รายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ตอนนี้กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนกำลังเร่งผลิตขนานใหญ่ อาวุธอเนกประสงค์ ต่งเฟิง-26 (DF-26) ขีปนาวุธพิสัยกลาง ที่มีพิสัยยิงไกลกว่า 5,000 กม. ขณะที่สหรัฐซุ่มพัฒนาอาวุธใหม่ที่เหมาะสำหรับการต่อต้านจีน ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยเฉพาะ

กลุ่มนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง มองว่า ก่อนสิ้นสุดคริสต์ทศวรรษนี้ เอเชียจะเต็มไปด้วยขีปนาวุธในรูปแบบสมรรถนะสูง ยิงได้ไกลและเร็วกว่า และทรงพลังมากกว่าเดิม เป็นความเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้ชัด และอันตราย จากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เดวิด ซานโตโร ประธาน Pacific Forum กล่าวว่า สถานการณ์ขีปนาวุธกำลังเปลี่ยนแปลงในเอเชีย และเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก อาวุธชนิดนี้หาซื้อได้ง่ายกว่าเดิม เมื่อประเทศหนึ่งมี อีกหลายประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องหาซื้อ หรือพัฒนาขึ้นมาเองบ้าง

ขีปนาวุธสร้างความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ดังจะเห็นได้ชัดจากกรณีของเกาหลีเหนือ ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือเจรจาต่อรองอย่างได้ผล ทุกครั้งที่เปียงยางส่งสัญญาณสานต่อการพัฒนา สร้างความวิตกหนักแก่หลายประเทศปรปักษ์ โดยเฉพาะสหรัฐ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ผลกระทบในระยะยาวยังไม่อาจคาดการณ์ได้ แต่มีโอกาสน้อยมาก ที่การแข่งขันสะสมขีปนาวุธ จะช่วยลดความตึงเครียดและรักษาสันติภาพ ในทางตรงกันข้าม มันมีแนวโน้มทำให้เกิดความระแวง เพิ่มความตึงเครียด และท้ายสุดทำให้เกิดวิกฤติ ที่อาจรุนแรงถึงขั้นกลายเป็นสงครามสู้รบ

จากเอกสารกองทัพสหรัฐประจำปี 2564 ที่ยังไม่มีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ศูนย์บัญชาการอินโด-แปซิฟิกสหรัฐ หรือ อินโดแปคอม (U.S. Indo-Pacific Command : INDOPACOM) มีแผนติดตั้งอาวุธโจมตีระยะไกลรุ่นใหม่ ในดินแดนพันธมิตรของสหรัฐ ที่อยู่ตามแนว “ด่านแรก” นอกชายฝั่งตะวันออกของจีนและรัสเซีย เช่น ญี่ปุ่นและไต้หวัน

อาวุธเหล่านี้รวมถึง ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงพิสันไกล หรือ แอลอาร์เอชดับเบิลยู (Long-range Hypersonic Weapon : LRHW) ที่สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ และพุ่งโจมตีเป้าหมายที่อยู่ไกลออกไปกว่า 2,775 กม. ด้วยความเร็วเหนือเสียงกว่า 5 เท่า

แต่โฆษกของอินโดแปคอม ซึ่งอยู่ที่เกาะกวม เผยต่อรอยเตอร์ว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจ สถานที่ติดตั้ง LRHW และประเทศพันธมิตรของสหรัฐในภูมิภาค ส่วนใหญ่ยังมีท่าทีไม่เต็มใจให้เข้าไปติดตั้งในเขตดินแดน ยกเว้นญี่ปุ่นซึ่งอาจจะให้ติดตั้ง ที่หมู่เกาะโอกินาวา ที่อยู่ทางใต้สุดของประเทศ

บางประเทศพันธมิตรของอเมริกากำลังพัฒนาขีปนาวุธของตนเอง เช่นออสเตรเลีย ที่เพิ่งประกาศเมื่อเร็ว ๆ นี้ จะทุ่มงบประมาณราว 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.28 ล้านล้านบาท) ในระยะ 20 ปี เพื่อพัฒนาขีปนาวุธเทคโนโลยีล้ำยุค

ญี่ปุ่นใช้เงินหลายร้อยล้านดอลลาร์จัดซื้อขีปนาวุธพิสัยไกลแบบยิงจากอากาศ และกำลังพัฒนาขีปนาวุธต่อต้านเรือ Type12 แบบยิงจากหลังรถบรรทุก มีพิสัยโจมตีไกลประมาณ 1,000 กม.

ในบรรดาพันธมิตรของอเมริกา เกาหลีใต้ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาและจัดหาขีปนาวุธแบบใหม่มากที่สุด หลังจากบรรลุความตกลงทวิภาคีกับวอชิงตันเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในการยกเลิกขีดจำกัดสมรรถนะขีปนาวุธ Hyunmoo-4 ของเกาหลีใต้มีพิสัยยิงไกลราว 800 กม. สามารถโจมตีเป้าหมายลึกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ ตามแนวชายฝั่งด้านที่หันมาหาเกาหลีใต้

ส่วนไต้หวัน แม้จะไม่ได้ประกาศโครงการขีปนาวุธโดยเปิดเผย แต่เดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอนุมัติคำร้องขอของรัฐบาลไทเป ซื้อขีปนาวุธพิสัยใกล้หลายสิบลูก นอกจากนั้น มีข่าวไต้หวันกำลังพัฒนา และผลิตขีปนาวุธของตนเองขนานใหญ่ รวมถึงขีปนาวุธนำวิถี  Yun Feng ที่ยิงโจมตีได้ไกลถึงกรุงปักกิ่ง.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS