เมื่อโลกวันนี้มีโจทย์และปัจจัยที่แตกต่างจากโลกใบเก่า  การทำความเข้าใจและปรับจูน “กติกา” รองรับอนาคตที่ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้  จึงต้องเริ่มต้น…      

จากกระแสปิดกั้นเว็บ Pornhub ต่อเนื่องถึงการจับกุม “น้องไข่เน่า” ที่ผลิตวิดีโอเนื้อหาทางเพศผ่านเว็บ OnlyFans แบบเปิดระบบรับสมาชิก และเมื่อเร็ว ๆ นี้ กับข่าวคราวคลิปหลุดจากเว็บ OnlyFans ของ“เดียร์ลอง”

ปรากฏการณ์ตอบกลับของสังคมขณะนี้น่าสนใจ ทั้งในฐานะผู้ผลิตเนื้อหา หรือที่เรียกกันว่า เซ็กซ์ครีเอเตอร์ (Sex Creator)  ผู้บริโภค  กระทั่งคนทั่วไป ต่างสะท้อนมุมมองและมีแนวโน้มยอมรับเรื่องเพศที่เปิดเผยมากขึ้น โดยมองเป็นเรื่องปกติ และควรเลิกผูกติดกับคำว่าศีลธรรม  กลับกันเรื่องเพศ ควรมีช่องทางเรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้องมากขึ้นด้วยซ้ำ

จากการพูดคุยกับหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนงานด้านความสัมพันธ์ จะเด็จ  เชาวน์วิไล  ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ให้ความเห็นถึงสถานการณ์เรื่องเพศและอาชีพเฉพาะทางในปัจจุบันว่า ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังเป็นสังคมอนุรักษ์นิยม ส่งผลให้เรื่องเพศยังมีลักษณะของการควบคุมการแสดงออก และความรู้ที่ล้าหลังมาก ทั้งในระบบการศึกษา และกฎหมายที่นำไปสู่การควบคุม มากกว่าแก้ปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไป 

โดยเฉพาะเมื่อมองมาที่โลกความจริง การรับรู้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เติบโตรวดเร็ว หลากหลายช่องทาง เรื่องเพศเป็นอีกเรื่องที่ถูกผลักสู่เส้นทางใหม่

ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ชี้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เป็นอีกตัวแปรที่ปรับวิถีชีวิตผู้คนอย่างมาก ยกตัวอย่าง อาชีพบริการที่ได้รับผลกระทบ สถานบริการไม่สามารถเปิดได้ ทำให้ช่องทางออนไลน์ถือเป็นทางออกหนึ่ง ท่ามกลางกฎหมายที่เน้นควบคุม แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมได้ปิดช่องบางอาชีพ จึงไม่ง่ายที่จะจัดการเพียงไล่จับหรือควบคุม  มีกลุ่มคนที่มองเป็นอาชีพ  เป็นสิทธิที่ทำได้  

นอกจากนี้ หากสังเกตกระแสวิจารณ์โดยรวม อนุรักษ์นิยมค่อย ๆ อ่อนแรง  ส่วนคนรุ่นใหม่จะเข้าใจถึงการปรับตัวและวิธีคิดที่ยอมรับความจริงว่าการสื่อสารแบบเดิม เช่น นิตยสารเฉพาะทางเหมือนในอดีตมันไม่มีอีกแล้ว  ปัจจุบันคือแพลตฟอร์มออนไลน์ ดังนั้น การเรียนรู้เรื่องเพศผ่านออนไลน์มันเกิดขึ้นจริง ๆ แล้ว จะไปห้ามไม่ได้ ต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน อนุรักษ์นิยมต้องค่อย ๆ ปรับตัว จะมานั่งแช่แข็งประเทศแบบนี้ไม่ได้

สำหรับการยึดติดภาพเมืองศีลธรรม  ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เชื่อว่าคนที่คิดเช่นนี้มีไม่เยอะแล้ว อาจมีเข้มข้นในกลุ่มผู้ใช้กฎหมาย  ขณะนี้ควรเข้าใจว่าความสัมพันธ์ทางเพศเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์

