สานต่อการประกวดศิลปกรรมและจัดการแสดงอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ” โดยครั้งที่ 67 จัดแสดงนิทรรศการ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า แสดงผลงานศิลปกรรมที่ได้รับรางวัลและผลงานที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมแสดงถึง 17เมษายน จากนั้นจัดแสดง ณ สถาบันศิลปะในส่วนภูมิภาค

การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ นับเป็นเวทีการประกวดระดับชาติที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน โดยมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดการแสดงต่อเนื่อง สำหรับครั้งที่ 67 กว่าสองร้อยผลงานทั้งจากประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และสื่อประสม ที่เข้าร่วมประกวด คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคัดเลือกและตัดสินผลงานศิลปกรรมได้รับรางวัลในประเภทต่างๆรวม 18 รางวัล และผลงานที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมแสดง 63 ผลงาน

ส่วนหนึ่งจากนิทรรศการฯพาชม “มิติความดีงามของอารยธรรมแห่งบรรพชน” โดย ศักชัย อุทธิโท รางวัลประกาศนียบัตรกียรตินิยม อันดับ 2 เหรียญเงิน ประเภทจิตรกรรม “วัฒนธรรม จารีตประเพณีของสังคมชนบทที่สืบทอดต่อๆกันมาคือสิ่งที่ผู้สร้างสรรค์ใช้เป็นแรงบันดาลใจเบื้องต้นโดยกลั่นกรอง วิเคราะห์การใช้ทัศนธาตุในการสร้างสรรค์เส้น สีและบรรยากาศ เส้นเกิดจากการเรียนรู้สัมผัสภายในจากสัจธรรมแห่งวิถีชีวิตของความจริงแท้ สีและจุดเกิดจากการสัมผัสและสั่งสมธาตุรู้ที่สกัดจากวัฒนธรรม สร้างอารมณ์ที่พริ้วไหว ถักทอทับซ้อน ระยิบระยับ เคลื่อนไหว พร่าเบลอ เพื่อกระตุ้นความรู้ สึกจากประสบการณ์ของผู้ชมให้เกิดเงาสะท้อนขึ้นในใจฯลฯ”     

“ชีวิตคือของขวัญ” โดย อริยะ กิตติเจริญวิวัฒน์ อีกผลงานรางวัลเหรียญเงิน ประเภทประติมากรรม “ของขวัญชิ้นแรกคือชีวิตเมื่อเริ่มลืมตามองโลกจากผู้ให้กําเนิด การเลี้ยงดูทะนุถนอม สรรหาสิ่งของมากมายทั้งขนมลูกอมมาให้ เมื่อเติบใหญ่ ของขวัญชิ้นต่อมาได้รับมากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่จะไขว่คว้า สุข ทุกข์ สมหวังและผิดหวังคละเคล้ากันตามกาลเวลา”

“พื้นที่ความสงบ” ภาพพิมพ์แกะไม้ โดย ประวีณ เปียงชมภู อีกหนึ่งผลงานรางวัลเหรียญเงิน ประเภทภาพพิมพ์ “พื้นที่ความสงบ เป็นการสร้างเอกภาพทางสุนทรียศาสตร์ในพื้นที่สภาวะที่ทับซ้อนเพื่อมุ่งถึงความสงบของจิต ด้วยกลวิธีและกระบวนการสร้างสรรค์ทางศิลปะภาพพิมพ์ที่สื่อสาระความหมาย และความรู้สึกสภาวะนามธรรมแห่งความสงบภายในจิต  ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ภายในห้องที่มีความหมายในเชิงกายภาพแสดงออกร่วมกับการจัดวาง ใช้สื่อที่เป็นวัตถุสิ่งของร่วมกับบรรยากาศ สี แสง เงาที่ผสานสัมพันธ์กันเป็นสัญลักษณ์แห่งความหมาย และความคิดของเรื่องราวเนื้อหา แสดงออกผ่านกระบวนการทางเทคนิคภาพพิมพ์แกะไม้ในลักษณะที่เบาบางทางสายตาด้วยกรรมวิธีขูด ขัด แกะ และในขั้นตอนการพิมพ์ ฯลฯ” อีกผลงานจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ.