คงไม่ปฏิเสธว่าช่วงเวลาที่โควิด-19 ระบาด เป็นช่วงที่สมาชิกในบ้านอยู่บ้านพร้อมหน้าพร้อมตากันตลอด 24 ชั่วโมง เปลี่ยนแปลงเป็นวิถีชีวิตปกติใหม่ เราอยู่บ้านและมีเวลาดูแลบ้านมากขึ้น บางบ้านยังไม่มีสมาชิกสี่ขาก็เริ่มเลี้ยงเพื่อเป็นเพื่อนของลูก ๆ บางบ้านเลี้ยงต้นไม้ให้เด็ก ๆ หัดเลี้ยงและรักธรรมชาติ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจเลือกสัตว์เลี้ยงให้ลูกคงเป็นสุนัขหรือแมวเป็นอันดับแรก สัตว์เลี้ยงก็เป็นอีกชีวิตที่ต้องการการดูแล มีความเข้าใจและความเป็นอยู่ในบ้านของเราตามสวัสดิภาพสัตว์ที่เหมาะสม

สพญ.ดร.อัจฉริยา ไศละสูต

ก่อนจะเลี้ยงสัตว์ สุนัข-แมว เราควรเตรียมตัวอะไรบ้าง

สำคัญที่สุดคือประวัติของแม่พันธุ์สุนัขและแมว ประวัติการฉีดวัคซีนและการเลี้ยงดู ควรคำนึงถึงค่าใช้จ่ายด้วย เพราะสัตว์แต่ละชนิดมีค่าใช้จ่ายเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดี รายละเอียดต่าง ๆ ที่ควรทราบ อาหารที่เหมาะสมกับพันธุ์นั้น ลักษณะนิสัยประจำพันธุ์ ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ ประวัติการทำวัคซีน และโปรแกรมทำวัคซีนตามกำหนดอายุ ปัญหาโรคเฉพาะพันธุ์ที่สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม เช่น ประวัติการมีข้อสะโพกเสื่อมที่ถ่ายทอดมาสู่ลูกได้ ที่สำคัญที่สุดสมาชิกในบ้านทุกคนชอบ และถ้าที่บ้านมีเด็กควรเลี้ยงพันธุ์ให้เหมาะสมด้วย

พฤติกรรมสัตว์เมื่อเข้าบ้านเราครั้งแรก

เมื่อท่านเลือกได้แล้วการเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่เป็นลูกสุนัขจะช่วยให้คุ้นเคยและฝึกได้ง่ายกว่าสุนัขโต นำลูกสุนัขเข้าบ้านครั้งแรก ลูกสุนัขอาจเดินสะเปะสะปะไปทั่ว ควรจำกัดบริเวณให้อยู่ในห้องหรือบริเวณที่เป็นที่อยู่ของสุนัขและปล่อยให้สำรวจสิ่งแวดล้อมใหม่บริเวณนั้น ทั้งนี้ควรอยู่กับลูกสุนัขก่อนในระยะแรก ควรจัดให้มีอาหาร น้ำ ของเล่น ที่รองนอนไว้ด้วย ให้ลูกสุนัขค่อย ๆ ปรับตัว และควรเตรียมกรงที่ปลอดภัยให้ ในกรณีที่นำลูกสุนัขตัวใหม่เข้ามาในบ้านในขณะที่มีสุนัขและแมวอยู่ก่อนแล้ว สุนัขที่อยู่มาก่อนมักรู้สึกไม่พอใจ เมื่อสุนัขตัวใหม่เข้ามาจึงควรเปิดโอกาสให้สุนัขที่อยู่ก่อนได้สำรวจสุนัขตัวใหม่ขณะที่ลูกสุนัขยังหลับอยู่ ส่วนแมวควรให้แมวสำรวจลูกสุนัขขณะลูกสุนัขยังหลับอยู่เช่นเดียวกัน การฝึกลูกสัตว์ให้อยู่ในบ้านเป็นสิ่งที่ควรทำ ในกรณีของลูกสุนัข การฝึกสุนัขให้อยู่ในบ้าน โดยเฉพาะการให้ขับถ่ายภายในบ้าน ตามปกติหลังจากการกินอาหาร ดื่มน้ำ เล่น หรือตื่นนอน มักเป็นเวลาที่ลูกสุนัขจะถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ลูกสุนัขเล็ก ๆ อาจถ่ายทุก 2–3 ชั่วโมง ควรวางลูกสุนัขบนกระดาษหนังสือพิมพ์ เมื่อลูกสุนัขถ่ายบนกระดาษแล้ว เจ้าของควรชมสุนัขด้วย เป็นการผูกมิตรและสร้างนิสัยที่ดีตั้งแต่เริ่มต้น และต่อจากนี้จะเชื่อฟังเรา

