กระทั่งวันนี้แก๊งคอลเซ็นเตอร์กลับมาระบาดหนัก พร้อมการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี กลายเป็นคอลเซ็นเตอร์ “สายพันธุ์ใหม่” ที่รุนแรงกว่าเดิม ทั้งวิธีการ และผลลัพธ์ความสูญเสีย

“วิธีการ” ในอดีตเพียงโทรศัพท์หลอกลวง แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เน้นขู่ให้เหยื่อรู้สึกหวาดกลัวว่าจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย มี “โพยบท” มาตรฐาน คนรับส่งบทไม้หนึ่ง ไม้สอง ใช้เทคนิคไม่วางสาย กล่อมจนเหยื่อเดินไปกดโอนเงินที่ตู้เอทีเอ็ม (ATM) จนหมดบัญชี โดยปลายทางเป็นบัญชีม้าที่ขบวนการจะตระเวนกดเงินออกทันที

แต่ปัจจุบันโทรศัพท์หลอกเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อ้างส่งพัสดุไปรษณีย์ เน้นความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมาย ต้องโอนเงินให้ตรวจสอบ เพิ่มบทบาททำทีเข้าใจสถานการณ์เหยื่อและต้องการช่วยเหลือให้พ้นผิด “เพิ่ม” ขั้นตอนสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการขอแอดไลน์เพื่อส่งหมายจับ (ปลอม) หรือวิดีโอคอล สร้างบรรยากาศ และเสียงเหมือนเป็นสถานีตำรวจ ไปจนถึงการนัดหมายให้เหยื่อมาพบในสถานที่ราชการเพื่อให้การสนทนา “สมจริง” และ “น่าเชื่อถือ” มากที่สุด 

“ผลลัพธ์ความสูญเสีย” ปัจจุบันเกิดขึ้นรวดเร็วมากเพราะเทคโนโลยีโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ต้องเดินทางไปโอนเงินที่ตู้เอทีเอ็มเพียงกดโอนผ่านโทรศัพท์มือถืออยู่กับที่…ก็หมดตัวได้ง่าย ๆ

ยังไม่นับรวมเล่ห์เหลี่ยม “ขบวนการ” ที่ปรับตัวรายวัน ตั้งแต่ธุรกิจขายบัญชีม้า-ซิมเถื่อนผ่านโซเชียล ประกาศหาแรงงานไทยไปเป็นขบวนการได้เงินเดือน แถมคอมมิชชั่น

ล่าสุดยังอาจหาญ “ล้วงคองูเห่า” ใช้วิธียืมมือหลอกขอ “ข้อมูลส่วนบุคคล” จากหน่วยงานรัฐ เอกชน เนื้อหาแอบอ้างว่าต้องการประสานงาน หรือขอความร่วมมือหน่วยงานติดตามตัวบุคคลเพื่อขอหมายจับ หรือข้อมูลที่พักอาศัย หรือที่ทํางานในบริษัทว่ามีใครบ้าง

ถึงขั้นพยายามหลอกให้เจ้าหน้าที่เข้าไปติดต่อกับเป้าหมายโดยตรง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์!!!

“เชื้อร้าย” แตกตัว พัฒนาไปไกล กระทั่งผู้บังคับบัญชาระดับสูง “ตำรวจไซเบอร์” ยังเจอมากับตัว จนพ่นวลี “อย่าทะลึ่ง” ใส่มาแล้ว

เหิมเกริมเช่นนี้  ไม่แปลกที่การออกมาเตือนผ่านเพลง “อย่าโอน” จะถูกวิจารณ์คล้ายไม่เข้า “จังหวะ” ที่ไม่ได้แปลว่าร้องเพี้ยน แต่หมายถึงจังหวะความเดือดร้อนที่ไปทั่วทุกหย่อมหญ้า และการคาดหวังเร่งรัดมาตรการสกัดกั้นอย่างแข็งขันทันวิกฤติ

โดยเฉพาะบทบาทด่านหน้าอย่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กับมาตรการสกัดสายจากมิจฉาชีพที่ยังเล็ดลอดอยู่ทุกวี่วัน  

เชื่อในเจตนาดีที่ต้องการสร้างภูมิผ่านเพลง “ติดหู” แต่ใส่มาผิด “จังหวะ” ที่หลายคนยังต้องหงุดหงิดรับสายไม่พึงประสงค์ทุกวี่วัน.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]