กลายเป็นประเด็นให้พูดถึงในสังคมขึ้นมาไม่น้อย หลังจากทางผู้จัดศึกแดงเดือดในประเทศไทย “เดอะ แมตช์ แบงค็อก เซ็นจูรี คัพ 2022″ ออกประกาศกฎเหล็ก 10 ข้อ ที่แฟนบอลจะต้องปฏิบัติในการเข้าชมเกมระหว่าง ลิเวอร์พูล กับ แมนฯ ยูไนเต็ด ที่ราชมังคลากีฬาสถาน ในวันที่ 12 ก.ค. 65 ที่จะถึงนี้

เนื่องจากมีข้อหนึ่ง นั่นคือข้อที่ 9 ระบุเอาไว้ว่า “ขอสงวนสิทธิ์ในการเข้าชมการแข่งขัน สำหรับผู้สวมเสื้อลิขสิทธิ์แท้จากสโมสรเท่านั้น”

ข้อสงสัยเกี่ยวกับกฎข้อนี้มีหลายประเด็น โดยเฉพาะการที่มีแฟนบอลเข้ามาชมเกือบ 60,000 คน เจ้าหน้าที่จะมีวิธีการตรวจสอบอย่างไรให้ทั่วถึง และจะมีหลักเกณฑ์ใดในการตรวจสอบว่า “เสื้อจริงหรือเสื้อปลอม” ?

ทำให้เสียงสะท้อนจากแฟนบอลแตกออกเป็นหลายด้าน ทั้งเห็นด้วย บอกว่าควรจะทำอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องถูกต้อง เสื้อปลอมคือการละเมิดลิขสิทธิ์ชัดเจน ถ้าใส่ของปลอมเข้ามาชมกันเยอะๆ อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ

และฝั่งไม่เห็นด้วย ที่บอกว่าแฟนบอลควรมีสิทธิที่จะใส่อะไรก็ได้เข้าชมเกม ไม่ควรจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคล ถึงขั้นเปลี่ยนใจ จะไม่ไปดูเกมกันเลยทีเดียว

บางเสียงสะท้อน วิเคราะห์ว่า อาจเป็นเพียงแผนโปรโมท ที่ปล่อยออกมาเพื่อเรียกเรตติ้ง และทำให้เกมนี้ น่าสนใจในวงกว้าง มีเรื่องให้พูดถึงกันทั่วไป เท่านั้น สุดท้ายก็อาจจะทำไม่ได้จริง

ใครจะคิด จะวิเคราะห์อย่างไรก็ทำได้ทั้งสิ้น แต่จากเรื่องนี้ มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เสื้อตัวนี้ของจริงหรือของปลอม ?

ถ้าไม่ได้ซื้อเองกับมือหรือคนวงในที่คลุกคลีกับวงการเสื้อบอลจริงๆ สมัยนี้ ต้องยอมรับเลยว่าดูกันยากจริงๆ ยิ่งถ้าหากของก็อปแบบเกรด AAA มีราคาหน่อย มองด้วยตาเปล่าแบบผิวเผิน แทบจะแยกกันไม่ออกเลย ต้องใช้ผู้ที่เชี่ยวชาญพอสมควรเท่านั้นมาตรวจสอบถึงจะรู้

อย่างไรก็ตาม ยังไงเสีย “ของจริง” กับ “ของปลอม” ก็ต้องแตกต่างกันอยู่วันยังค่ำ และมีจุดที่ทำให้เราสังเกตได้อยู่ดี วันนี้ เราจึงจะพาคุณไปดูกันแบบคร่าวๆว่า

6 วิธีง่ายๆของการดูเสื้อบอลแท้หรือปลอมนั้น มีอะไรบ้าง ?

ข้อที่ 1. ราคา

ถ้าหากของปลอม ราคาย่อมจะถูกกว่าของจริงแบบเทียบกันไม่ได้ แม้ว่าเดี๋ยวนี้ของปลอมเกรดดีที่มีสัญลักษณ์ทั้งหลายติดครบก็แพงเอาเรื่องก็ตาม

ข้อนี้ หลายท่านบอกว่า จะบอกทำไม เพราะคนซื้อก็ต้องรู้อยู่แล้วว่าซื้อของแท้หรือของเทียม แต่อย่าลืมว่า ขณะเดียวกัน มันก็อาจหมายความได้ด้วยว่า ของแท้ราคาถูกนั้นไม่มี ถ้าหากคนขายบอกว่าของแท้ แต่ราคาถูกเหลือเชื่อ ก็ให้คิดไว้ก่อนเลยว่าของปลอม และอย่าซื้อ

ข้อ 2. ป้ายที่ติดมากับเสื้อ

ให้สังเกตที่รหัสสินค้าแต่ละตัว ถ้าหากมีเวลาหน่อยก็อาจเข้า google พิมพ์รหัสเสื้อตัวนั้นลงไปเลย ก็พอจะรู้แล้วว่าใช่สินค้าถูกลิขสิทธิ์จากสโมสรหรือไม่

แต่ถ้าหากไม่มีเวลาขนาดนั้น ก็อาจสังเกตง่ายๆตรงป้าย ที่ของปลอมไม่ค่อยจะระบุว่านี่คือเสื้อของสโมสรนั้นๆ จะบอกแค่ชื่อยี่ห้ออย่างเดียว ไม่มีรายละเอียดของเสื้อเหมือนของจริง

