วันที่ 2 กุมภาพันธ์  2565 เป็น วันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครบรอบปีที่ 79 กำลังจะมาถึงในอีก 6​ วันข้างหน้า​ ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำลังจะก้าวสู่ปีที่ 80 ในต้นปีหน้า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตออกมาทำงานรับใช้สังคมและประเทศชาติอย่างต่อเนื่องทั้งในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน เมื่อปี 2566 มีผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระดับปริญญาตรี 12,714  คน ปริญญาโท​ 2,247 คน ปริญญาเอก 263 คน รวมทั้งสิ้น 15,224 คน

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกที่เปิดสอนหลักสูตรทางด้านการเกษตร เริ่มจาก โรงเรียนช่างไหม ซึ่งได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2447 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนการเพาะปลูก หลังจากนั้นได้รวมเข้ากับโรงเรียนแผนที่และโรงเรียนกรมคลองเป็น โรงเรียนเกษตราธิการ ภายหลังถูกยุบรวมเข้ากับโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ในปี 2456 และได้รับการก่อตั้งอีกครั้งในปี 2460 ในนามโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม และได้รับการยกฐานะเป็น วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถัดจากนั้นมา รัฐบาลได้ปรับปรุงและรวมกิจการของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เกษตรกลาง บางเขน กับโรงเรียนวนศาสตร์ จังหวัดแพร่ ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2486 ซึ่งระยะแรก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดสอนเฉพาะด้านการเกษตรเท่านั้น มี 4 คณะ ได้แก่ คณะเกษตร คณะวนศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์

การดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปัจจุบัน อยู่ภายใต้กฎหมายพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2558 มีสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โครงสร้างส่วนงานและหน่วยงานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์​ วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์​ วิทยาเขตศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์​ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี​

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน มี​คณะที่เปิดสอน 15 คณะ​ และวิทยาลัย 2 แห่ง

ได้แก่​ คณะเกษตร คณะวนศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะประมง คณะสัตวแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะบริหารธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ คณะสิ่งแวดล้อม และบัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัยบูรณาการศาสตร์

นอกเหนือจากพื้นที่วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยที่กล่าวถึง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังมีพื้นที่ในศูนย์สถานีวิจัยที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ใช้สำหรับเพื่อจัดการศึกษาค้นคว้าวิจัยและฝึกปฏิบัติงานของนิสิตคณะเกษตร คณะประมง คณะวนศาสตร์ และคณะเกษตร กำแพงแสน โดยศูนย์สถานีวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สามารถแบ่งตามคณะที่รับผิดชอบได้ ดังนี้

คณะเกษตรมีศูนย์สถานีวิจัยในความดูแล  ได้แก่

  • สถานีวิจัยปากช่อง ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
  • สถานีวิจัยทับกวาง ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
  • สถานีวิจัยลพบุรี (โคกเจริญ) ตำบลยางราก อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี
  • สถานีวิจัยและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกร (เพนียด) ตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี
  • สถานีวิจัยเขาหินซ้อน ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
  • สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์
  • สถานีวิจัยดอยปุย ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
  • ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

คณะประมงมีศูนย์สถานีวิจัยอยู่ในความดูแล ได้แก่

  • สถานีวิจัยประมงกำแพงแสน ตำบลกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
  • สถานีวิจัยประมงศรีราชา ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
  • สถานีวิจัยประมงคลองวาฬ ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  • สถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม
  • สถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง

คณะวนศาสตร์มีศูนย์สถานีวิจัยอยู่ในความดูแล ได้แก่

  • สถานีวิจัยและฝึกนิสิตวนศาสตร์ดอยปุย ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
  • สถานีวิจัยและฝึกนิสิตวนศาสตร์ห้วยทาก ตำบลบ้านหวด อำเภองาว จังหวัดลำปาง
  • สถานีวิจัยและฝึกนิสิตวนศาสตร์วังน้ำเขียว ตำบลอุดมทรัพย์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
  • สถานีวิจัยและฝึกนิสิตวนศาสตร์หาดวนกร ตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  • สถานีวิจัยวนศาสตร์พังงา ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
  • สถานีวิจัยและฝึกอบรมวนเกษตรตราด ตำบลห้วยแร้ง อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด

คณะเกษตร กำแพงแสนมีศูนย์สถานีวิจัยอยู่ในความดูแล ได้แก่

  • ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง ตำบลกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
  • สถานีวิจัยกาญจนบุรี ตำบลวังด้ง อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
  • สถานีวิจัยสิทธิพร กฤดากร ตำบลทรายทอง อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

นอกจากนี้แล้วยังมีโรงพยาบาลสัตว์ซึ่งอยู่ในความดูแลของคณะสัตวแพทยศาสตร์ เป็นแหล่งฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกของนิสิตตามหลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิตและหลักสูตรสาขาวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นหน่วยงานให้บริการทางสัตวแพทย์ หน่วยชันสูตรโรคสัตว์ และฟาร์มสัตว์เพื่อการเรียนการสอน ปัจจุบัน คณะสัตวแพทยศาสตร์มีโรงพยาบาลสัตว์ 4 แห่ง ได้แก่

  • โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
  • โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ตำบลกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
  • โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนองโพ ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
  • โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหิน ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์​ วิทยาเขตกำแพงแสน มีคณะที่เปิดสอน​ 6​ คณะ​ ได้แก่  คณะเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะสัตว์แพทยศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์​ วิทยาเขตศรีราชา มีคณะที่เปิดสอน 5 คณะ ได้แก่​ คณะวิทยาการจัดการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์​ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร มีคณะที่เปิดสอน  4 คณะ​ ได้แก่​ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี สถาบันสมทบ มี​ 2​ วิทยาลัย​ ได้แก่​ วิทยาลัยการชลประทาน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี หลักสูตรในโครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี ในปัจจุบันประกอบด้วย 1​ หลักสูตร คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโรงแรมและท่องเที่ยว

การที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio economy Circular economy Green economy – BCG) เป็นวาระแห่งชาติ โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product​ –​ GDP)​ จากร้อยละ 21 เป็นร้อยละ 24 ภายใน 5 ปี เพิ่มจาก 3.4 ล้านล้านบาท ในปี 2563 เป็น 4.4 ล้านล้านบาท ในปี 2568 มหาวิทยาลัย​เกษตรศาสตร์จะเป็นกำลังสำคัญอีกส่วนหนึ่งในการนำศักยภาพด้านองค์ความรู้ทางวิชาการ​ การศึกษาค้นคว้า​และงานวิจัย​ เพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในการขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร​ ผลิตวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร​ที่มีคุณภาพสูงตอบสนองต่อความต้องการ​ของผู้บริโภคทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ​ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหมวดอาหาร​ หมวดสมุนไพร​ หมวดเครื่องสำอาง​ หมวดพลังงาน​ ฯลฯ​ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความมั่นคงให้แก่เศรษฐกิจไทยในระยะยาว

อ่านต่อ :

55 ปี ค่ายอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พระเมตตาในหลวง ร.9 เหล่านิสิต มก. น้อมสำนึก

“เกษตรศาสตร์อนุสรณ์”โมเดล เป็นผลิตผลคนหนุ่มสาว

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ :
สาระจากพระธรรม