่น ๆ ที่พบในสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ เช่น มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง หรืออาการตาแดง มักไม่พบในการแพร่ระบาดในครั้งนี้

สำหรับคนกลุ่มเสี่ยง ยังเป็นคนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคปอดเรื้อรัง มะเร็งชนิดต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ป่วยเบาหวาน ตลอดจนผู้สูงอายุ แม้จะยังไม่มีข้อมูลที่ระบุถึงความร้ายแรงของโอมิครอนมากนัก แต่    เมื่อมีการแพร่ระบาดก็จะมีข้อมูลทางการแพทย์ในประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้หลายคนจะมองว่า โอมิครอน ไม่มีอาการร้ายแรงเท่าสายพันธุ์ก่อน ๆ แต่ในกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน กับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวกลุ่มเสี่ยงก็ยังต้องระวัง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ที่แม้จะฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันมีไม่มากเท่ากับคนปกติก็ยังค่อนข้างเสี่ยง

ขณะเดียว กันผู้ที่มีสุขภาพสมบูรณ์อายุยังน้อย แม้จะติดแล้วมีอาการไม่มาก แต่การที่ไม่ระวังตัวเองก็อาจจะกลายเป็น “พาหะ” ที่แพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้มากขึ้นหรืออาจแพร่เชื้อให้กับคน กลุ่มเสี่ยง ที่เป็น ผู้สูงอายุ ในบ้านได้ ที่สำคัญเมื่อติดแล้วจะต้องหยุดงานเพื่อทำการกักตัว ซึ่งเป็นผลทำให้สูญเสียกำลังคนในการทำงาน และยังส่งผลกระทบให้คนที่ไม่ได้ป่วยต้องทำงานหนักขึ้น ดังนั้นสิ่งนี้ถือเป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคลที่ต้องมีต่อสาธารณะ

หนุนทำตามมาตรการเคร่งครัด

รศ.นพ.ธนา กล่าวทิ้งท้ายว่า คนไข้ที่ตรวจพบว่าตัวเองติดเชื้อแล้ว จะต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัวเพื่อรักษาที่เหมาะสมต่อไป พอมีผู้ป่วยที่มากขึ้น จะมีการเปิดโรงพยาบาลสนาม, ฮอสพิเทล และการกักตัวที่บ้านผ่านระบบโฮมไอโซเลชั่น โดยความเป็นไปได้น่าจะมีการรักษาตัวเองที่บ้านมากขึ้น และมีความเป็นไปได้ว่า จะมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อหลักหมื่นคนต่อวัน  ที่ผ่านมาเราจะเห็นภาพคนไข้ที่ล้นโรงพยาบาล จนแพทย์ต้องทำงานหนักมาก ขณะเดียวกันทีมบุคลากรทางการแพทย์หลายคนก็สูญเสียกำลังใจ เพราะเพื่อน ๆ ก็ติดเชื้อ

ดังนั้นจึงอยากจะเห็นภาพอัตราการติดเชื้อที่ลดลงอย่างรวดเร็วกว่าการระบาดในรอบแรก เหมือนอย่างแอฟริกาใต้ที่ลดลงรวดเร็ว เนื่องจากเรามีมาตรการควบคุมการระบาดค่อนข้างเป็นระบบและเคร่งครัด โดยประชาชนส่วนใหญ่ช่วยกันป้องกันตัวเอง ทำตามมาตรการป้องกันของรัฐอย่างเข้มงวด.