ประเทศไทยขึ้นชื่อลือชามานานแล้วในด้าน ความไม่ปลอดภัยจากการขับขี่ยวดยานพาหนะบนท้องถนน เป็นประเทศหัวแถวที่ติดอันดับโลก ทวีปเอเชียและอาเซียน​ เมื่อปี 2561 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization​ – WHO)​ ได้เปิดเผยถึงการจัดอันดับของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีความไม่ปลอดภัยจากการขับขี่บนท้องถนน โดยประเทศไทย มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงติดอันดับ 9 ของโลก ติดอันดับ 1 ของทวีปเอเชีย​และอาเซียน มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 22,491 ราย คิดเป็น 32.7 คนต่อประชากร 1 แสนคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยอัตราการเสียชีวิตของโลกมากถึง 2 เท่า แม้ว่าในปี 2563 อัตราการเสียชีวิตลดลงจากเดิมแต่ก็เป็นเพราะสถานการณ์ การแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในทั่วโลกและในประเทศไทย ซึ่งมีการใช้รถใช้ถนนลดน้อยลง แต่ตัวเลขของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนยังสูงเป็นอันดับ 1​ ของทวีปเอเชียและอาเซียน 

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

สำหรับอัตราการเสียชีวิตในเทศกาลสงกรานต์ 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 10-16 เมษายน 2564​ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ รายงานว่า เกิดอุบัติเหตุ รวม 2,365 ครั้ง ผู้เสียชีวิต รวม 277 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 2,357 รายสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด เกิดจาก ขับรถเร็ว ร้อยละ 35.18 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 22.13 ฯลฯ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.27 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 58.10 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 39.13 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.15 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด​ ​อยู่ระหว่างเวลา 16.01-20.00 น. 

ปัญหาการใช้รถใช้ถนนของผู้คนทั่วไปในสังคมเป็นไปในสภาพ​ “จราจร​ จราจล” มีความวุ่นวายและสับสนอลหม่านเป็นที่สุด​ เนื่องจากไม่มีการเคารพกฎหมาย​ ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพยสินแก่ตนเองและผู้อื่น​ ไม่มีวินัย​ในการขับขี่ ฝ่าฝืนระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ​ตามแต่ความพอใจของแต่ละคน กอปรกับ ราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐขาดจิตสำนึก การปฏิบัติงานอย่างตรงไปตรงมาด้วยความเข้มแข็ง ไม่เป็นไปตามหน้าที่และอำนาจที่มีอยู่​ ทั้ง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และปล่อยปละละเลยด้วยความไม่รับผิดชอบ ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งสองประการนี้เป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติที่ทุกภาค​ส่วน​ของสังคม​ควรตระหนักถึงปัญหาอันร้ายแรงและร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

เคยมีการรณรงค์การขับขี่ให้ปลอดภัยโดยใช้ถ้อยคำว่า “ตั้งสติก่อนสตาร์ต” ไม่ทราบว่าจะเอาสติที่ไหนมาตั้ง แล้วจะตั้งสติกันอย่างไร โดยข้อเท็จจริงแล้ว ผู้คนทั่วไปในสังคมต่างล้วนดำเนินชีวิตด้วยความหลงลืมสติไปกับไฟกิเลสทั้งสิ้น​ อยากได้ใคร่มีในทุกสิ่งอย่าง​ แม้ว่าจะทำผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรม​ ​กระเจิดกระเจิงและฟุ้งซ่านไปกับอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

การแก้ปัญหาในทางโลกจะต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ​ ระบบการศึกษาจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นผู้มี “หลักคิดที่ถูกต้องและไม่บกพร่องในจิตสำนึก” เมื่อเติบใหญ่แล้วจะได้เป็นพลเมืองดีของสังคมและประเทศชาติ

สภาพปัญหาของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ถ้าไม่แก้ไขปัญหาทางด้านจิตใจของคนในชาติให้มีหลักคิดที่ถูกต้องในการเคารพกฎจราจร  และมีจิตสำนึกความปลอดภัยในการขับขี่ สถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทยก็จะหวนคืนกลับมาเป็นอันดับ 1 ของโลกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นสถิติที่น่าอัปยศ​ สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประเทศชาติที่ไม่อาจประเมินค่าได้

ชาวพุทธพึงทราบว่า สติ ในทางพระพุทธศาสนา​ หมายถึง​ สภาพธรรมฝ่ายดีซึ่งเป็นคุณธรรม​ ทำกิจระลึกในการให้ (ทาน)​ ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลสอย่างหยาบ​ การเว้นทุจริตทางกาย​ วาจา​ (ศีล)​ ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลสอย่างหยาบ การอบรมจิตให้ปราศจากอกุศล​ หรือการอบรมเจริญปัญญาให้มีขึ้น​เพิ่มขึ้น (ภาวนา)​ เป็นการขัดเกลากิเลสอย่างกลางและกิเลสอย่างละเอียด

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวในโลกที่พระบรมศาสดา​ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้ว่า​ ไม่มีตัวตน​ (อนัตตา)​ ไม่ใช่สัตว์​ ไม่ใช่บุคคล​ ไม่ใช่เรา​ ไม่ใช่ของเรา มีแต่ สภาพธรรมที่เป็นกุศล​ (กุศลาธรรมา)​ สภาพธรรมที่เป็นอกุศล​ (อกุศลาธรรมา)​ สภาพธรรมที่ไม่เป็นกุศลและสภาพ​ธรรมที่ไม่เป็นอกุศล​ (อพยากตาธรรมา)​

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”

อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม