หลังสงครามโลกครั้งที่ 2​ สิ้นสุดลงใน​ปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488)​ ประเทศผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตร​ (Allies)​ ประกอบด้วย​ สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต​ สหราชอาณาจักร​ สาธารณรัฐประชาชนจีน​ เป็นประเทศผู้ชนะสงคราม มีชัยเหนือฝ่ายอักษะ​ (Axis Powers)​ ประกอบด้วย​เยอรมนี​ อิตาลี​ ญี่ปุ่น ต่อมาในราวปี ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) สงครามเย็น (Cold war) ได้เริ่มก่อตัวขึ้น​ มีสาเหตุเกิดจาก สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำโลกเสรีนิยม (Liberalism) และ สหภาพโซเวียตซึ่งเป็นผู้นำโลกสังคมนิยม (Socialism) มีความไม่ลงรอยกันเพราะมีความแตกต่างกันในทุกด้าน ตั้งแต่การต่อสู้เชิงความคิดทางอุดมการณ์​ (Ideology)​ ระบอบการปกครองประเทศ ระบบเศรษฐกิจ​และการดำเนินชีวิตอย่างมีสิทธิและเสรีภาพ จึงนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกัน มีการเผชิญหน้ากันเป็นระยะๆ

สงครามเย็นเป็นสงครามที่ไม่มีการสู้รบโดยตรงระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต แต่เป็นสงครามตัวแทน​ (Proxy war) ซึ่ง​มีรูปแบบและวิธีดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามจิตวิทยา (Psychological warfare) การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) การจารกรรม (Espionage) การไม่คบค้าสมาคมด้วย (Boycott) การแข่งขันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านอวกาศ ตลอดจนการชิงความเป็นเจ้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

การเผชิญหน้ากันระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตภายใต้ภาวะสงครามเย็น​ ​​ส่งผลให้ประเทศในแต่ละภูมิภาคของโลกต้องเลือกข้างอยู่กับประเทศมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง​ ขึ้นอยู่กับประเทศนั้นๆ​ มีการพึ่งพาและได้รับการช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพโซเวียต​ ไม่ว่าจะเป็นด้าน​เศรษฐกิจ​ สังคม​ การเมือง​ และความมั่นคง

องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization- NATO) เกิดจากการเป็นประเทศพันธมิตรทางการทหารร่วมกันของสหรัฐอเมริกาและประเทศในทวีปยุโรป​ ซึ่งมีการลงนามในสนธิสัญญากรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491)​ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) เริ่มแรกมีสมาชิกรวม​ 12​ ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ และโปรตุเกส​

ต่อมาในปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534)​ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ มีการเปิดรับประเทศสมาชิกจากประเทศในยุโรปตะวันออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เช็ก ฮังการี โปแลนด์ และในปี​ ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือมีการเปิดรับประเทศสมาชิกซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่แตกตัวจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เข้าเป็นสมาชิกเพิ่มเติม​ ได้แก่ บัลแกเรีย​ เอสโตเนีย​ ลัตเวีย​ ลิทัวเนีย​ สโลวาเกีย​ สโลวีเนีย และ โรมาเนีย ปัจจุบันองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือมีสมาชิกรวม 30 ประเทศ

สถานการณ์โลกในปัจจุบันมีความตึงเครียด จากกรณีที่รัสเซียส่งกองกำลังปฏิบัติการพิเศษรุกเข้าไปในดินแดนยูเครน เป็นเพราะยูเครน ซึ่งเคยเป็นประเทศอยู่ในกลุ่มสหภาพโซเวียตเดิมก่อนการล่มสลาย และเป็นชนชาติสลาฟเช่นเดียวกับรัสเซีย มีความสัมพันธ์กันมายาวนานหลายร้อยปี มีความเอนเอียงฝักใฝ่เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัสเซีย ในขณะที่องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ก็ไม่สนใจกับข้อกังวลและความห่วงใยของรัสเซียที่ต้องการเห็นยูเครนอยู่ในสถานภาพของประเทศที่เป็นกลาง จึงนำมาสู่เหตุการณ์การสู้รบของรัสเซียกับยูเครนมาตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) ผ่านมาแล้วเป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ เหตุการณ์สู้รบที่เกิดขึ้น ทำให้พลเมืองยูเครนเสียชีวิตหลายร้อยคน และบาดเจ็บอีกนับพัน รวมถึงการสูญเสียชีวิตของทหารทั้งสองฝ่ายที่สู้รบกัน อีกทั้งมีพลเมืองชาวยูเครน ต้องอพยพหนีภัยสงครามไปอยู่ประเทศอื่นราว 2 ล้านคน

เหตุการณ์สงครามที่เกิดขึ้นนี้สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ที่กำลังจะฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 กลับต้องชะงักงัน และทำทีว่าจะถดถอยลงอีกครั้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการเผชิญหน้าของประเทศมหาอำนาจโลกระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซีย ที่ไม่สามารถตกลงกันฉันมิตร เมื่อไม่ยอมอ่อนข้อให้กัน ​ก็เปรียบเสมือนช้างสารชนกัน​ หญ้าแพรกก็แหลกลาญ​ โลกดาวเคราะห์นี้ยากที่จะเกิดสันติสุข​ ตราบใดที่ความเจริญทางจิตใจของมนุษย์ยังไม่มีการพัฒนาให้สูงขึ้น

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ :
สาระจากพระธรรม