แต่หลายคนอาจจะยังกังวลว่าเราจะไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร เมื่อมีผู้ติดเชื้อต่อวันพุ่งพรวดๆ ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคน “ทีมข่าวเดลินิวส์” ได้จับเข่าคุยกับ “นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งฉายภาพสถานการณ์ที่แท้จริงให้เห็นว่า โรคโควิด-19 ถือเป็นโรคระบาดใหญ่ที่สมบูรณ์ เพราะมีการระบาดไปทั่วโลก แต่ธรรมชาติของโรคเมื่อเกิดการติดเชื้อในระดับหนึ่งแล้วจะลดลง หลงเหลือการติดเชื้อเป็นกลุ่มเล็กๆ รวมถึงประเทศไทยสถานการณ์ก็จะเป็นเช่นนั้น

“แต่เราไม่ได้จะปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่จะมีการบริหารจัดการให้เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นอย่างราบรื่นและนิ่มนวล ไม่ให้มีผลกระทบในวงกว้างมากนัก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำมาตลอด”

โดยวางแผนไว้ประมาณ 4 เดือนจากนี้ไป หรือถึงประมาณปลายเดือน มิ.ย. ที่จะเข้าสู่ระยะหลังของการระบาดใหญ่ และเป็นโรคประจำถิ่นในที่สุด จึงเตรียมการตั้งแต่ระบบการควบคุมโรค การรักษาพยาบาล วัคซีน กฎหมาย และสังคม รวมถึงการดูแลภาวะ Long COVID ด้วย เพราะเรามีคนติดโควิดไปกว่า 2 ล้านคน บางคนอาจมีผลกระทบต่อร่างกายหรือจิตใจในระยะยาวได้ จึงต้องติดตามคนเหล่านี้ หากมีอาการมากก็ต้องเข้าสู่การดูแลรักษาต่อไป

@ มีการมองว่ายอดติดเชื้อปัจจุบันถือว่ายังสูง สวนทางกับมาตรการ สธ.ที่ปรับลดหลายอย่าง อาทิ ไม่ได้จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้ทุกคน การปรับมารักษาตัวเองที่บ้าน

เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ วันนี้แม้จะมีการติดเชื้อมาก แต่โรคก็ลดความรุนแรงลงไปมาก หลายประเทศดำเนินการในลักษณะนี้ ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลการติดเชื้อทั่วโลก หลายประเทศผ่านช่วงการระบาดรุนแรงของสายพันธุ์โอมิครอนไปแล้ว และลดลงมาอยู่ระดับปกติ หลายประเทศไม่ได้ใช้มาตรการป้องกันแล้ว เช่นเดียวกับประเทศไทย ก็เป็นช่วงท้ายๆ ของการระบาด และผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน 95% อาการไม่รุนแรง อีก 4-5% มีอาการปานกลาง

ส่วนที่มีอาการมากต้องใส่ท่อช่วยหายใจมีไม่ถึง 1% เรามีการเก็บข้อมูลในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากสายพันธุ์เดลตามาเป็นสายพันธุ์โอมิครอนในคนไข้ที่รักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) 4,000 คน ปรากฏว่าลักษณะการดำเนินโรคต่างไปจากสมัยการระบาดของสายพันธุ์อัลฟา, เดลตา ที่คนไข้กลุ่มอาการสีเขียวมากกว่า 10% มีอาการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นค่อนข้างเร็ว แต่ปัจจุบันคนติดเชื้อโอมิครอนที่อยู่ HI มีเพียง 0.5 % ที่อาการเปลี่ยน แต่ไม่ได้รุนแรงเท่าเดลตา เช่น มีไอมากขึ้น เหนื่อย เป็นต้น ซึ่งอาจต้องมารักษาใน รพ. เมื่อหายแล้วก็กลับบ้าน สำหรับอัตราการป่วยเสียชีวิตเฉลี่ยตอนนี้อยู่ที่ 0.19% ต่ำกว่าไข้เลือดออกที่เป็นโรคประจำถิ่นของไทย

“การมองแค่ตัวเลขผู้ติดเชื้ออย่างเดียว ไม่ได้สะท้อนถึงความรุนแรงของโรค เพราะสายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้ก่อโรครุนแรง ตอนนี้เรามีผู้ติดเชื้อโอมิครอนสะสมประมาณ 2 แสนราย เท่ากับตอนที่เป็นสายพันธุ์เดลตา แต่ตอนนั้นคนต้องนอน รพ.เยอะมาก เพราะโรครุนแรง ขณะที่ตอนนี้โรคไม่รุนแรง ประกอบกับเรามีการฉีดวัคซีนมากขึ้น มียาเพียงพอ”

@ ปัจจัยใดที่ทำให้ตั้งเป้ามาที่ 4 เดือน  

กรมควบคุมโรคได้มีการสร้างฉากทัศน์เพื่อใช้สำหรับการควบคุมป้องกันโรค โดยอิงจากข้อมูลสถานการณ์ขณะนั้น ทั้งการฉีดวัคซีน ข้อมูลความสามารถของตัวโรค ข้อมูลการติดเชื้อ ป่วยหนัก เสียชีวิต ปัจจัยปกป้องคืออะไร เมื่อคำนวณแล้วตอนนี้เราไม่ได้ถือว่าเป็นช่วงขาขึ้นเพราะไม่ได้ขึ้นมาก แต่เป็นช่วงของการต่อสู้ คาดว่าประมาณ 2-6 สัปดาห์จากนี้ จะเข้าสู่แนวระนาบ หรือทรงตัวและค่อยๆ ลดลง ประมาณ 2 เดือนก็น่าจะลดลง และน่าจะไปแตะระดับที่เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น คือ มีวัคซีนที่มากพอ คนในประเทศมีภูมิคุ้มกันมากพอ โรคไม่ได้รุนแรง ระบบสาธารณสุขรองรับได้  

 @ วัคซีนที่มากพอจะนับที่เข็ม 3 หรือไม่

ต้องดูที่กลุ่มประชากร เพราะภาวะความเสี่ยงของแต่ละช่วงวัยต่างกัน ขณะนี้คนที่อายุต่ำกว่า 50 ปี อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า 0.1% แต่คนอายุมากกว่า 60 ปี มีอัตราการเสียชีวิตสูง ดังนั้นในคนอายุต่ำกว่า 50 ปี สัดส่วนการได้รับวัคซีนในปัจจุบันถือว่าค่อนข้างมีความปลอดภัย เราจึงตั้งเป้าหมายวัคซีน 3 เข็มในกลุ่มเสี่ยงเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันกลุ่มนี้ ส่วนอัตราการเสียชีวิตกรณีเป็นโรคประจำถิ่นไม่ได้มีกำหนดตายตัว แต่ดูจากโรคประจำถิ่นอื่นๆ แล้วนำมาหาค่าเฉลี่ยก็จะอยู่ที่ประมาณ 0.1%

@ ตอนนี้มีข้อมูลหรือไม่ว่าถ้าโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นจะมีระยะการฉีดวัคซีนอย่างไร สามารถถอดหน้ากากได้เลยหรือไม่

ยังไม่สามารถตอบได้ แต่ในหลายโรคจากที่เคยเป็นโรคระบาดใหม่แล้วมาเป็นโรคประจำถิ่นนั้น บางตัวก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน ส่วนบางตัวก็ยังต้องฉีด เช่น หากเหมือนไข้หวัดใหญ่ก็ยังต้องฉีดวัคซีน หากเหมือนไข้หวัดธรรมดาก็ไม่ต้องฉีด ดังนั้น ยังต้องดูว่าโรคจะเป็นอย่างไรต่อไป ส่วนเรื่องหน้ากากอนามัยนั้น คนที่ไม่ติดเชื้อจะใส่หรือไม่ก็ได้ แต่คนที่ติดเชื้อต้องใส่เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อไปคนอื่นเหมือนกับคนที่เป็นหวัด เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ

@ การต่อสู้กับโควิดมา 2 ปีกว่าประเมินแล้วอะไรคือส่วนยาก-ส่วนง่าย และประเมินสิ่งที่เราทำมาเป็นอย่างไร

การควบคุมโรค 2 ปีที่ผ่านมา ทุกคนทำงานเต็มที่ และอยู่บนข้อมูลจริง ทำตามหลักวิชาการ และร่วมมือกันในรูปแบบของคณะกรรมการ เรามีการประชุม EOC ไปถึง 429 ครั้ง ฉีดวัคซีนมากกว่า 125 ล้านโด๊ส ดูแลรักษาผู้ป่วยกว่า 2 ล้านคน บุคลากรทุกคนล้วนทำงานหนัก บางส่วนก็ติดเชื้อ ต้องปิดบริการส่วนนั้นไป แต่ทุกฝ่ายพยายามดูแลทุกคนอย่างเต็มที่ รัฐบาลเองก็สนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถทำงานได้อย่างดี

@ เพื่อให้โควิดในประเทศไทยกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ตามเป้าหมาย ประชาชนควรมีส่วนช่วยอย่างไรบ้าง

มาตรการ VUCA คือสิ่งสำคัญ การฉีดวัคซีน โดยเฉพาะคนกลุ่มเสี่ยง 608 ควรมาฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ที่แนะนำ ลูกหลานต้องดูแล และคงการปฏิบัติตัวตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคแบบครอบจักรวาล ไม่ไปสถานที่เสี่ยง สถานที่แออัด สวมหน้ากากอนามัย ช่วงนี้อาจจะต้องมีการตรวจคัดกรองด้วย ATK อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะคนที่มีความเสี่ยง ซึ่งต่อไปหากเข้าสู่ช่วงที่โควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว การตรวจ ATK อาจจำเป็นน้อยลง