เลี้ยงสัตว์ไว้ภายในบ้านดีไหม

มีผู้เลี้ยงสัตว์หลายท่านถามเสมอ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงสัตว์ภายในบ้านมักเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ เพราะเด็ก ๆ ชอบเล่นกับสัตว์แบบใกล้ชิดด้วย อาจเกิดอันตรายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรืออาจเกิดอุบัติเหตุ อันตรายที่พบบ่อย ๆ ถูกกัด ถูกข่วน เนื่องจากเชื่อใจและคิดว่าเชื่อง ก็เลยแหย่บ้างทำให้สัตว์โมโหอาจถูกกัดได้ ดังนั้นควรพาสุนัขไปฉีดวัคซีนเป็นประจำ กรณีฉีดวัคซีนครบแล้ว ควรระวังการติดเชื้อบาดทะยัก เมื่อเด็กถูกสัตว์เลี้ยงกัดต้องพาไปพบแพทย์ทันที หรือถูกแมวข่วนอาจติดเชื้อโรค มีแผลติดเชื้อแบคทีเรียจากเล็บของแมวทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวมอักเสบได้ ดังนั้น ถ้าถูกกัดหรือข่วนควรรีบล้างน้ำสะอาดและสบู่ ทำความสะอาดบริเวณแผลด้วยแอลกอฮอล์อีกครั้งและปรึกษาแพทย์ทันที สุขอนามัยส่วนตัวสำคัญที่สุดเป็นอันดับแรก

ปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่ควรใส่ใจที่อาจพบได้ในเด็ก ๆ จากการเลี้ยงสัตว์

ปัญหาโรคภูมิแพ้ หรือโรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการเล่นอย่างใกล้ชิด เด็กชอบกอดสัตว์เลี้ยงเหมือนตุ๊กตาแต่เป็นตุ๊กตาที่มีชีวิต ขนของสัตว์ที่มีขนาดเล็กอาจเข้าทางจมูกของเด็ก ๆ ทำให้เกิดภูมิแพ้ได้ พบว่าขนของแมวอาจจะเป็นสาเหตุมากกว่าขนสุนัข เนื่องจากขนละเอียดและมีขนาดเล็ก ส่วนสุนัขอาจมีสาเหตุจากรังแคที่ติดอยู่ที่ขน เวลาสะบัดอาจปลิวเข้าจมูกของเราได้ จึงควรอาบน้ำทำความสะอาดและแปรงขนสุนัขอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรแปรงขนภายในบ้านเนื่องจากอาจสะสมอยู่ภายในบ้าน และทำให้เป็นสาเหตุของภูมิแพ้ตามมาได้ ควรอธิบายให้บุตรหลานเข้าใจแนะนำให้เลี้ยงสุนัขพันธุ์ขนสั้นจะดูแลง่ายกว่าขนยาว เป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยลดปัญหาได้

ปัญหาโรคสัตว์ติดคนที่อาจเป็นอันตรายกับเด็กได้

โรคสัตว์ติดคนคือโรคซึ่งมีสาเหตุจากสัตว์เป็นโรคที่ติดต่อสู่มนุษย์ หรือคนเลี้ยงทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน โรคอันตรายจากสัตว์เลี้ยงมาสู่คนที่สำคัญในประเทศไทยและเป็นที่รู้จักกันดี คือ โรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งทุกฝ่ายช่วยกันรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง นอกจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้วยังมีโรคสัตว์ติดคนจากสัตว์เลี้ยงที่ควรเฝ้าระวังมีอีกหลายโรค เช่นโรคพยาธิจากสุนัขและแมว ได้แก่พยาธิตัวกลม พยาธิปากขอ รวมถึงปรสิตภายนอก เห็บ หมัด ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงด้วย

อันตรายจากโรคพยาธิจากสัตว์ติดต่อสู่คน

โรคพยาธิที่พบปัญหาบ่อยที่สุดในลูกสุนัขและอาจเกิดปัญหาสุขภาพได้ในเด็กที่ชอบเล่นกับสุนัขแล้วไม่ล้างมือ แล้วหยิบอาหารเข้าปาก ตัวอ่อนของพยาธิจะเข้าสู่ร่างกายของเด็ก ๆ ได้ หรือกรณีเลี้ยงสัตว์ไว้ในบ้าน สัตว์เลี้ยงถ่ายอุจจาระไม่เป็นที่เป็นทาง ไข่ของพยาธิที่ออกมาจากสัตว์จะอยู่กับสิ่งแวดล้อม เด็กวิ่งเล่นภายในบ้านไม่ใส่รองเท้า ไข่พยาธิจะฟักตัวอ่อนแล้วเข้าสู่ร่างกายตามผิวหนังได้ อันตรายจะเกิดเนื่องจากตัวอ่อนจะไปตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบหรืออวัยวะภายในต่าง ๆ ได้ ข้อแนะนำในการควบคุมและการป้องกัน อันดับแรกคือ 1. การถ่ายพยาธิสุนัข–แมว ปรึกษาสัตวแพทย์ทำโปรแกรมการถ่ายพยาธิในสัตว์เลี้ยงของเราเป็นประจำ สัตว์เลี้ยงจะมีสุขภาพแข็งแรงด้วย 2. หลังจากเล่นกับสุนัขและแมวทุกครั้ง ควรล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารหรือทำกิจกรรมอื่น 3. ทำความสะอาดและสุขอนามัยควรให้ความสำคัญถ้าเลี้ยงสัตว์ไว้ในบ้าน