“ต้องเข้าใจว่าเมื่อโตเป็นวัยรุ่น  มีฮอร์โมน จะไปบอกว่าห้ามมี มันเป็นไปไม่ได้  เมื่อห้ามไม่ได้ก็ต้องให้เรียนรู้แบบเข้าใจ รู้จักป้องกันตัวเอง  ไม่ไปเอาเปรียบใคร  ผู้ชายต้องรู้จักการยินยอม ไม่ไปใช้อำนาจเหนือกว่า  ผู้หญิงต้องรู้จักป้องกัน ไม่เกิดปัญหาท้องไม่พร้อม  เมื่อก่อนจิตรกรรมฝาผนังในศาสนสถานก็มีการสื่อสารเรื่องเพศชัดเจน  แสดงว่าที่ผ่านมา เราก็ไม่ได้มองเลวทรามน่าเกลียด”

ส่วนกรณีที่มีข้อสังเกตการเปิดกว้างเรื่องทางเพศ อาจส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาความรุนแรงและการล่วงละเมิด ในฐานะทำงานด้านความรุนแรงทางเพศ  มองในส่วนที่ต้องระวังคือ อาชีพนี้ควรให้ความรู้เรื่องที่ต้องไม่ไปละเมิดผู้อื่น การรับสื่อแล้วจะไปกระตุ้นให้เกิดการคุกคามเป็นไปได้น้อย เพราะเงื่อนไขที่กระตุ้นจากประสบการณ์ทำงานส่วนใหญ่มาจากปัญหาการใช้อำนาจที่เหนือกว่า ขาดการยับยั้ง เช่น ครูกระทำกับศิษย์ พ่อ พ่อเลี้ยงกระทำกับลูก สื่อลักษณะดังกล่าวจึงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ ในทางกลับกันอาจทำให้คนสามารถเรียนรู้หรือควบคุมตัวเองได้ 

สิ่งที่น่าห่วงคือการปกป้องคนที่จะเข้าสู่อาชีพลักษณะนี้ ไม่ให้ถูกชักนำหรือฉวยโอกาสถูกหลอก  หรือถูกละเมิดสิทธิ นำข้อมูลไปเผยแพร่โดยไม่รู้ตัว ต้องป้องกันไม่ให้มีธุรกิจสีเทาใช้โอกาสนี้เอาเปรียบคน   

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนจากนี้ควรต้องเปิดใจและรับฟัง เมื่อมีคนเรียกร้องขอกฎหมายรองรับก็ควรพิจารณาความเป็นไปได้ในอาชีพหนึ่งตามกฎหมาย มีการจัดเก็บภาษีไม่ให้มีเยอะเกินไป การสร้างกลไกดูแลตามมาตรฐานที่ควรเป็น ไม่ให้สังคมเกิดปัญหา เช่น อายุผู้ผลิตเนื้อหา การดูแลเนื้อหา เปิดช่องทางสู่การเรียนรู้เรื่องเพศที่ถูกต้องไปด้วย แทนที่จะปิดกั้นและไล่จับ การควบคุมลักษณะนี้น่าจะดีกว่าการควบคุมแบบศีลธรรม และความมั่นคงเพียงอย่างเดียว

“คนรุ่นใหม่ไม่ได้มองเศรษฐกิจอย่างเดียว เราต้องแยกแยะให้ออก อย่าเอาศีลธรรมมาจับเป็นไม้บรรทัดวัด คนรุ่นใหม่ที่ทำก็เป็นทางเลือกของเขา อย่าคิดแค่การทำเช่นนี้คือเหลวแหลก คบไม่เลือก ต้องเลิกการตีตราแบบนี้”

การเติบโตของช่องทางสื่อสารเช่นนี้จะมีให้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงยาก  เมื่อวิถีและทางเลือกอาชีพไม่ได้มีมาตรฐานตายตัว หรือถูกจำกัดแค่ที่เคยมีมา. 

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]