วงการแพทย์คาดกันว่าการแพร่ระบาดของ “โอมิครอน” กำลังเริ่มเข้าสู่จุด “พีค” และจะเริ่มบรรเทาเบาบางลงในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ แต่!! ความพีคในแต่ละพื้นที่จะไม่ใช่เวลาเดียวกัน

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้โชว์ฉากทัศน์โอมิครอน โดยระบุว่า การระบาดในเดือน มี.ค.จะอยู่ในแนวระนาบที่เริ่มทรงตัว จากนั้นค่อย ๆ ลดลง เข้าสู่โรคประจำถิ่นต่อไป

นั่นหมายความว่า…ประชาชนคนไทย ก็ต้องเรียนรู้ที่ต้องอยู่กับไวรัสร้ายนี้ให้ได้ เช่นเดียวกับการเรียนรู้ที่ต้องอยู่กับความยากลำบากในภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ลืมตาอ้าปากได้อย่างเต็มที่ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก ที่ “ไฮเทค” กำลังคืบคลานเข้ามาอย่างรวดเร็ว

ในข้อเท็จจริง ยังมีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และมีอีกจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ที่เปลี่ยนแปลงหรือตั้งรับ “ไม่ทัน” แถมยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาไฟสงครามของรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันในไทยที่กำลังแพงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องถึงต้นทุนสินค้า

บรรดาเจ้าของสินค้าหลายราย กำลังหมดแรง!! ไม่สามารถยื้อยุดหยุดราคาสินค้าไว้เท่าเดิมอีกได้ เพราะต้นทุนสูงขึ้นมากเหลือเกิน คาดเดากันว่าเมื่อหมดคำมั่นในสัญญาในเดือน มี.ค.นี้ คงหนีไม่พ้นต้องขยับราคาสินค้าขึ้นกันบ้าง

อย่าลืมว่าตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ คนไทยทั้งประเทศต้องเผชิญกับราคาน้ำมันแพง หมูแพง น้ำมันปาล์มแพง ไข่แพง ไก่แพง และอีกสารพัดแพง แม้มีการห้ามปราม มีการขอความร่วมมือจากภาครัฐ ให้ชะลอการขึ้นราคา ก็ตาม

แต่ในเมื่อต้นทุนพุ่ง รับมือไม่ไหว สุดท้าย หนีไม่พ้น ที่สินค้าต้องพาเหรดขึ้นราคา!!

คำถาม? คือ แล้วจะอย่างไรต่อ…

ล่าสุด!! โฆษกรัฐบาล ได้ออกมาตีฆ้องร้องป่าว ว่า กระทรวงการคลังกำลัง “พิจารณา” ว่า สิทธิที่เหลือจากโครงการคนละครึ่งเฟส 4 ที่ยังมีผู้ไม่ได้มาใช้สิทธิตามเวลาที่กำหนด เหลืออยู่ 2.6 ล้านสิทธิ จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

หากคำนวณจำนวนเงินที่เหลืออยู่ จากสิทธิที่รัฐบาลให้คนละ 1,200 บาท ที่ต้องใช้ให้หมดภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้ เท่ากับว่า ยังมีเงินที่ไม่ต้องควักจ่ายอีก 3,120 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังประเมินว่า อาจถึงจุดอิ่มตัว” ของผู้ที่ต้องการได้รับสิทธิ หรือไม่?

ความคืบหน้าโครงการคนละครึ่ง 4 ล่าสุด วันที่ 3 มี.ค. 65 ผู้ใช้สิทธิ 26.23 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 49,420.9 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 25,104.7 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 24,316.2 ล้านบาท

ยอดใช้จ่ายส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ร้านอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 20,417 ล้านบาท รองลงมาคือ ที่ร้านค้าทั่วไป มีการใช้จ่าย 17,279.6 ล้านบาท ขณะที่ร้านธงฟ้า 8,553.9 ล้านบาท ร้านขายสินค้าโอทอป 2,213.6 ล้านบาท ร้านบริการทั่วไป 867.7 ล้านบาท และกิจการขนส่งสาธารณะ 89.1 ล้านบาท

ส่วนการใช้จ่ายผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์ม มีการใช้จ่ายสะสม 1,424.7 ล้านบาท โดยเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายเอง 737.3 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 687.4 ล้านบาท ขณะที่มีบรรดาร้านค้าที่ให้บริการผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่ แพลตฟอร์ม มีจำนวน 92,300 ราย

ในแง่ของคนที่ “ต้องหาเงิน” อย่าง “ขุนคลัง-อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ก็ออกมาเปรยไว้ล่วงหน้า การเดินหน้าต่อหรือไม่ต่อกับโครงการ “คนละครึ่ง” ยังมีเวลาให้ขบคิด เพราะกว่าโครงการระยะที่ 4 จะจบลง ก็ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ซึ่งเท่ากับว่ายังมีเวลาอีก เดือนกว่า ๆ

ทั้งหลายทั้งปวง…ก็ต้องขึ้นอยู่กับ “คณะผู้บริหารประเทศ” ว่า จะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไรต่อไป จะให้สิทธิคนเดิมต่อ หรือจะเปิดให้สิทธิ รายใหม่ หรือเลือก “ปิด” โครงการไปเลย

เพราะเวลานี้รัฐบาลมีข้อจำกัด…ทั้งเรื่องของเงินงบประมาณ ที่มีรายได้แทบไม่พอกับรายจ่าย หรือแม้แต่วงเงินกู้ก้อนที่ 2 อีก 5 แสนล้านบาท ที่เหลืออยู่เพียง 97,134.77 ล้านบาท ที่เวลานี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ขอจองเงินกู้ที่เหลืออยู่ไว้แล้ว วงเงิน 51,065.13 ล้านบาท เพื่อไว้เยียวยาโควิด

แต่ในแง่ของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ก็ต้องใจจดใจจ่อ ว่า…สุดท้ายแล้วผู้บริหารประเทศมีฝีมือมากน้อยอย่างไรในการดูแลค่าครองชีพของคนไทย ท่ามกลางภาวะ “แพงทั้งแผ่นดิน”

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”