ปัญหาเรื่องเห็บ–หมัดของสุนัขและแมวเป็นอันตรายต่อเด็กหรือไม่

ปัญหานี้อยู่คู่กับการเลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงสัตว์สิ่งสำคัญคือการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงให้ดี ถ้าไม่อาบน้ำดูแลความสะอาด เด็ก ๆ เล่นกับสัตว์ก็จะสกปรกไปด้วย การอาบน้ำทำความสะอาดขนของสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอจะลดปัญหาปรสิตภายนอก ทำให้ผู้เลี้ยงจะคลายความกังวลกับปัญหาและอันตราย

เห็บและหมัดเป็นปรสิตภายนอกของสุนัขและแมว ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ป้องกันการติดเห็บ-หมัดในสุนัขและแมวซึ่งมีประสิทธิภาพดีและช่วยลดปัญหาได้มาก ปัญหาการพบเห็บ-หมัดในบ้านเราได้บ่อยมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศร้อนและชื้นเหมาะกับการเจริญเติบโต และแพร่พันธุ์ของปรสิตภายนอก โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนฤดูกาล หน้าร้อนของประเทศไทยจะพบเห็บ-หมัดสูงมาก ซึ่งอาจทำอันตรายต่อคน แต่ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่บนตัวคนได้ ปัญหาภูมิแพ้จากน้ำลายหมัดทำให้เกิดอาการคันหรือเป็นภูมิแพ้ที่ผิวหนังบริเวณที่ชอบอุ้มสัตว์ ข้อควรปฏิบัติในการป้องกันปัญหาปรสิตภายนอกจากตัวสัตว์ทำอันตรายต่อผู้เลี้ยง โดยการควบคุมปัญหาเห็บ-หมัดในสุนัขและแมวโดย 1. ควบคุมและกำจัดบนตัวสุนัขและแมวอย่างสม่ำเสมอ โดยการเลือกใช้ยาควบคุมให้เหมาะสม สิ่งสำคัญคือความสะอาดบนตัวสัตว์ 2. ทำความสะอาดที่รองนอนของสัตว์ รวมทั้งบริเวณพื้นบ้านโดยรอบอย่างสม่ำเสมอ

สัตว์เลี้ยงสุขภาพดีมีลักษณะอย่างไร?

ประการแรก ตา ตามปกติตาจะมีลักษณะมีประกายแจ่มใส สีถูกต้องตามลักษณะ ไม่มีขี้ตา ไม่มีการอักเสบของเยื่อตา ประการที่สอง ใบหู ควรเปิดดูใบหูทั้งสองด้าน ด้านในและด้านนอกส่วนใหญ่จะมีสีขาวปนชมพู ไม่มีกลิ่นเหม็นไม่มีสะเก็ดแผล และปรสิตภายนอก ประการที่สาม ผิวหนัง ผิวหนังจะไม่มีแผล คลำดูทั่วตัวไม่สะดุดและลื่น ส่วนขนจับแรงขนไม่หลุดร่วงง่าย ไม่มีปรสิตภายนอกเกาะอยู่ ประการที่สี่ เหงือก เปิดดูที่มุมปาก เหงือกมีสีชมพู ไม่มีกลิ่นปากและฟันสบกันดี ประการที่ห้า ก้น ยกหางดู บริเวณรอบก้นสะอาด ไม่มีอุจจาระแห้งกรังรอบก้น ประการสุดท้าย ลองอุ้มดู ลูกสัตว์ตัวเล็ก ๆ ควรรู้สึกว่ามีน้ำหนัก ไม่ตัวเบา การมีน้ำหนักแสดงว่ามีสุขภาพดี มีการเจริญของกล้ามเนื้อและกระดูก อาจดูว่ามีการดิ้นรนหรือไม่ด้วย เบื้องต้นแสดงว่าอาจฝึกยากและมีนิสัยซน จะได้เตรียมการดูแลให้เหมาะสม สัตว์แต่ละตัวก็มีนิสัยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการฝึกและดูแล.

ศาสตราจารย์ สพญ.ดร.อัจฉริยา ไศละสูต
อาจารย์ภาควิชาพยาธิวิทยา
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย