นับเป็นอีกหนึ่งเวทีระดับโลกที่เหล่าคนบันเทิงต่างเฝ้ารอคอย สำหรับการประกาศผลรางวัลอคาเดมี่ อวอร์ด หรือ ออสการ์ ครั้งที่ 94 ที่ผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้ว บอกเลยว่าปีนี้มีเซอร์ไพร้ส์มากมายหลากหลายโมเมนต์ ทำเอาเหล่าดังที่นั่งอยู่ในงาน และเหล่าชาวเน็ตที่รับชมการถ่ายทอดสดถึงกับช็อกซีนีม่า และพากันวิพากษ์จารณ์กันอย่างร้อนแรงข้ามไทม์โซนเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นวันนี้เดี๊ยน “มาดามเมี้ยนฤดี” จึงขอสรุปรวบเหตุการณ์ประวัติศาตร์สำคัญที่เป็นเรื่องเด่นในปีนี้ ดังนี้ค่ะ

@ เริ่มจากเรื่องแรก สำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นบนเวที เมื่อ Will Smith (วิลล์ สมิธ) นักแสดงชาวอเมริกัน เดินขึ้นเวทีไปตบหน้า Chris Rock (คริส ร็อก) นักแสดงตลก-โปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน เนื่องจากเขาเล่นมุกตลกเกี่ยวกับทรงผมของ Jada Smith (เจดา สมิธ) ภรรยาของวิลล์ สมิธ โดยล้อว่าเธอควรได้แสดงหนังเรื่อง G.I. Jane (ตัวละครนำที่ไว้ผมสั้นทรงสกินเฮด) ซึ่งในระหว่างที่ร็อกพูดล้อเธอนั้น เจดาซึ่งนั่งอยู่ข้าง ๆ สามี ก็มีท่าทีไม่สบอารมณ์นัก หลังจากเหตุการณ์นั้น สมิธก็เดินกลับไปนั่งและตะโกนขึ้นมาว่า “หยุดพูดชื่อภรรยาของฉันออกมาจากปากของนาย” (Keep my wife’s name out of your f**king mouth!) อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เจดาเคยเปิดเผยถึงอาการป่วยผมร่วงจนหมดศีรษะ (Alopecia) และนั่นก็เป็นเหตุผลว่า ทำไมต้องตัดผมสันจนติดหนังศีรษะนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ทั้งนี้ ขณะ วิลล์ สมิธ ขึ้นรับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ในช่วงหนึ่งของการกล่าวสุนทรพจน์ เขากล่าวขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “คุณอาจจะต้องโดนทำร้าย โดนคนพูดจาไม่ดีใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมนี้ บางคนอาจไม่ให้ความเคารพคุณเลย แต่คุณก็ต้องฝืนยิ้มและทำเหมือนว่ามันไม่เป็นอะไร” ก่อนที่สุดท้าย ทางฝั่งออสการ์เองก็ออกแถลงถึงเหตุการณ์นี้ว่า “ทางสถาบันไม่ยอมรับความรุนแรงในทุกรูปแบบ คืนนี้เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเฉลิมฉลองกับผู้ชนะรางวัลในการประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 94 นี้ของเรา ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นสมควรได้รับการยกย่องจากคนรอบข้าง และผู้รักในภาพยนตร์ทั่วทุกมุมโลก”

@ มาต่อกันที่อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญ สำหรับภาพยนตร์ “CODA” (โคด้า หัวใจไม่ไร้เสียง) ที่กลายเป็นม้ามืด มาซิวรางวัลใหญ่ที่สุดของงานอย่างรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนี้ไปครอง และกลายเป็นภาพยนตร์จากสตรีมมิ่งเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลนี้ ขณะที่ Troy Kotsur (ทรอย คอตเชอร์) นักแสดงและผู้กำกับผู้พิการทางการได้ยินชาวอเมริกัน วัย 53 ปี เป็นผู้พิการทางการได้ยินชายคนแรกที่ได้รับรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งรางวัลประวัติศาสตร์ของออสการ์ นอกจากนี้ โคด้ายังได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมอีกด้วย

ขณะ ทรอย คอตเซอร์ ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์นั้น ได้มี Youn Yuh-Jung (ยุน ยอ จอง) พิธีกรประกาศมอบรางวัลถือรางวัลให้ เพื่อให้ทรอยได้ใช้ภาษามือในการกล่าวสุนทรพจน์ ซึ่งมีใจความบางส่วนว่า “ผมขอขอบคุณโรงละครทั้งหลายที่แสดงละครสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน และทำให้ผมได้รับโอกาสในการพัฒนาความสามารถในฐานะนักแสดง ผมขออุทิศรางวัลนี้ให้กับผู้พิการทางการได้ยิน คนดูแลผู้พิการ และผู้พิการทุกคน นี่คือช่วงเวลาของพวกเรา”

@ และหนึ่งเหตุการณ์สำคัญสุดท้าย คือ Jane Campion (เจน แคมเปียน) ผู้กำกับหญิงชาวนิวซีแลนด์ อายุ 67 ปี จากภาพยนตร์เรื่อง The Power of the Dog กลายเป็นผู้กำกับหญิงคนที่สาม ในประวัติศาสตร์ออสการ์ที่คว้ารางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครอง โดยกว่า 40 ปีในวงการภาพยนตร์ เธอได้รับรางวัลออสการ์เป็นตัวที่สองแล้ว โดยครั้งแรกเธอได้รางวัลในฐานะคนเขียนบทภาพยนตร์ในรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปี 1993 จากเรื่อง The Piano แต่สิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์สำหรับเธอนั้น เธอคือผู้กำกับผู้หญิงคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อชิงผู้กำกับยอดเยี่ยมในปี 1993 จากภาพยนตร์ The Piano โดยในปีนั้น เธอแพ้ให้กับ Steven Spielberg (สตีเฟ่น สปีลเบิร์ก) จากภาพยนตร์ Schindler’s List

สำหรับรายชื่อบุคคลและภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์ประจำปี 2022 ทั้งหมด มีดังต่อไปนี้

ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ CODA

ผู้กำกับยอดเยี่ยม ได้แก่ Jane Campion จากเรื่อง The Power of the Dog

นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ได้แก่ Will Smith จากเรื่อง King Richard

นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ได้แก่ Jessica Chastain จากเรื่อง The Eyes of Tammy Faye

นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ได้แก่ Ariana DeBose จากเรื่อง West Side Story

นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ได้แก่ Troy Kotsur จาก CODA

บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ได้แก่ Belfast โดย Kenneth Branagh

บทดัดแปลงยอดเยี่ยม ได้แก่ CODA โดย Siân Heder

ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ได้แก่ Drive My Car โดยผู้กำกับชาวญี่ปุ่น Ryusuke Hamaguchi

ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ Hans Zimmer จากเรื่อง Dune

เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ No Time to Die ของ Billie Eilish จากเรื่อง No Time to Die

ออกแบบเสียงยอดเยี่ยม ได้แก่ Dune

กำกับภาพยอดเยี่ยม ได้แก่ Dune

ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม ได้แก่ Summer of Soul

ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม ได้แก่ Cruella

ภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยม ได้แก่ Encanto

ออกแบบเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม ได้แก่ Dune

ออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม ได้แก่ Dune

ตัดต่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่ Dune

แต่งหน้าทำผมยอดเยี่ยม ได้แก่ The Eyes of Tammy Faye

ภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม ได้แก่ The Long Goodbye

ภาพยนตร์แอนิเมชั่นสั้นยอดเยี่ยม ได้แก่ The Windshield Wiper

ภาพยนตร์สารคดีสั้นยอดเยี่ยม ได้แก่ The Queen of Basketball

———————————————
คอลัมน์ “บันเทิงรอบโลก”
โดย “มาดามเมี้ยนฤดี”