แต่ข้อนี้ คนซื้ออาจต้องทราบเกี่ยวกับเสื้อที่จะซื้อพอสมควรว่าเสื้อของทีมนั้นๆจะติดอะไรบ้างตรงป้ายเสื้อ

ข้อ 3. โลโก้บนเสื้อ

ของปลอม พวกโลโก้ทั้งหลายมักไม่ได้คุณภาพ เป็นงานหยาบๆ ลวกๆ อาจจะเห็นชัดเจน แต่รายละเอียดจะไม่ชัด ไม่คม สกรีนบาง สีของผ้าลอดผ่านรอยสกรีนได้

ถ้าหากเป็นของจริง แม้ปัจจุบันหลายสโมสรใช้วิธีรีดโลโก้แปะด้วยความร้อน ทำให้ปลอมได้ง่ายขึ้น แต่ตัวโลโก้ทุกอย่างบนเสื้อหรือเบอร์ก็จะยังเรียบเนียบ รายละเอียดครบ มองผ่านไม่เห็นเนื้อผ้า

ข้อ 4. เนื้อผ้า

ถ้าหากเป็นคนที่ชอบเสื้อบอลหน่อย ลองจับๆลูบๆคลำๆเนื้อผ้าของเสื้อดูก็น่าจะพอรู้แล้วว่าของจริงกับปลอมต่างกันยังไง แม้ว่าปัจจุบันของปลอมเกรด A จะใช้ผ้าคุณภาพดีขึ้นมากก็ตาม

แต่ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง ให้จำไว้ว่าเสื้อกีฬานั้นจะต้องยืดหยุ่น ระบายอากาศได้ดี เนื้อผ้านิ่ม ไม่คัน ให้ลองดึงๆเสื้อดูว่ายืดหยุ่นแค่ไหน คนทั่วไปก็น่าจะพอรู้ได้

ข้อ 5. แฮชแท็กของเสื้อ

คือส่วนป้ายเล็กๆที่บอกว่าเสื้อตัวนี้ควรได้รับการดูแลรักษายังไง ซักด้วยน้ำอุ่นน้ำร้อน รีดด้วยอุณหภูมิเท่าไหร่ และเป็นผ้าอะไร หรือที่เรียกกันว่า “ลาเบลติดชายเสื้อ” นั่นเอง

จุดนี้ ถ้าหากเป็นของแท้ ยี่ห้อหลักๆจะมีติดอยู่ 3 แผ่นต่อ 1 ตัว ตัวอักษรอาจจะเล็ก แต่จะชัดเจน อ่านง่าย ผ้าที่ใช้ก็จะเป็นผ้าคุณภาพดี บางตัวดีกว่าผ้าที่ใช้ตัดเสื้อด้วยซ้ำ ดังนั้น ซักกี่ครั้ง ตัวอักษรก็จะยังไม่ลบเลือน

ข้อ 6. รายละเอียด และการเก็บงาน

ของแม้จะให้ความสำคัญมาก และใช้วัสดุที่โดนผิวหนังแล้วไม่คันหรือระคาย พวกตัวอักษรที่พิมพ์บนเสื้อก็มีความปราณีต ไม่ทำแบบลวกๆ

ของปลอม ตรงโลโก้สโมสร ถ้าเอามือลูบๆดูจะรู้สึกว่าไม่ละเอียด เรียบเนียนนัก ถ้าดูด้านหน้าไม่รู้ ให้พลิกดูหลังเสื้อว่าเก็บงานเรียบร้อยแค่ไหน ถ้าหากเป็นของแท้จะเนี้ยบ ของปลอมอาจเก็บรายละเอียดไม่ดี

หรืออย่างรอยเย็บตรงส่วนต่างๆของเสื้อ ก็จะต้องเรียบร้อย ด้ายไม่หลุดลุ่ย เก็บงานดีทุกในส่วนประกอบของเสื้อ ไม่มีจุดไหนมีตำหนิเลย

เหล่านี้คือข้อสังเกตเล็กๆน้อยๆ ที่เราอาจจะพอดูได้ว่าตัวไหนของแท้หรือของปลอม และอาจต้องทำการบ้าน และเชี่ยวชาญพอสมควรถึงจะบอกได้

ดังนั้นทางที่ดีที่สุด จึงควรซื้อจากร้านใหญ่ๆที่ไว้ใจได้หรือช็อปของสโมสรเองที่นำเข้ามาขาย ที่แม้ราคาอาจจสูงสักหน่อย แต่เก็บไว้ใส่ได้นาน และมีคุณค่าทางจิตใจ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนสโมสรที่คุณเชียร์โดยตรง

แต่สำหรับ “เดอะ แมตช์ แบงค็อก เซ็นจูรี คัพ 2022” จะตรวจสอบได้มากน้อยแค่ไหน จะตรวจสอบกันจริงจังแค่ไหน หรือจะทำได้จริงหรือไม่ ถือว่าน่าสนใจ และน่าติดตามไม่น้อยกว่าเกมในสนามเลยเหมือนกัน.