เมื่อระดับน้ำลดลงแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ออกประเมินสภาพความเสียหาย อันเกิดจากน้ำท่วมไหลบ่าท่วมบ้านเรือน ในพื้นที่ทางตะวันตกและตอนใต้ของเยอรมนี แล้วยังมีเบลเยียม กับเนเธอร์แลนด์ อาคารบ้านเรือนพังทลาย สะพานขาดสะบั้น ผู้เสียชีวิตกว่า 170 ศพแล้ว ด้านบริษัทประกันภัยเอ็มเอสเคประเมินความเสียหายไว้กว่า 1 พันล้านยูโร หรือ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายโฮร์สต์ ซีโฮเฟอร์ รัฐมนตรีมหาดไทยเยอรมนี ไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบภัย ที่เมืองน้ำพุร้อน บัด เนือนนาห์-อาห์ไวเลอร์ บอกว่า การฟื้นฟูพื้นที่ต้องใช้งบหลายพันล้านยูโร นอกเหนือจากความช่วยเหลือฉุกเฉินจากภาครัฐ แต่มูลค่าการออกแบบและสร้างสาธารณูปโภคให้ดีขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาจากภัยธรรมชาติเช่นนี้ อาจสูงกว่าหลายเท่า

DW Documentary

ภัยธรรมชาติที่เห็นได้ในช่วงไม่นานนี้ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นอากาศร้อน และไฟป่าในอเมริกาเหนือ และไซบีเรีย ยังมีน้ำท่วมใหญ่ในยุโรปที่ก้าวขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญ ของการนำเรื่องภาวะโลกร้อนเข้าสู่วาระการเมืองด้วย นอกจากนั้น ก็ยังมีน้ำท่วมใหญ่ในมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน รายงานบอกว่าปริมาณน้ำฝนตกทั้งปีนั้น วัดได้เท่ากับตกในสามวันของที่นั่น

สหภาพยุโรปได้เปิดตัวโครงการตั้งเป้าความสำเร็จสูง เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน เน้นไปที่ต้อตอของปัญหา เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อที่จะไม่ให้อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยสูงขึ้นไปอีก

นอกจากนั้น ก็ยังจะสนับสนุนแผนกอบกู้เศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 อีก 7.5 แสนล้านยูโร มุ่งไปที่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบปกติและยั่งยืน แต่เพราะความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ที่แสดงออกมาแล้วว่า สภาพอากาศแปรปรวนอันเกิดจากภาวะโลกร้อน ตามที่นักวิทยาศาสตร์เคยประเมินเอาไว้นั้น มันได้เกิดขึ้นมาแล้ว และจำต้องหาทางแก้ไขโดยด่วน

ศาสตราจารย์ลาเมีย เมสซารี-เบคเกอร์ อาจารย์ด้านฟิสิกส์เทคโนโลยี อาคารและก่อสร้าง มหาวิทยาลัยไซเกน บอกว่า เราจำเป็นต้องสร้างสาธารณูปโภคขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำ เขื่อนกั้นน้ำ ระบบระบายน้ำป้องกันน้ำล้นตลิ่งริมแม่น้ำ และระบบบำบัดน้ำเสียที่แข็งแรง พนังกั้นน้ำและอื่น ๆ ถือเป็นงานใหญ่ และควรจะเป็นหน้าที่ของวิศวกร

หลังน้ำท่วมใหญ่เป็นระลอกในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา มีหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบได้ใช้มาตรการป้องกันแล้ว เช่น การจัดการที่ราบน้ำท่วมถึง ให้สามารถดูดซึมน้ำได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ความเร็วและขนาดของภัยธรรมชาติอันเกิดจากฝนตกหนักไม่ถูกต้องตามฤดูกาล บวกกับมวลความกดอากาศต่ำกำลังแรง ทำให้ยากที่จะได้เตรียมตัวรับมือ กับสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงยิ่งขึ้น

DW News

วิม เธียรี นักวิทยาศาสตร์ด้านโลกร้อนแห่งมหาวิทยาลัยเวร์จี ในกรุงบรัสเซลส์บอกว่า เมื่อภาวะโลกร้อนยังดำเนินต่อไป สภาพอากาศแปรปรวนก็ยังจะทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ซึ่งมันคงบอกได้แค่ว่า เราจะป้องกันตัวได้แค่ไหน การลดก๊าซเรือนกระจกก็จำเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่สำคัญเท่าสภาพอากาศ เพราะมันเป็นสภาพอากาศที่อยู่กับโลกมาเป็นทศวรรษแล้ว แต่ก่อนที่จะถึงตอนนั้น เราควรที่จะปรับเปลี่ยน หรือสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่สามารถใช้งานได้ในการบริหารจัดการน้ำ เกษตรกรรม ขนส่ง พลังงาน และเคหะ

ส่วนแพทริก วิลเลมส์ ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมชลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคยู ลูเวิน ประเทศเบลเยียม บอกว่า เขาคิดว่าทุกคนได้ตระหนักแล้วว่า สภาพอากาศเลวร้ายเกิดขึ้นมาแล้วจริง ๆ ซึ่งนี่ไม่ใช่การทำนายและมันเกิดขึ้นแล้วจริง.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS