ในที่สุด!! รัฐบาลต้องผ่าทางตันแก้วิกฤติราคาน้ำมันแพง ด้วยการ “ยอมหั่น” ภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับคนไทยตาดำ ๆ ทั้งประเทศ

แม้เรื่องนี้ จะมีการเรียกร้องกันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ในช่วงภาวะราคาน้ำมันขาขึ้น แต่ด้วยหลักการแล้วเมื่อมี “ขึ้น” ก็ต้องมี “ลง” โดยในช่วงนั้นคาดการณ์กันว่าเมื่อพ้นฤดูหนาว พ้นไฮซีซั่น รวมถึงการบรรลุข้อตกลงในการเพิ่มการกำลังการผลิตน้ำมันของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน แล้วทุกอย่างจะคลี่คลาย

แต่ในข้อเท็จจริง… หาใช่เช่นนั้น!! วิกฤติน้ำมันแพง ยังคงลากยาวมาต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 65 ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสอยู่ที่ 89.88 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์ อยู่ที่ 91.41 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 90.71 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

มีหลายสำนักวิจัยด้านพลังงาน คาดการณ์ว่า ในปีนี้คุณๆ ท่านๆ มีโอกาสได้ เห็นราคาน้ำมันดิบพุ่งทะลุไปแตะที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แน่นอน เพราะความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจดีดตัวเพิ่มขึ้น หลังสถานการณ์โควิด-19

แถมเรื่องราวความขัดแย้งในประเทศตะวันออกกลางยังไม่คลี่คลาย ซึ่งจะยิ่งดันราคาน้ำมันให้พุ่งสูงขึ้นออกไปอีก มีการคาดการณ์จากโอเปก หรือกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก ว่าความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้ จะเพิ่มขึ้นอีกวันละ 4.16 ล้านบาร์เรลจากปีที่แล้ว ที่ใช้อยู่วันละ 100.79 ล้านบาร์เรล

 “วัฒนพงษ์ คุโรวาท”  ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน หรือสนพ. บอกว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะผันผวนสูง มีการประเมินกันว่า ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยจะอยู่ที่ 88-93 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเฉลี่ยทั้งปี 78-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 ที่สำคัญ “เงิน” ที่นำมาโปะเพื่อรักษาคำมั่นสัญญาไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลแพงไปกว่าลิตรละ 30 บาท กำลัง “ร่อยหรอ” ลงทุวัน ฐานะการเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกำลัง “บักโกรก” ล่าสุด ณ วันที่ 6 ก.พ. ติดลบแล้ววกว่า 16,052 ล้านบาท   

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้จะรับมือกันอย่างไร? โดยเฉพาะการหาเงินกู้เพื่อมาโปะฐานะของเงินกองทุนฯ ซึ่งจะสามารถใช้เงินกู้จาก พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาทได้หรือไม่?

ขณะที่หลายฝ่ายต่างเรียกร้องให้ลดภาษีสรรพสามิตลง จากปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่ในอัตราลิตรละ 5.99 บาทต่อลิตร จากราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 29.29 บาท

เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้!! หากต้องลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง ทั้งที่รายได้ของรัฐบาลที่ ณ เวลานี้ เรียกได้ว่า “ย่ำแย่” ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ ปี 65 กรมสรรพสามิต หมายมั่นปั้นมือไว้ว่าจะเก็บภาษีได้ 5.97 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากภาษีน้ำมัน และผลิตภัณฑ์น้ำมัน 2.25 แสนล้านบาท ขณะที่รายได้สุทธิของรัฐบาลทั้งหมดอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตามการตัดสินใจยอมลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ครั้งนี้ ยังต้องขึ้นอยู่ที่ประชุมครม.ในวันอังคารที่ 15 ก.พ.นี้ ว่าจะยอมหรือไม่? เพราะตามแผนของกระทรวงพลังงานได้ระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า หากราคาน้ำมันดิบพุ่งทะลุ 100 ดอลลาร์ จะขอให้กระทรวงการคลังยอมลดภาษีลง

ไม่เพียงแค่เรื่องขอลดภาษีสรรพสามิต!! ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรการของการบรรเทาภาระค่าครองชีพด้านพลังงาน แต่ยังมีเรื่องของราคาแก๊สหุงต้ม ที่ดำเนินการผ่าน “บัตรคนจน” โดยให้การอุดหนุนครั้งละ 100 บาท ทุก ๆ 3 เดือน จากปัจจุบันที่รัฐให้อยู่แล้ว 45 บาท ทุก ๆ 3 เดือน  ที่ครอบคลุมทั้งครัวเรือน ภาคขนส่ง หรือบรรดาพ่อค้าแม่ขายในกลุ่มหาบเร่แผงลอย

ก่อนหน้านี้ผู้ถือบัตรคนจนได้รับการอุดหนุน ทั้งเรื่องของราคาแก๊สหุงต้ม ค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาทต่อเดือน ค่าโดยสารรถไฟ 500 บาทต่อเดือน ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 500 บาทต่อเดือน รวมถึงการให้ใช้ไฟฟ้าฟรี กรณีใช้ไม่เกินเดือนละ 50 หน่วย หรือถ้าใช้เกินก็จะได้วงเงิน 315 บาท เป็นต้น

ทั้งหมด!!ต้องมาดูกันว่าในเมื่อแนวโน้มราคาน้ำมันยังทะยานไม่หยุดเช่นนี้… แนวทางที่เลือกใช้เพื่อดูแลคนไทย ทั้งลดภาษีสรรพสามิต ทั้งกู้มาโปะเงินกองทุนฯ สุดท้ายแล้ว…ก็ไป “หมักหมม” อยู่ที่ “ภาระการคลัง”…  นั่นยิ่งเท่ากับว่า!! ยิ่งซ้ำเติมฐานะของประเทศมากขึ้นไปอีก!!.

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”