“หวังให้กฎหมายจราจรเข้มงวดขึ้น” ใจของผู้เป็นพ่อที่สูญเสียลูกสาว พญ.วราลัคน์  สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย จากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ชนขณะเดินเท้าข้าม “ทางม้าลาย” จนเสียชีวิต เหตุเกิดหน้าสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เขตพญาไท ช่วงบ่ายวันที่ 21 ม.ค.

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีหลายมุมมองสะท้อนความเห็นปัญหาทางม้าลาย โดยเฉพาะในฐานะผู้ใช้ที่แทบไม่สามารถ “วางใจ” ขณะข้ามได้เลย  

จากข้อมูลผู้เสียชีวิตบนท้องถนน ของกระทรวงสาธารณสุข แต่ละปีมีคนเดินเท้าจบชีวิตบนท้องถนนเฉลี่ย 800-1,000 ราย ขณะที่ข้อมูลภาพรวมโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบมีคนเดินเท้าประสบเหตุมากถึง 2,500-2,900 รายต่อปี และ 1 ใน 3 เกิดในพื้นที่ กทม. เฉลี่ยปีละ 900 ราย

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์  ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สะท้อนว่าขณะนี้สังคมต้องไม่มอง “ทางออก” เพียงแค่คนขับต้องจอด ต้องชะลอ เพราะการมอง “เชิงเดี่ยว” แค่ขับเร็ว ไม่จอด เหมือนที่ผ่านมาไม่สามารถจัดการได้ เมื่อรากปัญหาทางม้าลายมีหลายด้าน ทั้งลักษณะถนนเมืองที่กว้างมีหลายช่องจราจร การทำทางม้าลายบนถนนที่มีหลายช่องจราจร ยิ่งถนนกว้างคนข้ามยิ่งต้องใช้เวลาบนถนนนาน และทำให้การจัดการความเร็วไม่สามารถทำได้จริง เพราะยิ่งกว้างรถยิ่งขับเร็ว

ประกอบกับกฎหมายควบคุมความเร็วเขตเมืองของไทยกำหนดไว้ค่อนข้างสูงไม่เกิน 80 กม./ชม. ขณะที่ต่างประเทศจำกัดเขตเมืองไม่เกิน 50 กม./ชม. ยังไม่รวมถึงการเพิ่มความปลอดภัยในรูปแบบต่างๆ เช่น จุดพัก เกาะกลางขนาดเล็ก เพื่อลดความเสี่ยง เพราะโดยทั่วไปการข้ามถนนที่ไม่ปลอดภัยคือการอยู่บนถนนนานเกินกว่า 2 ช่องจราจร โดยเฉพาะเลน 3 หรือเลนขวาสุดจะขับเร็วและสังเกตเห็นได้ยาก

การกำหนดให้รถใช้ความเร็วได้สูงแต่จัดการความเร็วไม่ได้ จึงเป็นปัญหาตามมา…

ดังนั้น อาจสรุปได้ว่าทั้งพื้นฐานความเร็ว โครงสร้างเมืองที่ถนนมีหลายช่องจราจร ประกอบกับวิถีขับขี่ที่ไม่จอดให้คนข้าม ล้วนเป็นปัจจัยที่ควรได้รับการแก้ไขไปพร้อมกัน ยกตัวอย่าง

จัดการความเร็วต้องศักดิ์สิทธิ์ เขตเมืองไม่เกิน 50 กม./ชม. เขตชุมชน หน้าโรงพยาบาล หน้าโรงเรียน ลดความเร็วไม่เกิน 30 กม./ชม. แม้เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานแต่ครั้งนี้ต้องทำให้เป็นรูปธรรม ฝ่าฝืนต้องมีบทลงโทษชัด

สร้างวิถีให้ผู้ขับขี่หยุดรถ การไม่จอดให้คนข้าม มาจากหลายสาเหตุ ที่เห็นกันบ่อยครั้งคือ คันหลังบีบแตรไล่ หรือบางกรณีสัญญาณไฟมีระยะเวลาสั้น ยิ่งต้องรีบเดินข้าม วิถีนี้จึงต้องแก้กันหลายจุด เริ่มตั้งแต่ปรับกายภาพที่ทำให้ทางม้าลายถูกมองเห็นเด่นชัด เช่น ไม่ปล่อยให้เส้นจาง ทำเส้นซิกแซกให้เห็นแต่ไกล หรือทำให้ระยะมองเห็นปลอดภัยด้วยการทำทางม้าลายให้กว้าง เพื่อให้มีจังหวะหยุดที่ไกลจากตัวคน และโอกาสที่รถเลนขวาจะเห็นคนข้ามก็มีมากขึ้น

ผู้จัดการ ศวปถ. ย้ำถึงการเพิ่มบทบาทการเฝ้าระวังผู้ฝ่าฝืน ทั้งติดตั้งกล้อง หรือแชร์คลิปหลักฐานประจานพฤติกรรม ให้ผู้ขับขี่ต้องตระหนักว่าสังคมตื่นตัวกับเรื่องเหล่านี้  เป็นเรื่องที่ต้องจริงจัง นอกจากการขยับภาคสังคม “คำสั่งการ” ของหน่วยงานหลังจากนี้ต้องมีการติดตาม อย่าเพียงสั่งการแล้วจบ เพราะระบบอาจไม่ได้ถูกแก้ไขจริง พร้อมให้ข้อเสนอสิ่งที่ควรขยับ เช่น  

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ควรผลักดันความผิดข้อหา ขับขี่โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยผู้ใช้รถใช้ถนนที่มีโทษรุนแรงกว่าขับประมาท, เพิ่มการตรวจจับ บังคับใช้กรณีไม่หยุดหรือชะลอให้คนข้าม และมีระบบกำกับ ติดตาม ประเมินผลในแต่ละพื้นที่

“ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน” ควรกำหนดให้ความปลอดภัยในการข้ามเป็นวาระที่ ศปถ.ทุกระดับต้องสำรวจและทำแผน, กำกับติดตามความคืบหน้า, เพิ่มการสื่อสารสร้างความตระหนักรู้ถึงความเสี่ยง ส่งเสริมการเฝ้าระวังหรือแชร์ภาพ คลิป ผู้ฝ่าฝืนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม, ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องการข้ามถนน โดยเฉพาะการคาดการณ์ความเสี่ยงของผู้ข้าม

“กระทรวงคมนาคม” และหน่วยงานท้องถิ่นต้องจัดการความเร็วถนนที่มีทางข้ามมากกว่า 2 ช่องจราจร ให้ลดเหลือ 30-40 กม./ชม.ในเขตชุมชน ทางม้าลาย, เพิ่มระยะเส้นหยุดหรือสัญลักษณ์ให้เด่นชัด

“กรมการขนส่งทางบก” กำหนดเรื่องการชะลอและหยุดให้คนข้ามทางม้าลายในหลักสูตรการสอบใบขับขี่ รวมถึงการคาดเดาความเสี่ยง.

ทีมข่าวอาชญากรรมรายงาน

[email protected]